‘บิ๊กป้อม’กับอำนาจเต็มมือ ‘ยุบสภา-ปรับ ครม.’
หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการ กรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจเทียบเท่านายกฯ เป็นไปตาม พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 41 และคำสั่งนายกฯ เรื่องการมอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกฯ ปฏิบัติราชการแทนนายกฯ ปี 2563 ขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองในเวลานี้ มีการกล่าวถึง พล.อ.ประวิตร สามารถใช้อำนาจเต็มในการปรับ ครม.และยุบสภาได้
ผศ.ดร.วีระ หวังสัจจะโชค
ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
การรักษาราชการแทนเป็นหลักการที่อยู่ใน พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ปี 2534 คนที่มารักษาการแทนนายกฯ ก็จะเป็นรองนายกฯ ตามการจัดลำดับ ในหมวดเดียวกันนี้ก็ให้อำนาจไว้ว่า คนที่มารักษาราชการแทน มีอำนาจเฉกเช่นเดียวกับคนที่โดนแทน ฉะนั้น อำนาจก็จะลงมาหมด ทั้งในเชิงการตัดสินใจนโยบาย อำนาจการบริหารราชการแผ่นดิน โยกย้ายข้าราชการ ช่วงนี้ก็เป็นฤดูกาลนั้นพอดี รวมทั้งทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน อธิบดีต่างๆ จากตอนแรกถ้ามีโผมาแล้ว ตอนนี้ยังมีความเป็นไปได้ ที่อาจจะมีเสียบชื่อ เปลี่ยนชื่อนิดๆ หน่อยๆ
คือนายกฯรักษาการ มีทั้งอำนาจในการบริหารแผ่นดิน อำนาจในทางนโยบาย ในที่นี้อาจรวมไปถึงอำนาจทางการเมืองด้วย เช่น การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็สามารถทำได้ ไปจนถึงขั้นยุบสภา ก็ยังทำได้ แม้ว่าหลายคนจะบอกว่าอำนาจในการยุบสภา ยังไม่ได้อยู่กับนายกฯรักษาการ ซึ่งความจริงอาจจะไม่ใช่ เพราะนายกฯรักษาการมีอำนาจเท่ากับนายกฯจริงๆ แต่จะติดแค่ในเรื่องความเหมาะสมเท่านั้น
แต่ในการยื่นพระราชกฤษฎีกา ยุบสภานั้น เป็นอำนาจที่ พล.อ.ประวิตร สามารถทำได้ จะมีแค่เรื่องความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม เช่นว่า จะต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องวาระ 8 ปี ก่อนหรือไม่ ให้นายกฯที่มาจากการโหวตของสภา เป็นคนยุบสภาจะเหมาะสมกว่าหรือไม่ แต่ในทางกฎหมายน่าจะทำได้ ในการเสนอพระราชกฤษฎีกา เพราะคือการเสนอกฎหมายจากทาง ครม.เพื่อขอยุบสภา ตรงนี้ก็จะพบว่า รักษาการนายกฯ ไม่ใช่เรื่องใหม่เสียทีเดียว หลายๆ ครั้ง จะเห็น พล.อ.ประวิตร หรือวิษณุ เครืองาม รักษาการแทนบ้างเพียงแต่ช่วงนี้มีประเด็นที่สำคัญในด้านหนึ่งของการบริหารราชการแผ่นดิน คือ การโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการ และกฎหมายการเลือกตั้ง ที่อาจจะต้องจับตามองว่า มีผลได้เสียอะไรหรือไม่
ถามว่า พล.อ.ประวิตรควรจะปรับ ครม.ตอนนี้หรือไม่ ผมว่าในเชิงอำนาจทางกฎหมายสามารถปรับ ครม.ได้ แต่จะติดในเชิงการบริหารราชการแผ่นดินและเรื่องความเหมาะสม หากปรับ ครม.ตอนนี้ แล้วมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมา พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่มีปัญหาอะไร ถ้าได้อยู่ต่อ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องกลับมาทำงานกับ ครม.ที่ตัวเองไม่ได้เป็นคนจัด ตรงนี้ผมว่าในฝ่ายการเมืองมีธรรมเนียมปฏิบัติอยู่ในระดับหนึ่งแล้วว่า คงจะไม่ปรับ ครม.ในช่วงที่ตัวเองเป็นนายกฯรักษาการ เว้นแต่เป็นนายกฯรักษาการช่วงยุบสภา ที่จะมีการปรับ ครม.เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลทหาร แต่นานมากแล้ว อย่างไรก็ดี การยุบสภายังเกิดขึ้นได้ เพราะนายกฯ รักษาการ เป็นคนละคนกับนายกฯที่มาจากการโหวตของสภา เป็นคนละกรณีกับที่ว่า ถ้ายุบสภาแล้วจะปรับ ครม.ได้หรือไม่ เพราะนั่นเป็นเรื่องของนายกฯคนเดิม
ฉะนั้น ถ้ามีการเปลี่ยนนายกฯ เป็น พล.อ.ประวิตร ผมคิดว่าธรรมเนียมในทางการเมือง หากรัฐบาลอยากจะทำงานในลักษณะอะลุ่มอล่วยกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ยังจะต้องมีการเจรจาต่อรองอะไรกันอีกเยอะ ถ้าจะปรับ ครม.เขาคงไม่ต้องการบรรยากาศที่แต่ละพรรคมาปล่อยของเพื่อให้ตัวเองได้ตำแหน่ง ฉะนั้นน่าจะยังไม่ปรับ ครม.ตอนนี้
ถ้ามองในภาพใหญ่ เรียกว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย อำนาจยังอยู่ในกลุ่มเดิม แม้ภาพย่อยๆ อาจจะเห็นว่ากลุ่ม พล.อ.ประยุทธ์ กำลังหมดอำนาจ กลุ่ม พล.อ.ประวิตรกำลังขึ้นมามีอำนาจ ที่จะเปิดช่องให้มีการต่อรองกับฝ่ายพรรคเพื่อไทยหรือไม่ ก็จะมีคำถามแบบนี้ แต่ถ้าเรามองในระดับโครงสร้างจริงๆ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจยังไม่เปลี่ยนกลุ่ม 3 ป.และกลุ่มที่ทำรัฐประหารตั้งแต่ปี 2557 ก็ยังดำรงอยู่ในแกนกลางของอำนาจในรัฐบาลชุดนี้
แล้ว พล.อ.ประวิตรควรจะต้องทำอะไรในช่วงที่เป็นนายกฯรักษาการ ที่ต้องจับตาจริงๆ เรื่องกฎหมายในสภา ซึ่ง พ.ร.ป.การเลือกตั้งยังไม่น่าห่วงเท่าไหร่ แต่ส่วนที่น่าจับตามองจริงๆ คือ เรื่องการโยกย้ายตำแหน่งข้าราชการครั้งนี้จะมีผลสำคัญมาก จะกำหนดทิศทางว่าข้าราชการจะต้องทำงานจนถึงปีหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง
แล้วประเทศไทยมีโอกาสที่จะได้นายกฯคนใหม่หรือไม่ สถานการณ์ตอนนี้ยังต้องรอหลังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ หากมีคำวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้ไปต่อจริงๆ ก็ต้องออกจากตำแหน่ง ครม.ก็ต้องปรับทั้งหมด กลับไปให้สภาโหวตเลือกนายกฯใหม่ คราวนี้จะเกิดปัญหา เพราะจะเหลือแคนดิเดตนายกฯในบัญชีไม่กี่คนเท่านั้นที่จะมีโอกาสเป็นนายกรัฐมนตรี หลายคนจับตาไปที่พรรคภูมิใจไทย แต่ยังมีพรรคเพื่อไทยด้วย ฝั่งเพื่อไทยบางคนยังอยู่ในบัญชีรายชื่อ หรือแม้แต่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ก็ยังมีคนไปถาม เพราะเกิดความระแวงขึ้นมาในช่วงที่ พล.อ.ประวิตรอยู่ในตำแหน่ง ว่าจะมีการคุย หรือมีดีลกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่
ส่วนในฝั่งของพรรคภูมิใจไทยประกาศชัดแล้วว่า พร้อมเป็นนายกฯ แต่ก็ไม่ได้ประกาศเป็นจริงเป็นจังขนาดนั้น เอาจริงๆ แล้ว พรรคภูมิใจไทยแทบจะไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ สังเกตจะพบว่า พรรคภูมิใจไทยไปเปิดตัวส.ส.ทั่วประเทศกันแล้ว ภูมิใจไทยเหมือนกับตกปลาในบ่อเพื่อน ส.ส.จากพรรคไหนที่อึดอัดใจ ดูแลไม่ดี ก็จะมาภูมิใจไทยหมด ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งหน้าเราอาจจะได้เห็นพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคขนาดใหญ่แล้วก็ได้
ส่วนการเมืองหลังจากนี้ ผมว่าไม่น่าจะเกิน 1 เดือนในประเด็นนี้ เพราะเป็นปัญหาแค่ข้อกฎหมายมาตราเดียว คือการเลือกนายกฯ ซึ่งคือการตีความตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปัญหาข้อกฎหมายมีไม่มาก จะเป็นปัญหาในการตีความเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมากกว่า ว่าจะให้นับเว้นปีช่วงไหน ซึ่งใช้เวลาไม่นานเพราะเป็นปัญหาทางเทคนิค เป็นปัญหาทางรัฐศาสตร์ ไม่ใช่ปัญหาทางนิติศาสตร์ ฉะนั้น การตีความจริงไม่จำเป็นที่จะต้องเอากฎหมายที่ซับซ้อนอะไรขึ้นมาอธิบาย เพราะความจริงแล้วมีเพียงแค่มาตราเดียว
ต้องมองไปทางการเมืองแล้วว่า จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปต่อหรือไม่ในฝั่งขั้วอำนาจอื่น อำนาจรัฐทั้งหมดที่ไม่ใช่แค่รัฐบาล แต่รวมถึงองคาพยพต่างๆ ในสังคมที่ถือครองอำนาจ รวมไปถึงองค์กรอิสระ ว่าจะเปลี่ยนตัวเลือกหรือไม่
ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ จ.เชียงใหม่
ศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติ 5 ต่อ 4 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ก่อนพิจารณาการครบวาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่ง ถือเป็นการเริ่มต้นการพิจารณาคดีตามที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ส่งเรื่องให้ศาลวินิจฉัยตามคำร้องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพื่อเป็นบรรทัดฐานการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ ส่วนตัวมองว่าเป็นการซื้อเวลา เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา ถือว่าได้สิ้นสุดสภาพการเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว เพราะนับเวลาการดำรงตำแหน่งตั้งแต่เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก และต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีความชัดเจน และเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นที่ต้องวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งดังกล่าวอีก
การลงมติ 5 ต่อ 4 มองว่าศาลอาจให้โอกาส พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง เป็นการทดสอบกระแสสังคม และโยนหินถามทางว่า พล.อ.ประยุทธ์ สมควรได้รับโอกาสดังกล่าวหรือไม่ รวมทั้งเป็นการลดความร้อนแรงกระแสต่อต้านของประชาชนและทุกภาคส่วน เพื่อรอการวินิจฉัยตำแหน่งดังกล่าวอีก 1 เดือนข้างหน้า ทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ทำหน้าที่รักษาการแทน
ในขณะที่รัฐบาลที่มาจากประชาชนทั่วโลก หากมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องพ้นสภาพ หรือตำแหน่งทันที ไม่ต้องรักษาการแทน แต่ให้สภาผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เพื่อรอการเลือกตั้งได้รัฐบาล หรือผู้นำคนใหม่
ปัญหาที่สำคัญที่สุด คือ ชนชั้นนำ และกลุ่มอนุรักษนิยม ที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่คาดคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ในตำแหน่งนานถึง 8 ปี จึงสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญให้นายกรัฐมนตรีอยู่ในตำแหน่งดังกล่าวเพียง 8 ปีเท่านั้น เพื่อป้องกันและล้มระบอบทักษิณ ตัดตอนพรรคเพื่อไทย (พท.) ไม่ให้มีอำนาจและกลับมาบริหารประเทศอีก จึงกลายเป็นดาบสองคมที่เชือด พล.อ.ประยุทธ์ ไปด้วย ในขณะที่ชนชั้นนำ และกลุ่มอนุรักษนิยม ไม่สามารถหาตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์แบบลับลวงพราง เพื่อถ่วงเวลาสรรหาคนที่เหมาะสม มาแทน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ได้ก่อน เพื่อสืบทอดอำนาจรัฐประหาร และรักษาผลประโยชน์ชนชั้นนำ กลุ่มอนุรักษนิยมและเครือข่ายดังกล่าว
ในขณะที่ พล.อ.ประวิตร ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่รักษาการนายกรัฐมนตรีแทนนั้น ถือเป็นบุคคลที่ชนชั้นนำ และกลุ่มอนุรักษนิยม ไม่ได้ให้ความไว้วางใจมากนัก เพราะยังไม่มีศักยภาพเพียงพอ ประกอบกับมีอายุมาก และปัญหาด้านสุขภาพ ที่อาจส่งผลต่อภาพลักษณ์ผู้นำประเทศในสายตาโลก
หากศาลตัดสินให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อ มองว่าเป็นอภินิหารทางกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้สะท้อนเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญดังกล่าว ส่งผลให้เป็นรัฐธรรมนูญย้อนแย้งที่ไม่มีผลทางกฎหมายหรือใช้บังคับไม่ได้
ช่วง 1 เดือน ก่อนศาลวินิจฉัยการครบวาระ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ เชื่อว่าชนชั้นนำ และกลุ่มอนุรักษนิยม กำลังเฟ้นหาตัวแทน พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อสนับสนุนเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หากสรรหาบุคคลที่มีความเหมาะสมได้ และองคาพยพพร้อมแล้ว อาจนำไปสู่การยุบสภา เพื่อเลือกตั้งใหม่และชิงความได้เปรียบทางการเมือง ได้ผู้นำประเทศ และรัฐบาล ที่อยู่ในมือกลุ่มอำนาจเดิม เพื่อรักษาผลประโยชน์เครือข่ายดังกล่าว เป็นการพลิกเกมจากผู้ถูกล่า เป็นผู้ไล่ล่าในอนาคตแทน โดยใช้ระบอบประชาธิปไตยเป็นฉากบังหน้า หรือฟอกตัว แต่ฝังรากลึกที่เป็นอำนาจเผด็จการ และซ่อนรูปแบบตามแนวคิดชนชั้นนำและกลุ่มอนุรักษนิยม เพื่อปกครองประเทศยาวนานที่สุด
ผศ.ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ
นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
การเข้ามารักษาการนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มองว่าการจะปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) น่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะมีการซื้อเวลาไปอีกระยะ ในขณะที่มีเก้าอี้รัฐมนตรีว่างอยู่ 3-4 ที่นั่ง ซึ่งมีหลายปัจจัยในการตัดสินใจ โดยเฉพาะการปรับ ครม.นั้นจำเป็นมากน้อยแค่ไหน ตำแหน่งที่ว่างนั้นส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือไม่ ในขณะเดียวกันห้วงเวลาในการปรับ ครม.ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ต้องคิด เพราะหากเข้ามาแล้วปรับ ครม.ทันที อาจจะมีผลทำให้เกิดปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะถูกมองว่าอาจจะต้องการปรับ ครม.มาก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่
หรือหากตำแหน่งที่ว่างนั้นไม่กระทบต่อการบริหารงาน อาจจะรอจนกว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาในอีก 1 เดือนข้างหน้า รอให้ พล.อ.ประยุทธ์กลับมาทำหน้าที่ หรือหาก พล.อ.ประยุทธ์จะต้องพ้นจากตำแหน่ง การปรับ ครม.ในตำแหน่งที่ว่าง ก็ยังสามารถปรับได้ มองว่าการปรับ ครม.นั้นยังเป็นประเด็นที่ยังสามารถรอได้
ส่วนการวินิจฉัยของศาลกรณีการดำรงตำแหน่งวาระ 8 ปี ยังไม่สามารถฟันธงได้ ยัง 50-50 สามารถเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง เพราะมีเรื่องทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่อีกประเด็นหนึ่ง หาก พล.อ.ประยุทธ์รอดพ้นคำวินิจฉัยของศาล ประชาชนจะมีความเห็นอย่างไร ในประเด็นที่ว่า การลาออกหลังจากศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่น่าจะเป็นทางออกที่สง่างาม
ประเมินสถานการณ์ทางการเมืองในระยะนี้ พบว่า หัวหน้าพรรคการเมืองต่างขยันลงพื้นที่ เร่งเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ในแต่ละภาค วิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นสัญญาณที่ชัดเจน ถึงความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเร็วมากขึ้น ถ้าในการเลือกตั้งทั่วไปตามวาระที่อาจเกิดขึ้นในเดือนมีนาคมปีหน้า หัวหน้าพรรคการเมืองอาจไม่ต้องรีบร้อนลงพื้นที่มากนัก
ผมมองว่าโอกาสการยุบสภาน่าจะมีน้อย แต่อาจจะเป็นการปรับ ครม.เพื่อยื้อ สถานการณ์ต่างๆ เอาไว้ เพียงแต่จะปรับเมื่อไหร่เท่านั้น ถ้ามองว่า ขณะนี้พรรคที่ไม่ได้เปรียบเลยในทางการเมืองคือ พรรคพลังประชารัฐ เพราะฉะนั้นต้องยื้อ เพราะยังไม่ได้เปรียบในทางการเมือง