วันนี้ (8 ก.พ.2566) การประชุมร่วมรัฐสภาเป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาวาระร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 159 และยกเลิกมาตรา 272 เรื่องเกี่ยวกับการตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี และที่มาของนายกรัฐมนตรี ที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับคณะ เป็นผู้เสนอ ซึ่งเมื่อถึงเวลานัดประชุม 09.00 น. ไม่สามารถเริ่มประชุมได้เนื่องจากปัญหาองค์ประชุม ซึ่งจะต้องอาศัยเสียงองค์ประชุมเกินกึ่งหนึ่ง หรือ 333 เสียง จึงจะเปิดประชุมได้ โดยเมื่อเวลาประมาณ 10.30 น. องค์ประชุมปรากฏว่า มี ส.ว. มาเข้าร่วมเพียง 42 คน และ ส.ส. 222 คน จากทั้งหมด 665 คน โดยยังขาดองค์ประชุมอีกกว่า 100 คน จึงยังไม่สามารถเปิดประชุมได้
ต่อมาเวลา 10.30 น. นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส. กทม. พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นขอหารือกับเลขาธิการสภาฯ ว่ามีกำหนดรอเวลาเปิดประชุมหรือไม่ หากเปิดประชุมไม่ได้จะได้เลิกประชุม จะได้ไม่ต้องเปลืองแอร์
นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นหารือกับเลขาธิการสภาฯ ว่า ขณะนี้จำนวน ส.ส. เกินกึ่งหนึ่งแล้วจะมีข้อบังคับใดที่สามารถเปลี่ยนการประชุมรัฐสภามาเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้หรือไม่ เพราะสมาชิกวุฒิสภายังมาไม่ถึง และขอเรียกร้อง ส.ว. ที่นั่งกินน้ำชามาลงชื่อเป็นองค์ประชุมด้วย เพราะ 1 ชม. มาเพิ่มเพียง 1 คน
นายจิรายุ ได้กล่าวเสริมว่าถ้าหากเปลี่ยนเป็นการประชุมสภาผู้แทนราษฎรขณะนี้ประชุมได้แล้ว จากการสอบถามไม่มีแนวปฏิบัติในการรอว่าจะต้องรอถึงเมื่อไร ถึงจะเปิดประชุมได้ ให้อดทนรออีกสัก 4 ชั่วโมงถึงจะเปิดประชุม
ต่อมาเวลา 11.00 น. นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นตั้งข้อสังเกตว่าในวันนี้เป็นการพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อตัดอำนาจ ส.ว. แต่พบว่ามี ส.ว. มาประชุมในขณะนั้นเพียง 40 คน การกระทำของ ส.ว. ลักษณะดังกล่าวเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบหรือไม่
จากนั้นเวลา 11.09 น. นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาแจ้งต่อที่ประชุมว่า ขณะนี้มีจำนวนสมาชิกรัฐสภาจำนวน 342 คน องค์ประชุมกึ่งหนึ่ง 333 คน ถือว่าองค์ประชุมครบและขอเปิดประชุม จึงเข้าสู่ระเบียบวาระ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ได้ลุกขึ้นหารือ กับนายชวน ขอให้ดำเนินการตามญัตติที่ค้างอยู่เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2566 ว่า การจัดระเบียบวาระการประชุมพิเศษ ชอบด้วยข้อบังคับและรัฐธรรมนูญหรือไม่ ระหว่างนั้นนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอให้นายสมชายถอนญัตติดังกล่าวออกไป เพื่อให้รัฐสภาเดินหน้าต่อไปได้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณากฎหมาย อีกทั้งที่ประชุมร่วมกับ 3 ฝ่าย มีข้อสรุปว่าจะใช้เวลาในเรื่องนี้เพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น แต่นายสมชายยังยืนยัน ที่จะเดินหน้าขอลงมติในญัตติดังกล่าว ประธานในที่ประชุมจึงเรียกนับองค์ประชุมในเวลา 11.28 น.
และเมื่อถึงเวลา 12.01 น. นายชวน แจ้งในที่ประชุมว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ส.ส. แจ้งลา 15 คน มี ส.ว. ลา 95 คน จากนั้นก็รายงานผลการนับองค์ประชุมว่า มีผู้มาแสดงตนเพียง 308 คน ไม่ครบองค์ประชุม จึงสั่งปิดการประชุมในเวลา 12.02 น.
อ่านข่าวเพิ่ม :