หน้าแรก Voice TV ปรากฏการณ์ ‘ชัชชาติ’ จุดไฟฝันท้องถิ่น ขอแก้ด่วนระเบียบล้าหลังให้ทันโลก พร้อมเป็นพระเอกกู้เศรษฐกิจ-จาก Voice TV

ปรากฏการณ์ ‘ชัชชาติ’ จุดไฟฝันท้องถิ่น ขอแก้ด่วนระเบียบล้าหลังให้ทันโลก พร้อมเป็นพระเอกกู้เศรษฐกิจ-จาก Voice TV

79
0
ปรากฏการณ์-‘ชัชชาติ’-จุดไฟฝันท้องถิ่น-ขอแก้ด่วนระเบียบล้าหลังให้ทันโลก-พร้อมเป็นพระเอกกู้เศรษฐกิจ-จาก-voice-tv

สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(มช.) จัดงานเสวนาวิชาการ “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ : กทม.การเมืองระดับชาติ และการปกครองท้องถิ่น”  (26 ก.ค.2565) โดยมีธเนศ เจริญเมือง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสน์ศาสตร์ มช. ดำเนินรายการ โดยมีผู้เข้าร่วมหลากหลายไม่ว่า อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ อย่างวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล, นักวิชาการทีเชี่ยวชาญเรื่องเมืองอย่าง พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่ว่าระดับเทศบาลอย่าง พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลาและนายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย,  ระดับจังหวัดอย่าง ชูพงศ์ คำจวง นายก อบจ.สกลนคร

ไม่ใช่แค่ ‘เลือกตั้งผู้ว่าทั่วประเทศ’ แต่ต้องคิดมากกว่านั้น

สำหรับประเด็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ วิทยากรทุกคนเห็นตรงกันว่า เป็นเรื่องที่ดีและเป็นผลสะเทือนโดยตรงจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.- ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ได้คะแนนท่วมท้นและทำงานโดนอกโดนใจ แต่พิชญ์ได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่า การรณรงค์เรื่องเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ควรต้องมีคำขยายที่ทำให้เห็นเป้าหมายด้วยว่า เป็นกระจายอำนาจแบบที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

“ถ้าเรามีความชัดเจนกับการกระจายอำนาจแล้วมีการขยายความอีก 3-4 คำมันจะทำให้การรณรงค์เรื่องการกระจายอำนาจมีความคืบหน้า พูดง่ายๆ ว่าเราไม่ได้ต้องการเพียง election อย่างเดียว เราต้องการ accountability หรือความรับผิดของผู้บริหารด้วยในเวลาเดียวกัน” พิชญ์กล่าว

นอกจากนี้พิชญ์ยังชวนคิดด้วยว่า การออกแบบและเตรียมความพร้อมแต่ละพื้นที่ก็เป็นประเด็นต้องพิจารณา ในต่างจังหวัดโครงสร้างแบบพัทยาก็น่าสนใจ ดังนั้น เราควรเน้นถึงการกระจายอำนาจก่อน และให้ ‘การเลือกตั้งผู้ว่าฯ’ เป็นหนึ่งในการกระจายอำนาจ ไม่ใช่จุดสูงสุดของการกระจายอำนาจ

“ในบางพื้นที่ leadership (ความเป็นผู้นำ) อาจไม่ได้อยู่ที่ผู้ว่าฯ เท่านั้น ในต่างจังหวัดอาจต้องถามใหม่ว่า เมืองต่างๆ ที่โดดเด่นในจังหวัดจะพาจังหวัดไปที่ไหนได้บ้าง โดยเฉพาะในเศรษฐกิจโลกสมัยใหม่ เราอาจต้องโฟกัสที่ leadership ที่หลากหลาย ไม่ใช่ตั้งโจทย์ที่ตำแหน่งผู้ว่าฯ เท่านั้น” พิชญ์กล่าว

วิโรจน์ เสริมว่า คะแนนเสียงอย่างมหาศาลของ ชัชชาติ เป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในจังหวัดต่างๆ มากขึ้น  และการทำงานของเขายังคงมีอิทธิพลจนถึงปัจจุบัน โดยสามารถถอดจุดเด่นได้ 4 ประการคือ

1 .รับฟังเสียงของประชาชนในการผลิตนโยบายและปรับปรุงระบบราชการให้กระตือรือร้นมากขึ้น

2 . การวางงบประมาณ ซึ่งสภากทม.ก็กำลังดำเนินงานอยู่

3 . งานจัดเก็บรายได้ เข้มงวดในการจัดเก็บรายได้กับผู้เสียภาษี

4 . การจัดการกับกลุ่มนายทุน ผู้รับเหมาก่อสร้าง ให้มีความโปร่งใสในการทำงาน

“การเลือกตั้งผู้ว่าฯ มีความสำคัญมาก เพราะระบบการแต่งตั้งที่เป็นอยู่นี้ คนที่จะเป็นผู้ว่าฯ ยังไม่รู้เลยว่าจะไปดำรงตำแหน่งที่ไหน ไม่รู้จักพื้นที่ ไม่ได้เรียนรู้ปัญหาเพื่อเตรียมนโยบายสำหรับพื้นที่นั้น นอกจากนี้คนเป็นผู้ว่าฯ ยังไม่รู้ว่าจะอยู่นานแค่ไหน จะไปไหนต่อ” วิโรจน์กล่าว

ไม่ต้องกลัว ‘กระจายอำนาจ’ ประชาชนรักบ้านตัวเอง

พงษ์ศักดิ์ นายกเทศมนตรีนครยะลา กล่าวว่า ผู้ว่า กทม.ในอดีตอาจไม่ได้แสดงบทบาทความเป็น อปท.แท้จริง ภาพจำที่ผ่านมาเหมือน กทม.ถูกกลืนไปกับส่วนกลางทั้งหมด ทุกอย่างไปจบที่รัฐบาลกลาง ภาพที่ชัชชาติทำจึงดูแปลกใหม่สำหรับคน กทม. ประชาชนในต่างจังหวัดจะคุ้นเคยมากกว่า เพราะ อปท.ทำอยู่แล้ว 

ข้อเด่นของชัชชาติคือเขาศึกษาเรื่องท้องถิ่นมาอย่างดี และพูดได้ตรงประเด็นถึงหน้าที่ กทม. 3 อย่างคือ 1.หน้าที่แก้ปัญหาต่างๆ ในท้องถิ่นโดยทั่วไป 2.เพิ่มประสิทธิภาพของเมือง ทำให้เมืองมีสมรรถนะของการแข่งขันเพิ่มขึ้นในทุกด้าน  3. ให้เมืองเป็นที่ดูดซับแรงงาน เป็นพื้นที่สร้างโอกาส

“กรณีอาจารย์ชัชชาติทำให้คนเริ่มสนใจเรื่องเมืองต่อการพัฒนาประเทศ และสนใจปัญหาที่ติดขัดอยู่ หลายเรื่องท้องถิ่นต่างๆพยายามส่งเสียงมาตลอด แต่เสียงอาจไม่ดังพอ เช่น ภาษีทีดินและสิ่งก่อสร้าง การบริหารบุคคลที่แทบทำอะไรเองไม่ได้ พอผู้ว่ากทม.เริ่มพูดถึงปัญหา ปัญหาทั้งระบบก็ถูกอภิปรายมากขึ้น”

อย่างไรก็ดี พงษ์ศักดิ์ย้ำว่า ผู้มีอำนาจไม่มีความจำเป็นต้องกลัวการกระจายอำนาจว่าจะเกิดคอร์รัปชัน เพราะชาวบ้านเขารู้จักพื้นที่ของตนเองดีและพร้อมจะตรวจสอบ

“สังเกตได้จากทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง นายกเทศมนตรีจะสอบตกสัก 70% อบต.ก็เช่นกันราว 70% แต่ อบจ.น้อยกว่า ดังนั้น เราจะเห็นว่า หน่วยงานที่อยู่ใกล้ประชาชนที่สุด หากผลงานไม่ดีพอ ประชาชนก็พร้อมจะเปลี่ยน” พงษ์ศักดิ์กล่าว  

ตัวเลขชี้ส่วนกลาง-ภูมิภาค โกงมากกว่าท้องถิ่น

นายกเทศมนตรียะลายังทำลาย ‘มายาคติ’ ว่าด้วยการเมืองท้องถิ่นเต็มไปด้วยการคอร์รัปชันด้วยการหยิบยกตัวเลขจริงจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในปีงบประมาณ 2564 ซึ่งชี้ชัดว่าท้องถิ่นใสสะอาดกว่าส่วนกลางเยอะ

ข้อมูลความเสียหายที่ประเมินมูลค่าได้ จากการตรวจสอบของ สตง. ปีงบประมาณ 2564 รวม 4,224.90 ล้านบาท แบ่งเป็น

  • ความเสียหายที่เกิดจากราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ 3,510.82 ล้านบาท คิดเป็น 83.1% จากการตรวจสอบทั้งสิ้น 1,962 หน่วยรับตรวจ
  • ความเสียหายที่เกิดจาก อปท. ความเสียหาย 715.08 ล้านบาท คิดเป็น 16.9 % จากการตรวจสอบทั้งสิ้น 7,886 หน่วยรับตรวจ
  • การแสดงความคิดเห็นต่อรายงานการเงินอย่างไม่มีเงื่อนไข ของ สตง. พบว่า หน่วยราชการส่วนกลางและภูมิภาคสอบผ่าน 58.5% อทป.สอบผ่าน 92% 
 
ปัญหาเร่งด่วนที่สุด กฎระเบียบล้าหลังฉุดรั้งการพัฒนา

ชูพงศ์ นายก อบจ.สกลนคร กล่าวว่า เห็นด้วยเรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ เพราะเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชน แต่คิดว่าไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยง่าย ปัญหาเฉพาะหน้าขณะนี้ที่เร่งด่วนอย่างยิ่งคือ กฎระเบียบราชการต่างๆ ที่ไม่เอื้อต่อการทำงานของ อปท.ให้แก้ไขปัญหาในพื้นที่ ทั้งที่บริบทความต้องการแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน  

“ผมลงพื้นที่สิบกว่าปี กว่าจะได้เป็นนายก อบจ. แต่พอเป็นแล้วก็ยังมีหลายอย่างที่ไม่สามารถทำไว้อย่างที่หาเสียงได้ มหาดไทยอาจทดลองนำร่องในอบจ.ใหญ่ก่อนก็ได้ในเรื่องการบริหารที่ยืดหยุ่นขึ้น เอาแค่ว่าเรื่องการอบรม กฎหมายเขียนว่า ห้ามจำหน่ายจ่ายแจกของให้ชาวบ้าน จะมอบพันธุ์กล้าไม้ให้ชาวบ้านก็ทำไม่ได้ ทำให้ได้แค่ฝึกอบรม คนละ 3 ต้น มันก็ไม่พอจะประกอบอาชีพ” ชูพงศ์ยกตัวอย่าง

ด้านพงศ์ศักดิ์ขยายความเรื่องอุปสรรคก้อนใหญ่ของกฎระเบียบล้าหลังจำนวนมากว่า หากไปดูแล้วกฎหมายบางตัวมีอายุมากกว่าตนเองเสียอีก ทำให้ข้าราชการไม่กล้าทำอะไรมาก นายกเทศมนตรีหากไม่เข้มแข็งจริงก็ไม่อยากประทะกับหน่วยงานตรวจสอบ

เทศบาลทำตลาดดิจิตัลไม่ได้ ต้องทำตลาดธรรมดา

“กรณีเทศบาลยะลา มีการทำ marke place ให้ประชาชนลงทะเบียนซื้อขายออนไลน์ได้ พอคุยกับกรมส่งเสริมฯ กรมบอกว่า ตัวนี้เป็นตลาดดิจิตัล พ.ร.บ.เทศาบาลไม่ได้พูดเรือ่งตลาดดิจิตัล แค่บอกให้เทศบาลส่งเสริมการทำตลาดต่างๆ เกิดการถกเถียงว่าใช่หน้าที่เทศบาลไหม เป็นการแข่งกับเอกชนไหม ผมก็ต้องยืนยันว่า เดี๋ยวนี้คำว่า ‘ตลาด’ มันหมายถึงตลาดดิจิตัลด้วย ส่วนการไม่แข่งกับเอกชน ผมคิดว่าถ้ามันแข่งกันโดยสมบูรณ์ ท้องถิ่นก็ไม่ควรยุ่ง แต่ถ้ามีการผูกขาดหรือแข่งขันกันน้อยราย ท้องถิ่นควรเข้าไปแทรกแซงบ้าง เพื่อไม่ให้เอาเปรียบประชาชนมากเกินไป นี่คือข้อจำกัดเบื้องต้น”  

“ภายใต้การกำกับแบบนี้ พอเราทำอะไร บางเรื่องที่่คลุมเครือก็ต้องส่งกรม และบางครั้งกรมก็ตั้งตนวินิจฉัยเอง แทนที่จะมีคณะกรรมการกลางที่มีความหลากหลาย มีความเข้าใจในโลกยุคใหม่มาช่วยกันดู ถ้าผู้ว่าฯ เป็นคนไม่เปิดกว้าง ท้องถิ่นก็ยิ่งจะเดินไม่ได้เลย” พงษ์ศักดิ์กล่าว  

พิญช์ กล่าวสรุปว่า ถ้าจะแก้ไขระเบียบกฎหมายการบริหารการปกครองท้องถิ่น คงต้องเริ่มที่การแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจใหม่ – ปฏิรูปกระทรวงมหาดไทยพร้อมกับการกระจายอำนาจ และเสริมกระทรวงที่ต้องมีในอนาคต คือ กระทรวงพัฒนาเมือง ไม่ใช่กระทรวงโยธาการและผังเมือง ทั้งนี้ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ เป็นหนึ่งในกระบวนการกระจายอำนาจ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การพัฒนาให้เมืองเป็นเมือที่เข้มแข็ง ยกระดับชนบทให้ดีขึ้น และการทำให้ประชาชนกลายเป็นพลเมือง มีความกระตือรือร้นในการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่