วันนี้ (2 ธ.ค.2565) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายคมเดช ไชยศิวามงคล ส.ส.กาฬสินธุ์ ประธานคณะทำงานวิทยุชุมชนพรรคเพื่อไทย นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการ คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวรับข้อเรียกร้องจากเครือข่ายวิทยุชุมชน รวม 3,967 สถานี
ขอให้พรรคเพื่อไทยแก้กฎหมายยกเลิกการประมูลคลื่นความถี่วิทยุภาคประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกประกาศเมื่อเดือนมิ.ย.2564 ในการเปลี่ยนผ่านการทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง (วิทยุชุมชน) ไปสู่ระบบการอนุญาตแบบประมูล โดยให้ออกอากาศถึงวันที่ 3 เม.ย.2565 , ยกเลิกสถานะจาก “ผู้ประกอบการวิทยุชุมชน” มาเป็น “ผู้ทดลองออกอากาศ” และขอให้ใช้คลื่นความถี่ระบบ เอฟ.เอ็ม กำลังส่งต่ำ (50 วัตต์) จากเดิมที่ใช้กำลังส่ง 500 วัตต์
นายวรพจน์ ลัภโต ผู้แทน องค์กรภาคีเครือข่ายผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงภาคประชาชน แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนถือว่าเป็นสื่ออีกแขนงหนึ่ง และเป็นประชาชนในท้องถิ่น มีทุนทรัพย์น้อย
หากต้องดำเนินการตามประกาศของ กสทช.คงไม่มีโอกาสชนะการประมูลคลื่นวิทยุชุมชนอยู่แล้ว ระบบการประมูลทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กไม่มีโอกาสที่จะชนะการประมูล เพราะตามหลักการของการผู้ประมูล ผู้ที่ให้ราคาสูงจะเป็นผู้ชนะ
ดังนั้นถือเป็นระบบที่เอื้อนายทุนรายใหญ่ จึงได้ขอให้พรรคเพื่อไทยยกร่างแก้ไขกฎหมาย และร่างแก้ไของค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ผลักดันเข้าสู่การกระบวนการทางสภาแล้ว พร้อมเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทย ดำเนินการตามข้อเสนอ 4 ข้อดังนี้
1.ขอให้พรรคเพื่อไทย กำหนดให้การมีอยู่ของวิทยุชุมชนโดยผู้ประกอบการรายเล็กเป็นหนึ่งในนโยบายของพรรค เพื่อให้ให้ได้ทำหน้าที่สื่อสารมวลชนระดับท้องถิ่นต่อไป
2.ขอให้พรรคเพื่อไทยผลักดันการแก้ไขกฎหมายประมูลคลื่นความถี่วิทยุชุมชนซึ่งไม่มีความเป็นธรรมกับผู้ประกอบการรายเล็ก
3.ขอให้พรรคเพื่อไทยเป็นเจ้าภาพจัดตั้งสมาคมวิทยุกระจายเสียงเพื่อประชาชน เพื่อให้เกิดความอิสระต่อการประกอบกิจการ และยังคงไว้ซึ่งการสื่อสารมวลชนระดับท้องถิ่น
4.ขอให้พรรคเพื่อไทยแต่งตั้งคณะทำงานศึกษากฎหมายด้านอาหารและยา ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการออกอากาศของวิทยุชุมชน
ทั้งนี้ กสทช.ยังได้ประกาศมายังผู้ประกอบการวิทยุชุมชนว่าจะมีการเรียกคืนคลื่นวิทยุชุมชนก่อนกำหนดเดิม 6 เดือน จากเดิมจะหมดลงในปี 2567 ด้วย ซึ่งถือเป็นความเดือดร้อนของผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รู้สึกเห็นใจผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐในช่วงที่ผ่านมา ทั้งที่ผู้ประกอบการเหล่านี้กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของทุกจังหวัด
หลังจากพรรคเพื่อไทยได้รับข้อเสนอจากผู้ประกอบการแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ จึงได้จัดทำร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติม 2 ฉบับ เพื่อให้สถานะของผู้ประกอบการวิทยุชุมชนยังคงอยู่
รวมถึงได้นำเสนอต่อประธานสภาแล้วแต่ยังไม่ได้รับการลงนามจากนายกฯให้หารือในสภา จึงใช้กลไกตั้งกระทู้ถามสด เพื่อสอบถามไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องให้เลื่อนการดำเนินการตามประกาศของ กสทช.ในปี 2567 แล้ว
ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อ ถือเป็นหลักการของสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารไปถึงมวลชนและเป็นอาชีพ วิทยุชุมชนเป็นผู้สร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างอัตลักษณของชุมชนได้ เป็นคุณค่าที่ยิ่งใหญ่สอดคล้องกับแนวทางของพรรค
หากร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภา พรรคเพื่อไทยขอรับไว้พิจารณา ซึ่งความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเราใส่ใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการนำสิ่งเหล่านั้นมาขับเคลื่อนต่อไป
นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นประธานคณะทำงานด้านนโยบายแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ พรรคเพื่อไทย การยกเลิกวิทยุชุมชนมีมติของความเหลื่อมล้ำอยู่ เพราะการรับรู้ข่าวสารเป็นสิทธิเสรีภาพที่ประชาชนต้องได้เข้าถึงและเท่าเทียม ปัญหาที่เกิดคือการริดรอนในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน พรรคเพื่อไทยซึ่งมีความมุ่งมั่นแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจน ไม่มีเหตุผลที่จะไม่สนับสนุนการมีอยู่ของวิทยุชุมชน
นายสุทิน ระบุ เคยเป็นนักจัดรายการ เคยเป็นเจ้าของวิทยุชุมชนมาก่อน คลื่นความถี่เป็นสมบัติที่แย่งกันมากในสังคมทุนนิยม ถ้าจัดให้มีการประมูล เรารู้คำตอบอยู่แล้วว่าคำตอบจะเป็นอย่างไร
ถ้าหัวใจพรรคเพื่อไทย หัวใจคือประชาชน เราต้องทำอยู่แล้ว แต่ถ้าหัวใจเพื่อนายทุน เราก็ไม่รู้ว่าในอนาคตวิทยุชุมชนจะเป็นอย่างไร