ส.ส.ของรัฐสภาเอสโตเนียร่วมลงมติในการออกแถลงการณ์ เพื่อประกาศให้รัสเซียเป็น “ระบอบก่อการร้าย” และประณามการผนวก 4 ดินแดนของยูเครนเข้าเป็นของรัสเซีย หลังจากที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลัตเวียและลิทัวเนียได้ประกาศไปก่อนหน้า
จากการลงมติจาก ส.ส.จำนวน 101 คน เมื่อช่วงวานนี้ (18 ต.ค.) มี ส.ส.ทั้งหมด 88 คน ที่ลงมติเห้นด้วยกับการประกาศสถานะระบอบก่อการร้ายต่อรัสเซีย และประณามกรณีการผนวกดินแดนของยูเครนอย่างผิดกฎหมาย ในขณะที่มี ส.ส. 10 คน ลงมติงดออกเสียง และอีก 3 คน ลงมติไม่เห็นด้วย
ในแถลงการณ์ของรัฐสภาเอสโตเนียระบุว่า รัฐสภาขอ “ประกาศให้รัสเซียเป็นระบอบก่อการร้าย และสหพันธรัฐรัสเซียเป็นประเทศที่สนับสนุนการก่อการร้าย” ก่อนระบุเสริมว่า “ระบอบของปูติน กับการขู่ในการใช้การโจมตีโดยนิวเคลียร์ ได้ทำให้รัสเซียกลายมาเป็นภยันตรายใหญ่หลวงต่อสันติภาพของทั้งยุโรปและโลก”
วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดียูเครน ได้เริ่มสั่งการรุกรานยูเครน นับตั้งแต่ปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ในขณะที่ปัจจุบันนี้ ประธานาธิบดีรัสเซียพยายามขู่ชาติตะวันตกว่า รัสเซียพร้อมจะตอบโต้การยั่วยุใดๆ ด้วยการใช้อาวุธนิวเคลียร์ โดยก่อนหน้านี้ ปูตินได้ลงนามในการผนวกดินแดน 4 พื้นที่ของยูเครน ได้แก่ โดเนตสก์ ลูฮานสก์ เคอร์ซอน และซาปอริซเซีย เข้าเป็นของรัสเซียอย่างผิดกฎหมาย
รัฐสภาของเอสโตเนียยังได้ระบุในแถลงการณ์อีกว่า ตนได้พิจารณาถึง “ความจำเป็นในการจัดสถานะกองกำลังติดอาวุธ ที่ถูกเรียกว่าเป็นสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์และลูฮานสก์ ซึ่งได้รับการก่อตั้งโดยสหพันธรัฐรัสเซีย เช่นเดียวกันกับบริษัททหารรับจ้างเอกชนอย่างแวกเนอร์ ให้เป็นองค์กรก่อการร้าย”
รัฐสภาของประเทศเพื่อนบ้านเอสโตเนียอย่างลัตเวีย ได้ประกาศให้รัสเซียเป็น “รัฐผู้สนับสนุนการก่อการร้าย” เมื่อช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ก่อนกล่าวหาว่า รัสเซียได้ “เล็งเป้าหมายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไปยังประชาชนชาวยูเครน” ในขณะลิทัวเนียเองก็ได้ประกาศสถานะดังกล่าวต่อรัสเซียในลักษณะเดียวกัน เมื่อช่วงเดือน พ.ค.ทีผ่านมา
เซอร์เก ทเสคอฟ สมาชิกสภาสูงของรัสเซีย ออกมาให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว RIA Novosti ของรัสเซีย เมื่อช่วงเดือน ส.ค.ว่า รัสเซียจะใช้ “มาตรการตอบโต้ที่จะแสดงให้ลัตเวียเห็นถึงตำแหน่งแห่งที่ของตน และจะสร้างความเจ็บปวดให้พอสมควร” ซึ่งอาจหมายรวมถึงการห้ามการผ่านทางเข้ามายังรัสเซีย
ชาติบอลติกต่างๆ เคยตกอยู่ภายใต้การปกครองของอดีตสหภาพโซเวียตมานานกว่า 5 ทศวรรษ โดยชาติบอลติกเหล่านี้ ล้วนเป็นประเทศที่แสดงออกถึงการสนับสนุนยูเครนอย่างแข่งขัน จากการทำสงครามรุกรานโดยรัสเซีย และต่างออกมาวิจารณ์รัฐบาลของปูตินอย่างรุนแรง แม้ภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศตนจะตั้งอยู่ใกล้กันกับรัสเซียก็ตาม
ที่มา: