ครม.เห็นชอบการขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจเหลือร้อยละ 0.125 ต่อไปอีก 1 ปี เพื่อสนับสนุนแบงก์รัฐช่วยเหลือลูกหนี้จากผลกระทบโควิด19 ที่ยังอยู่ระหว่างการฟื้นตัว
ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 14 ก.พ. 66 ได้เห็นชอบการขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ธอท.) โดยปรับลดเงินนำส่งเหลือร้อยละ 0.125 ต่อปีของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชนโดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. -31 ธ.ค. 66 และให้กลับไปใช้อัตราร้อยละ 0.25 ต่อปี สำหรับการนำส่งตั้งแต่ปี 67 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังรายงานว่าเนื่องด้วยการแพร่ระบาดของโควิด19 ได้ส่งผลต่อลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ผู้ประกอบการรายย่อยและประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มฐานราก ทำให้ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ประกอบกับขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคได้ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพของประชาชน สถาบันการเงินเฉพาะกิจยังจำเป็นต้องดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผ่อนปรนภาระให้กับลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้
ดังนั้น เพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการและประชาชนได้ต่อเนื่อง กระทรวงการคลังจึงเห็นสมควรเสนอให้ขยายระยะเวลาการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาสถาบันการเงินของธนาคารเฉพาะกิจทั้ง 4 แห่งออกไปอีก 1 ปี
ไตรศุลี กล่าวว่า กองทุนสถาบันการเงินเฉพาะกิจนี้ เกิดขึ้นตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ.2558 มีวัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้มั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมาตรา 15 ได้กำหนดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจมีหน้าที่นำส่งเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตราที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของ ครม. แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปีของยอดเงินที่ได้รับจากประชาชน ซึ่ง ครม. ได้เห็นชอบกำหนดอัตราที่ร้อยละ 0.25ต่อปี โดยบังคับมาตั้งแต่ปี 60
อย่างไรก็ตาม ครม. ได้เห็นชอบให้มีการปรับลดอัตราเงินนำส่งเหลือกึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 0.125 ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด19 ระหว่างปี 63-65 เพื่อลดภาระสถาบันการเงินเฉพาะกิจและให้สถาบันการเงินมีสภาพคล่องสำหรับดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19