หน้าแรก Thai PBS “พิจารณ์” แนะ ตั้งบุคคลที่ 3 สอบเหตุเรือ ร.ล.สุโขทัยอับปาง คู่ขนานกองทัพ

“พิจารณ์” แนะ ตั้งบุคคลที่ 3 สอบเหตุเรือ ร.ล.สุโขทัยอับปาง คู่ขนานกองทัพ

70
0
“พิจารณ์”-แนะ-ตั้งบุคคลที่-3-สอบเหตุเรือ-รล.สุโขทัยอับปาง-คู่ขนานกองทัพ

วันนี้ (26 ธ.ค.2565) นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีกองทัพเรือตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เหตุเรือหลวงสุโขทัยอับปาง โดยมี พล.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสนาธิการทหารเรือเป็นประธานว่า เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ทั้งสังคมให้ความสนใจ

ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่า ประชาชนจำนวนไม่น้อยขาดความเชื่อมั่นในการตรวจสอบกันเองของกองทัพ จึงเห็นว่าควรใช้บุคคลที่สาม (Third Party Investigator) เข้ามาตรวจสอบคู่ขนาน โดยเสนอให้มีตัวแทนจากฝั่งรัฐสภาร่วมด้วย

นายพิจารณ์ การตั้งคณะกรรมการที่มีแต่ทหารตรวจสอบกันเองจะทำให้สังคมตั้งคำถามถึงความโปร่งใสและความตรงไปตรงมาของกองทัพ ยิ่งเมื่อมีข้อสังเกตหนึ่งเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้เรือหลวงสุโขทัยอับปางว่า อาจเกี่ยวข้องกับกระบวนการซ่อมบำรุงและการตรวจรับงานซ่อมต่าง ๆ ที่อยู่ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ยิ่งทำให้ประชาชนมองว่าปัญหาการจัดซื้อที่ด้อยคุณภาพของกองทัพ ส่งผลกระทบต่อศักยภาพของเรือและความปลอดภัยของกำลังพล

พิจารณ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ใน กรรมาธิการการทหาร ตนได้สอบถามกองทัพเรือ ว่า สามารถดึงบุคคลภายนอกเข้าร่วมตรวจสอบสาเหตุของเหตุการณ์ครั้งนี้ได้หรือไม่ แต่กองทัพเรือไม่ได้ตอบคำถาม

ในภายหลังเพจ Thai Armed Forced (TAF) ซึ่งเป็นเพจที่เกาะติดเหตุเรือล่มนี้อย่างใกล้ชิด ได้เสนอให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ จากภายนอกเข้าร่วมตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม หากกังวลว่า ข้อเสนอของตนที่ให้มี ส.ส.ร่วมตรวจสอบด้วย อาจทำให้เกิดการแทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำ ก็สามารถให้ ส.ส.เป็นสักขีพยานหรือร่วมสังเกตการณ์ในการตรวจสอบได้

นายพิจารณ์ กล่าวด้วยว่า การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบที่มีบุคคลที่ 3 ถือเป็นมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนในการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของกรณีเรือหลวงสุโขทัยล่ม

แต่ในระยะยาว แนวทางที่พรรคก้าวไกลเสนอมาตลอดคือ การปฏิรูปกองทัพ และการปรับปรุงให้ราชการไทยก้าวหน้า ด้วยการจัดตั้ง “ผู้ตรวจการกองทัพ” ซึ่งเป็นตัวแทนพลเรือนที่เป็นอิสระจากกองทัพและทำหน้าที่ตรวจสอบกองทัพแทนรัฐสภาหรือประชาชน เพื่อให้มั่นใจได้ว่า การดำเนินงานของกองทัพจะเป็นไปอย่างโปร่งใสและมีมาตรฐาน โดยบทบาทนี้อาจครอบคลุมไปถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม หรือการกระทำที่ขัดหลักกองทัพอยู่ใต้รัฐบาลพลเรือน

การตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพ รายได้ของกองทัพ และโครงการจัดซื้อจัดจ้าง และการพิจารณาและสืบสวนข้อร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของทหาร

นอกจากนี้ ต้องสร้างรัฐโปร่งใส เปิดเผยข้อมูลรัฐทั้งหมด เพราะข้อมูลของรัฐก็คือข้อมูลที่ประชาชนเป็นเจ้าของ หากจะปกปิด หน่วยงานต้องร้องขอว่าเป็นข้อมูลลับ โดยมีเหตุผลที่สมควรเท่านั้น รวมถึงเสริมตัวแทนจับโกงภาคประชาชน ซึ่งคือผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์ตลอดกระบวนการในงานที่มีมูลค่าสูงๆ

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่