วันนี้ (1 ก.พ.2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยังคงกันลงพื้นที่ตรวจราชการ และช่วงชิงกันลงพื้นที่หาเสียง ซึ่งทั้งพรรคพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ ต่างก็ปรับยุทธศาสตร์ทางการเมือง
หนึ่งวัน 2 จังหวัด และ 2 ภารกิจ สำหรับพล.อ.ประวิตร วันนี้ ช่วงเช้าลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.นครปฐม และราชบุรี ในฐานะผู้อำนวยการ กอนช.เพื่อเน้นย้ำการบริหารจัดการน้ำ
ก่อนขึ้นเวทีแจ้งลากิจ ช่วงบ่าย และปราศรัยฝากพรรคพลังประชารัฐกับคนในพื้นที่ ท่ามกลางกองเชียร์-แฟนคลับมาต้อนรับและให้กำลังใจ แม้แต่ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ของพรรค ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ก็ร่วมให้กำลังใจ
อ่านข่าวเพิ่ม “ประวิตร” บุกราชบุรีซ้ำ “ปารีณา” คุกเข่าไหว้ ก่อนขึ้นเวทีแนะนำผู้สมัคร พปชร.
นายกรัฐมนตรี ชมสื่อไม่ถามเรื่องการเมือง
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ ช่วงเช้าแถลงหลังการประชุม กนย.ย้ำในยุทธศาสตร์พัฒนาการผลิต แปรรูปและการใช้ยางพาราภายในประเทศ รวมถึงการส่งออก
เมื่อนักข่าวไม่มีคำถามเพิ่มเติม นายกรัฐมนตรี ยักคิ้ว ก่อนจะหัวเราะ และกล่าวชื่นชมว่า น่ารักที่ไม่ถามเรื่องการเมือง ส่วนช่วงบ่าย เดินทางไปสถานีโทรทัศน์ท็อปนิวส์ เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 2 ปี ด้วยบรรยากาศที่ชื่นมื่น
มีรายงานว่า แกนนำพรรครวมไทยสร้างชาติ หารือวางลำดับผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้ว เตรียมเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 คือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จากนั้นจะเป็นนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ นายธนกร บุญวังคงชนะ และนายสุชาติ ชมกลิ่น ตามลำดับ และเตรียมเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ ครั้งที่ 2 ที่จ.นครราชสีมา ในวันที่ 18 ก.พ.นี้
คาดยุบสภา 16 มี.ค.นี้
แหล่งข่าวระดับรัฐมนตรี ยอมรับว่า เป็นไปได้ที่นายกรัฐมนตรี จะตัดสินใจ “ยุบสภา” ตามกระแสที่เกิดขึ้น ด้วยกฎหมายพร้อม และพรรครวมไทยสร้างชาติก็พร้อมลงสนามเลือกตั้ง ซึ่งหากยุบสภา “16 มี.ค.” ก็จะตราพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งภายใน 5 วัน เท่ากับกรอบเวลาจัดการเลือกตั้ง 47 วัน สอดรับตามรัฐธรรมนูญกำหนด “ไม่น้อยกว่า 45 วัน ไม่เกิน 60 วัน” โดยจะยึดปฏิทินเดิม คือ วันอาทิตย์ที่ 7 พ.ค.นี้ เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป
กกต.นัดทุกพรรค 8 ก.พ.-พร้อมจัดเลือกตั้ง
นายปกรณ์ มหรรณพ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงยืนยันว่า พร้อมจัดการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะยุบสภาหรือครบวาระ และชี้แจงหลักเกณฑ์แบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ คือคิดรวมทั้งหมดของบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศ ไม่ว่าจะมีสัญชาติไทยหรือไม่ หรือมีสิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่
โดยการคำนวณประชากร 165,000 คนต่อ ส.ส.1 คน ยึดตามทะเบียนราษฎร คือคิดรวมทั้งหมด ทั้งผู้ที่มีและไม่มีสัญชาติไทย และยืนยันว่า การออกระเบียบ และประกาศเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ จะแล้วเสร็จภายในเดือนก.พ.นี้
วันที่ 8 ก.พ.นี้ กกต. จะเชิญพรรคการเมืองทั้งหมดมาประชุมร่วมกันเพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง และของผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ส.ตลอดจนการทำไพรมารีโหวต