หน้าแรก Voice TV ครม. ไฟเขียวจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ เชื่อมโยงเอกลักษณ์วิถีชีวิต

ครม. ไฟเขียวจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ เชื่อมโยงเอกลักษณ์วิถีชีวิต

78
0
ครม.-ไฟเขียวจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ-เชื่อมโยงเอกลักษณ์วิถีชีวิต

ครม. อนุมัติจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ OKMD ถ.ราชดำเนิน ศูนย์เรียนรู้รูปแบบใหม่ เชื่อมโยงเอกลักษณ์วิถีชีวิตและมรดกวัฒนธรรมในพื้นที่ สร้างชุมชนเข้มแข็ง เสริมรายได้ชุมชน ดันเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ทันสมัย

ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้แห่งชาติ OKMD: OKMD National Knowledge Center (Ratchadamnoen Center 1 และ 2) ในบริเวณพื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตามที่สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (สบร.) เสนอ สำหรับเป็นศูนย์การเรียนรู้รูปแบบใหม่เพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาที่มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงในการพัฒนาศักยภาพของประชาชนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ของประเทศอย่างยั่งยืน

ศูนย์การเรียนรู้ OKMD จะเป็นแหล่งเรียนรู้สาธารณะรูปแบบใหม่และเป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ระหว่างผู้คนในสังคมที่มีความชอบและความสนใจที่หลากหลาย เป็นพื้นที่การเรียนรู้แห่งอนาคตที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นศูนย์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่เปิดกว้างสำหรับประชาชนทุกช่วงวัยที่ส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างแรงบันดาลใจ ปลูกฝังนิสัยรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต และกระตุ้นให้เกิดการค้นพบศักยภาพของตนเอง ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่ทันสมัยและหลากหลาย และจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่นำเสนอความรู้และทักษะแห่งอนาคตโดยเฉพาะทักษะความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สอดคล้องกับแนวโน้มการพัฒนาของโลกและทักษะการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 9 เดือน ตั้งแต่ปี 2567-2569 งบประมาณ 970 ล้านบาท

ศูนย์การเรียนรู้ OKMD ตั้งอยู่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง โดยขอเช่าพื้นที่ว่างจากสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วยอาคาร 2 หลังติดกัน พื้นที่รวม 6 ไร่ มีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งสิ้น 20,000 ตร.ม. แบ่งเป็น 2 อาคาร คือ

1. อาคาร Ratchadamnoen Center 1 (เดิมเป็นที่ทำการ ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล) ขนาด 5 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 16,000 ตร.ม. จัดเป็นศูนย์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ ประกอบด้วยพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ 1.พื้นที่ห้องสมุดมีชีวิต เพื่อเป็นพื้นที่ ส่งเสริมการอ่าน กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ และปลูกฝังอุปนิสัยรักการเรียนรู้

2.พื้นที่เรียนรู้และพัฒนาทักษะและพัฒนาทักษะแห่งอนาคต ประกอบด้วยพื้นที่อเนกประสงค์ พื้นที่ปฏิบัติการทางนวัตกรรม พื้นที่ปฏิบัติการด้านงานฝีมือพื้นที่ปฏิบัติการด้านสื่อ และพื้นที่ปฏิบัติการสำหรับเด็ก

3. พื้นที่แสดงออก เป็นพื้นที่ส่งเสริมการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของประชาชน ประกอบด้วยหอประชุมอเนกประสงค์ พื้นที่จัดนิทรรศการ และพื้นที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม โดยจะย้ายพื้นที่ TK park จากชั้น 8 เซ็นทรัลเวิล์ดมารวมไว้ในอาคารนี้

โดยอาคาร Ratchadamnoen Center 2 ขนาด 1 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 4,000 ตร.ม. ประกอบด้วยพื้นที่จัดกิจกรรมทางวิชาการ จัดแสดงนิทรรศการและผลงานหลากหลายสาขา โดยจะย้ายสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) จากอาคารวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล มารวมไว้ในอาคารนี้

ทิพานัน กล่าวว่า การดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ร่วมกับแหล่งเรียนรู้เครือข่ายย่ายราชดำเนิน ได้แก่ หนังสือเดินทางสร้างความรู้ วันเดียวเที่ยวแหล่งเรียนรู้โดยทำเป็นเส้นทางนำชมแหล่งเรียนรู้ใน 1 วันตามความสนใจของผู้เข้าชม และจะมีกิจกรรมร่วมกับชุมชนในละแวกถนนราชดำเนินที่สื่อถึงเอกลักษณ์ ความร่วมมือและความผูกพันของคนในชุมชนที่มีต่อย่านราชดำเนิน แสดงถึงวิถีชีวิต เอกลักษณ์ ต่อยอดมรดกวัฒนธรรมในพื้นที่ สร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนดั้งเดิม ได้แก่ กิจกรรมถนนข้าวสารอ่านหนังสือ (Book Street) กินดีอยู่ดีบางลำพู (Street Food) ยามเย็นเดินเล่นคลองหลอด เทศกาลงานศิลปะชุมชน งานส่งเสริมภูมิปัญญาไทยและเศรษฐกิจชุมชน

“รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินหน้าในการส่งเสริมการเรียนรู้สาธารณะเพื่อพัฒนาภูมิปัญญาและความคิดสร้างสรรค์ของประชาชน พัฒนาและให้บริการต้นแบบแหล่งเรียนรู้สมัยใหม่เพื่อเป็นพื้นที่เสริมสร้างศักยภาพการเรียนรู้และลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความรู้ของคนไทยให้ก้าวทันโลก และต้องการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ที่ทันสมัย สำหรับศูนย์การเรียนรู้ OKMD สามารถสอดคล้องกับชุมชน

ดังนั้นจึงสนับสนุนให้มีการออกแบบภาพลักษณ์สถาปัตยกรรมภายนอกอาคารบริเวณด้านหลังอาคารให้เชื่อมต่อกับพื้นที่ย่านชุมชนเก่าที่สามารถเอื้อต่อการเดินเข้าถึงด้วย และให้มีพื้นที่ภายนอกอาคารแสดงนิทรรศการเป็นการถาวร เพื่อให้ความรู้ และประวัติศาสตร์เกี่ยวกับมรดกสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นในพื้นที่และข้อมูลจากการขุดค้นทางโบราณคดี เนื่องจากเป็นพื้นที่สำคัญในเขตกรุงรัตนโกสินทร์ และยังจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนในพื้นที่ราชดำเนินด้วย” ทิพานัน กล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่