หน้าแรก Thai PBS นายกฯ สั่งเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำภาคใต้ 6 – 11 ม.ค.นี้

นายกฯ สั่งเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำภาคใต้ 6 – 11 ม.ค.นี้

84
0
นายกฯ-สั่งเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำภาคใต้-6-–-11-มค.นี้

วันนี้ (5 ม.ค.66) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ห่วงใยประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากขณะนี้การคาดการณ์สภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง มีแนวโน้มจะมีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนเข้าใกล้ปลายแหลมญวณ

ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุม อ่าวไทยและภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ในช่วงวันที่ 6 – 8 ม.ค.2566 บริเวณภาคใต้จะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ประกอบกับสถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 6 – 11 ม.ค.2566 โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ( อ.กาญจนดิษฐ์ ดอนสัก พนม เวียงสระ เกาะสมุย และเกาะพะงัน) จ.นครศรีธรรมราช (อ.เชียรใหญ่ เฉลิมพระเกียรติ ท่าศาลา นบพิตำ ปากพนัง พรหมคีรี พระพรหม เมืองนครศรีธรรมราช ร่อนพิบูลย์ ลานสกา และสิชล)

จ.พัทลุง (อ.กงหรา เขาชัยสน ควนขนุน ตะโหมด บางแก้ว ปากพะยูน ป่าบอน เมืองพัทลุง และศรีนครินทร์) จ.สงขลา (อ.กระแสสินธุ์ ควนเนียง จะนะ เทพา บางกล่ำ เมืองสงขลา ระโนด รัตภูมิ และหาดใหญ่)

จ.ปัตตานี (อ.กะพ้อ โคกโพธิ์ ทุ่งยางแดง ปะนาเระ มายอ เมืองปัตตานี ไม้แก่น ยะรัง ยะหริ่ง สายบุรี และหนองจิก) จ.ยะลา (อำเภอรามัน) และ จ.นราธิวาส ( อ.จะแนะ เจาะไอร้อง ตากใบ บาเจาะ เมืองนราธิวาส ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ แว้ง สุคิริน สุไหงโก-ลก และสุไหงปาดี)

นายกฯ จึงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่จังหวัดดังกล่าว เตรียมความพร้อมทุกด้านและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด

โดยเฉพาะระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำตาปี แม่น้ำปากพนัง แม่น้ำตรัง คลองชะอวด แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก

นายอนุชา กล่าวว่า นอกจากนี้ นายกฯ ยังกำชับให้เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve)

รวมทั้งอ่างฯ ขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ

โดยเฉพาะเขื่อนบางลางให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน

ตลอดจนเฝ้าระวังคลื่นซัดฝั่งที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบกิจการบริเวณแนวชายฝั่งทะเลตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช จนถึง จ.นราธิวาส ด้วย

ทั้งนี้ เพื่อให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที ลดและป้องกันการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่

นอกจากนี้ นายกฯ สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังให้ความสำคัญและเน้นย้ำ เช่น การติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มม.ในช่วงเวลา 24 ชม. และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ

การปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ

รวมถึงเขื่อนระบายน้ำและประตูระบายน้ำ ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำและ อิทธิพลของการขึ้น-ลง ของน้ำทะเล โดยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก

รวมทั้งติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

สิ่งสำคัญคือการประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน เพื่อเตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์ขึ้น

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่