“มท.1-ชัยวุฒิ” เปลี่ยนเส้นทางติดตามโนรู จากอุบลฯ-ขอนแก่น ไปพิษณุโลกแทน หลังรับแจ้งอากาศปิดบินไม่ได้
“อนุพงษ์-ชัยวุฒิ” ติดตามสถานการณ์น้ำ รับมือโนรูที่อุบล แต่พายุเข้าจะเปลี่ยนเส้นทางไปขอนแก่นแต่ ทอ.ประเมินแล้วหวั่นกลับไม่ได้สุดท้ายไปพิษณุโลกแทน
เมื่อวันที่ 28 ก.ย.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นางสาวชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีกำหนดลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ตรวจติดตามความพร้อมรับสถานการณ์ พายุโนรู ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน ถึง 1 ตุลาคมนี้ โดยจะตรวจความพร้อมศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักชลประทานที่ 7 จากนั้น เดินทางไปศูนย์ ปภ.เขต 13 อุบลราชธานี เพื่อรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และตรวจความพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะมอบนโยบายเตรียมรับมือสถานการณ์พายุโนรู ก่อนลงพื้นที่พบปะประชาชน ที่โครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่คณะจะออกเดินทาง เจ้าหน้าที่จากกองทัพอากาศ ได้รายงานสภาพอากาศ ที่ จ.อุบลราชธานี พบว่าเช้าวันนี้ (28 ก.ย.) มีฝนตกหนัก ลมแรง ทำให้ต้องเลื่อนเวลาเดินทางออกไป ที่จากเดิม นัดหมายออกเดินทางในเวลา 08.00 น. ต้องรอให้สภาพอากาศเปิดเอื้อต่อการทำการบิน จึงจะนำเครื่องบินขึ้นบินจาก ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมืองได้ จากนั้นใช้เวลารอกว่า 40 นาที ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า จะเปลี่ยนเส้นทางการบิน จากเดิม จะต้องไปลงที่ จ.อุบลราชธานี เปลี่ยนไปลงที่สนามบินขอนแก่นแทน เนื่องจากที่ จ.อุบลราชธานี สภาพอากาศปิด มีฝนตกหนักต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ไม่เอื้ออำนวยต่อการบิน จะใช้วิธีการวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากศาลากลางจ.ขอนแก่น ไปยัง จ.อุบลราชธานี และทุกจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย แต่ปรากฏว่า จ.ขอนแก่น ก็มีฝนตกหนัก เช่นกัน จึงประเมินว่า ขากลับจะไม่สามารถทำการบินได้ จึงเปลี่ยนที่หมายใหม่ไปประชุมที่ศาลากลาง จ.พิษณุโลก แทน
สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับผลกระทบจากน้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน พื้นที่การเกษตร ส่งผลให้มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน 14 อำเภอ 74 ตำบล 472 หมู่บ้าน และมี 4 อำเภอได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ อ.เมืองอุบลราชธานี อ.วารินชำราบ อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.สว่างวีระวงศ์ ซึ่งได้อพยพประชาชน 44 ชุมชน 1,215 ครัวเรือน 4,169 คน ไปที่ศูนย์พักพิงชั่วคราว 40 จุด พักบ้านญาติ และอพยพขึ้นที่สูง ด้านการเกษตร ได้รับความเสียหาย 14 อำเภอ กว่า 99,235.75 ไร่ ทั้งนี้ จ.อุบลราชธานี ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินและ 1 อำเภอ
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก
Line @Matichon ได้ที่นี่