วันนี้ (30 ม.ค.2566) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุถึงการหารือกับเลขาธิการ กกต. ถึงการเตรียมการเลือกตั้งหลังกฎหมายลูก 2 ฉบับ มีผลบังคับใช้ ว่า จากนี้ไป กกต.จะต้องดำเนินการเรื่องแบ่งเขตเลือกตั้ง จากเดิม 350 เขตเป็น 400 เขต ที่สำคัญคือ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นลดลงไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัด ซึ่งจะกระทบต่อจำนวน ส.ส. และยังต้องรับฟังความคิดเห็นของทางจังหวัด-นักการเมือง และประชาชนในจังหวัดนั้น ๆ ด้วย จึงต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ตลอดเดือน ก.พ. หรืออาจจะเร็วกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละจังหวัด
ทั้งนี้ หากการแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยแล้วจะยุบสภาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่จะยุบสภาทันทีหลังจากที่กฎหมายลูกเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ไม่ได้ เพราะไม่สามารถเตรียมการได้ทัน ซึ่งการที่ กกต.ขอเวลา 45 วันในการดำเนินการนั้นก็เพื่อให้มีเวลาเพียงพอในการเตรียมการแบบสบาย ๆ แต่ได้แจ้งกับทางเลขา กกต. ว่า ในทางการเมืองจะใช้สูตรสบาย ๆไม่ได้
นายวิษณุ ย้ำว่า การยุบสภาเป็นวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยเหตุจำเป็น แต่ไม่สามารถยุบสภาก่อนจะรู้เขตเลือกตั้งได้ โดยตามขั้นตอนเมื่อออกพระราชกฤษฎีกายุบสภา กกต.จะพิจารณาประกาศวันเลือกตั้ง และประกาศวันรับสมัครเลือกตั้ง แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อรู้เขตเลือกตั้ง
นายวิษณุ ระบุว่า ในการประชุม ครม.วันพรุ่งนี้ (31 ม.ค.) จะรายงานให้นายกฯรับทราบถึงผลการหารือกับ กกต.อีกครั้ง และภายในสัปดาห์นี้ กกต.จะส่งระเบียบย่อย 4 เรื่อง มายังรัฐบาลคือระเบียบวิธีแบ่งเขตเลือกตั้ง, ระเบียบในการทำไพรมารีโหวต, ระเบียบว่าด้วยการตั้งสาขาพรรค และ ประกาศว่าด้วยจำนวน ส.ส. พึงมีในแต่ละจังหวัด เพื่อดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ ต่อไป
เตรียมความพร้อมเลือกตั้งไม่ให้เกิดเงื่อนไข-ข้อวิจารณ์
ขณะที่ นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ระบุหลังการหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีว่า เป็นการพูดคุยถึงแนวทางจัดการเลือกตั้งให้เกิดความเรียบร้อย ซึ่งเงื่อนไขสำคัญคือเรื่องของกรอบเวลาเตรียมการเลือกตั้ง ในกรณีที่รัฐบาลอยู่ครบวาระ หรือ ยุบสภา
โดยไม่สามารถฟันธงได้ว่าจะมีการยุบสภาเมื่อไหร่ จึงต้องปรับใช้กฎหมายให้เข้ากับสถานการณ์ และวันนี้ไม่ได้พูดคุยกับนายวิษณุถึงเรื่องการยุบสภา แต่สาระสำคัญคือมาชี้แจงให้นายวิษณุรับทราบถึงแนวทางการทำงานของ กกต. ซึ่งขณะนี้ถือว่ากฎหมายเลือกตั้งมีผลบังคับใช้แล้ว ก็จะต้องเดินไปตามกรอบของกฎหมาย
เลขา กกต.ยืนยันว่า ไม่มีข้อกังวลเรื่องใดเป็นพิเศษ ส่วนการแบ่งเขตเลือกตั้งกำลังเร่งดำเนินการอยู่ เพราะ กกต.ก็มีความจำเป็นในการแบ่งเขตโดยเร็วที่สุด เพื่อรองรับการทำงานและเตรียมคนดูแลเลือกตั้งเป็นแสนหน่วย ซึ่งการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่มีความแปลกประหลาด แต่อาจจะไม่ถูกใจพรรคการเมือง หรือนักการเมืองเพราะไม่ได้เป็นการแบ่งเขตที่เอื้อประโยชน์ให้กับบางคนและบางพรรค
ซึ่งพรรคการเมืองต่าง ๆ มีการเตรียมการและตั้งสาขาพรรค รองรับการเลือกตั้งตามกฎหมายใหม่กันอยู่แล้ว โดยยืนยันว่า กกต.ยึดตามกฎหมายในการแบ่งเขตเลือกตั้ง และจะทำให้เกิดการยอมรับสำหรับผู้แข่งขันทุกคน
เลขาธิการ กกต.ย้ำว่า ยังไม่ชี้ชัดไทม์ไลน์การเลือกตั้งจะเกิดขึ้น ในวันที่ 7 พ.ค. หรือ หลัง 15 มี.ค. หรือไม่ เพียงแต่การกำหนดกรอบเวลา วันที่ 7 พ.ค.ไว้ เนื่องจากอ้างอิงตามแผนกรณีที่รัฐบาลอยู่ครบวาระ
พร้อมย้ำว่า ทางกกต.มีความจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ 45 วัน จากนั้นจะเป็นเรื่องของส่วนงานอื่น เพราะเชื่อว่าแต่ละฝ่ายก็มีข้อจำกัดทางการเมือง ซึ่งทาง กกต.เพียงแค่อยากเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งให้ดีที่สุด ไม่ให้เกิดเงื่อนไข ข้อพิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ