หน้าแรก Voice TV รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 2 : 'ฮั้ว' เฟื่องฟู หลานนายกฯ ถึงปลัดมหาดไทย-ขบวนการ E-Bidding

รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย 2 : 'ฮั้ว' เฟื่องฟู หลานนายกฯ ถึงปลัดมหาดไทย-ขบวนการ E-Bidding

86
0
รวมอภิปรายครั้งสุดท้าย-2-:-'ฮั้ว'-เฟื่องฟู-หลานนายกฯ-ถึงปลัดมหาดไทย-ขบวนการ-e-bidding

15 ก.พ.2566 ที่อาคารรัฐสภา มีการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 วันแรก วอยซ์รวมรวมการอภิปรายของ ส.ส.ฝ่ายค้านหลายคนที่พูดถึงประเด็นการทุจริต โดยเฉพาะการฮั้วประมูลงานภาครัฐ ซึ่งเกิดหลายระดับ

แทคติกหลานนายกฯ ชนะประมูล : จิราพร สินธุไพร พรรคเพื่อไทย
  •  25 ก.ค.2562 ประยุทธ์แถลงนโยบายเร่งด่วน 12 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ แก้ไขปัญหาทุจริต ต่อมาพ.ค. 2564 ประยุทธ์ประกาศให้การแก้ปัญหาการทุจริตเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ 
  • มีข้อมูลเปิดเผยว่า ‘ปฐมพล จันทร์โอชา’ หลานชายของนายกฯ เปิดบริษัทห้างหุ้นส่วนจำกัด คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น จดทะเบียนเมื่อ 4 พ.ค.2555 รับงานรับเหมาก่อสร้าง โดยใช้บ้านพักในค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ (สนามบิน) ต.อรัญญิก อ.เมือง จ.พิษณุโลก กองทัพภาคที่ 3 เป็นสถานประกอบการเพื่อทำธุรกิจส่วนตัวนานกว่า 5 ปี 
  • ปฐมพลยังหากินกับโครงการของกองทัพอย่างต่อเนื่อง จนปี 2559 หลังมีกระแสวิจารณ์หนักในที่สุดปฐมจึงย้ายออกจากค่ายทหารหนีข้อครหา แต่ยังคงเดินหน้าประมูลงานของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง 
  • เมื่อตรวจสอบข้อมูลบริษัท พบว่าปี 2555-2556 บริษัทของปฐมพลขาดทุนอย่างต่อเนื่อง แต่ปี 2557 บริษัทชนะการประมูลโครงการของรัฐมูลในค่าสูง พลิกโฉมจากบริษัทที่ขาดทุนต่อเนื่อง กลายเป็นบริษัทที่ชนะการประมูล 3 โครงการของกองทัพ มูลค่ารวม 28 ล้านบาท
  •  บริษัทของปฐมพลยังชนะการประมูลงานของภาครัฐต่อเนื่องตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและใกล้เคียง ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 3 เขตอิทธิพลของบิดา-พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายนายกฯ  
  • ปกติแล้วหากเป็นโครงการรัฐมูลค่าสูง บริษัทที่เข้าประกวดราคาควรมีทุนจดทะเบียนสูง เพื่อการันตีสถานะทางการเงินและความน่าเชื่อถือ ทำไมบริษัทปฐมพล ทุนจดทะเบียนเพียง 1.5 ล้านบาทจึงชนะการประกวดราคา สมมติฐานคือชนะประมูลเพราะนามสกุล จันทร์โอชา
  • ปี 2557 บริษัทหลานประยุทธ์ประมูลงานของภาครัฐรวมกันเป็นมูลค่าหลายสิบล้าน แต่จากการตรวจสอบพบว่า บริษัทดังกล่าวมีเครื่องมือและอุปกรณ์ในการประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง 13 รายการ มูลค่าเพียง 385,574 บาท แบ่งเป็นเครื่องมือช่างทั่วไป 12 รายการ พาหนะ 1 รายการ ไม่มีเครื่องจักรกลหนักแม้แต่รายการเดียว พฤติกรรมส่อแววว่าเป็นนายหน้าที่ชนะประมูลงานเพื่อนำไปขายต่อ
  • เมื่อตรวจสอบสถานที่ตั้งบริษัทนายปฐมพลหลังย้ายออกจากค่ายทหาร พบว่าตั้งอยู่ที่  160/19 หมู่ 5  ต.อรัญญิก อ.เมือง จ.พิษณุโลก มีลักษณะเป็นเพียงบ้านพัก มีรถเก๋งสีดำ 1 คัน รถแกร็บส่งของ 1 คัน
  • เมื่อดูสภาพบริษัทคู่เทียบ ที่เข้ามาแข่งขันราคากับบริษัทปฐมพล พบว่า

-บริษัทคู่เทียบ (ตัวย่อ T) มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ตัวอาคารมีเก่า ทรุดโทรม ขนาดเท่าห้องน้ำสาธารณะ

-บริษัทคู่เทียบ (ชื่อย่อ ส.ศ.)  มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท มีสภาพเป็นห้องแถวเก่าๆ

-บริษัทคู่เทียบ (ชื่อย่อ ส.ม.ค) มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาทสภาพเป็นบ้านพักอาศัย

-บริษัทคู่เทียบ(ชื่อย่อ หจก ว.) ทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท มีสภาพเป็นบ้านพักอาศัย แต่ประมูลโครงการรัฐที่มีมูลค่าถึง 45 ล้าน

  • สรุปได้ว่า บริษัทคู่เทียบที่เข้ามาแข่งขันกับบริษัทหลานนายกฯ ไม่ต่างอะไรกับ ‘บริษัททิพย์’ หรือเป็นบริษัทนอมินีสำหรับเป็นคู่เทียบยื่นเสนอราคาเท่านั้น
  • 10 โครงการที่บริษัทของปฐมพลชนะการประมูลนั้น แบ่งเป็นของกองทัพภาคที่ 3 จำนวน 9 โครงการ กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1 โครงการ โดยพบว่า การประมูลเหล่านี้มีพฤติการณ์สมยอมราคาหรือฮั้วประมูลถึง  6 โครงการ ส่วนอีก 4 โครงการ พบว่า บริษัทที่เข้ามาแข่งขันราคาคือบริษัทเดิมๆ ที่ใช้วิธี ‘สลับกันแพ้ สลับกันชนะ’ นำมาสู่ข้อสังเกตว่า นี่คือการแสดงละครตบตา 
  • โครงการที่ปฐมพลชนะประมูล พบว่า ราคาที่ชนะการประมูลต่ำกว่าราคากลางเพียงเล็กน้อย อีกทั้งผลต่างการเสนอราคา ห่างกันน้อยกว่า 1 % ทุกโครงการ 
หลานนายกฯ ‘นอมินี’ ทุนจีนสีเทา : จิราพร สินธุไพร พรรคเพื่อไทย
  • หลังมีการเปิดโปงกลุ่มทุนจีนสีเทา มีข้อมูลที่โยงใยไปถึง ปฐมพล หลานประยุทธ์จากกรณีที่เขาทำธุรกิจนำเข้ารถทัวร์ร่วมกับ ‘ตู้ห่าว’ ผู้ต้องหาคดีฟอกเงินและยาเสพติด
  • เริ่มต้นจาก กลุ่มทุนจีนสีเทา โดย นาย ห. (ชื่อย่อ) เจ้าของบริษัทแม๊กซิมัสออโต้ จำกัด (บริษัทนี้เปลี่ยนชื่อมาแล้วหลายครั้ง) ได้นำเข้ารถทัวร์หลายร้อยคัน ยี่ห้อ Sunlong จากจีนเข้ามาในไทย โดยปฐมพลได้เข้าไปตกลงธุรกิจโดยการซื้อรถทัวร์และทำสัญญาผ่อนส่ง (Leasing) กับบริษัทชื่อย่อ A ภายใต้ชื่อ ‘ห้างหุ้นส่วนจำกัด คอนเทมโพรารี คอนสตรัคชั่น’ ของปฐมพล
  • ภายหลังปฐมพลนำรถทัวร์ไปให้บริษัท เอ็มแอนด์เอ็ม ทรานสปอร์ต เซอร์วิส จำกัด ของนายสิทธิไพบูลย์ คำนิล ซึ่งเป็นพี่ชายของภรรยานายตู้ห่าวเช่าช่วงต่อ 
  • ที่จริงแล้ว กลุ่มทุนจีนของนาย ห. และนายตู้ห่าว สามารถทำธุรกิจด้วยกันโดยตรงได้ เพราะรู้จักมักคุ้นกันอยู่แล้ว ชาวจีน 2 รายนี้ได้สัญชาติไทยวันเดียวกัน ( 3 ธ.ค. 2557) พูดง่ายๆ ว่า  บริษัท เอ็มแอนด์เอ็มของนายตู้ห่าวสามารถเช่าซื้อรถทัวร์นำเข้าของนาย ห. ได้โดยตรง ไม่จำเป็นต้องมีหลานชายประยุทธ์ไปร่วมธุรกิจ แต่เหตุใดต้องดึงหลานนายกฯ มาร่วมลงทุนด้วย 
  • คำตอบคือ จากคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง คดีหมายเลขแดงที่ ภ228/2561 พิพากษาเมื่อปี 2563 รวมถึงคำพิพากษาของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 14528/2564 และคำพิพากษาของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 14529/2564 รวม 3 ฉบับ  ชี้ให้เห็นว่า บริษัท เบสท์รินกรุ๊ป จำกัด  (ปัจจุบันชื่อแม๊กซิมัสออโต้ ) และบริษัท ซุปเปอร์ซาร่า จำกัด  ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของนาย ห. เคยมีประวัติการนำเข้ารถทัวร์จากจีนโดยสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าที่มาเลเซีย เป็นข้อมูลเท็จเพื่อเลี่ยงภาษีจากความตกลงระหว่างประเทศอาเซียน
  • นาย ห. เคยมีประวัติเช่นนี้หลายครั้ง แต่พอมาทำธุรกิจกับ ปฐมพล กลับไม่พบปัญหาว่ามีการนำเข้ารถทัวร์โดยสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าเป็นเท็จอีกเลย คำถามคือ นาย ห. กลับใจมาทำธุรกิจถูกกฎหมาย หรือไม่มีใครกล้าแตะต้องตรวจสอบ
  • สรุปคือ นาย ห. ตู้ห่าว และปฐมพล จันทร์โอชา เป็นกลุ่มเครือข่ายที่ทำมาหากินร่วมกัน ดังนั้น เรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบว่า รถทัวร์ที่หลานชายนายกฯ ซื้อมานั้น นำเข้าโดยสำแดงถิ่นกำเนิดสินค้าถูกต้องหรือไม่ ชำระภาษีถูกต้องหรือไม่ 
  • บริษัทปฐมพล ก่อนหน้านี้รับงานจากภาครัฐมาร่วมพันล้านบาท แต่บริษัทกลับมีสถานะขาดทุน ข้อมูลจากปี 2563 ขาดทุนถึง 16.5 ล้านบาท ทั้งที่เป็นคู่สัญญาของรัฐต่อเนื่องถึง 8 ปี คำถามคือ บริษัทที่ขาดทุน เอาเงินจากไหนไปทำธุรกิจรถทัวร์ 
  • มีคนตั้งข้อสังเกตว่า นายตู้ห่าวคือคนจ่ายเงินให้หลานนายกฯ เป็นนอมินี เพื่อนำเงินไปจ่ายค่าดอกเบี้ยเงินผ่อนค่ารถทัวร์ ที่ใช้วิ่งในกิจการรถทัวร์จีน 
  • เมื่อหลานชายพลเอกประยุทธ์มีความสัมพันธ์กับทุนจีนสีเทา ดังนั้น ตามพ.ร.บ.ปราบปรามการฟอกเงิน มาตรา 5 หลานชายนายกฯ ย่อมเข้าข่ายโอนหรือรับโอนเงินจากนายตู้ห่าว และตามมาตรา 5 (3) ได้มา ครอบครอง หรือใช้ทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดของนายตู้ห่าวที่ทำการฟอกเงิน
ชี้แจง : ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
  • เรื่องการทุจริตผิดกฎหมายนั้น ไม่ควรนำตัวนายกฯ ไปโยงกับคนนั้นคนนี้ “ผมคือตัวผม คือครอบครัวผม ผมไม่เคยเอื้อประโยชน์ใคร” และย้ำว่าให้ไปตรวจสอบได้ตามกระบวนการ 
  • ส่วนเรื่องคดีต่างๆ ที่ได้อภิปรายมา มองว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ผู้บังคับบัญชาจะต้องกำกับดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ดีที่สุด “คนเรามีทั้งดีและคนไม่ดี ไม่ใช่ว่าเลวไปทั้งหมด ตำรวจใช้ไม่ได้ ทหารก็แย่ ก็ลองกลับมาย้อนดูตัวเองบ้างแล้วกัน” ขอให้เห็นใจตำรวจที่มีกำลังพลมากกว่า 200,000 นาย ทำงานดีๆ มีอีกเยอะ อย่างไรก็ตาม หากเจอใครพัวพันผลประโยชน์ให้แจ้งมา จะเรียกมาสอบทุกรายเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย และตนต้องรักษาศักดิ์ศรีของตำรวจดีๆ เอาไว้ 
‘ค่าน้ำชา’ ของปลัดมหาดไทย : ณัฐชา บุญไชยสวัสดิ์ พรรคก้าวไกล 
  • โครงการ ‘1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตรถนนพาราซอยล์’ เป็นโครงการสืบเนื่องมาจากรัฐบาล คสช. ในปี 2562 รัฐบาลอ้างว่าโครงการนี้จะช่วยทำให้ราคายางพาราดีขึ้น แต่หลังจากมีโครงการราคายางก็ไม่ได้ดีขึ้น แต่เงินในกระเป๋าของข้าราชการระดับสูงหลายคนเพิ่มขึ้น เอกชนผลประกอบการสูงขึ้น 
  • ราคายางในปี 2561 อยู่ที่ 42.74 บาท ปี 2562 อยู่ที่ 43.69 บาท ปี 2563 อยู่ที่ 44.74 บาท จนสิ้นสุดโครงการในปี 2564 ราคาก็ขึ้นมาแค่ 52 บาท แต่โครงการนี้ลงทุนไปนับพันล้านบาท 
  • โครงการนี้มีการตรวจสอบพบว่า มีความไม่ชอบมาพากล เพราะการยางแห่งประเทศไทยได้อนุมัติบริษัทที่ผ่านการรับรองสารเคมีซึ่งจำเป็นในการใช้ทำถนนพาราซอยล์เพียง 3 บริษัท ซึ่งสื่อขุดคุ้ยว่ามีผู้ถือหุ้นกลุ่มเดียวกัน มีที่อยู่ในซอยเดียวกัน และได้อภิปรายกันไปแล้ว
  • ภาคต่อเรื่องนี้เริ่มจากจุดเล็กๆ ของเพื่อนสนิท ระหว่างข้าราชการท้องถิ่น- ตัวแทนบริษัทค้าสารเคมี-ผู้รับเหมาทำถนนพาราซอยล์ที่ ซึ่งพันไปถึงผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย 
  • เรื่องเริ่มต้นจากตัวละคร 3 ตัวคือ  นาง พ. มีตำแหน่งเป็นรองปลัดเทศบาลอำนาจเจริญ ซึ่งมี นาย ช. เป็นสามีและเป็นตัวแทนบริษัทค้าสารเคมี และนางสาว ป. ผู้เป็นเพื่อนรักของทั้งคู่ มีอาชีพเป็นผู้รับเหมา 
  • พ. และ ช. ได้พูดคุยกับ ป. ว่า หากสนใจที่จะรับงานโครงการทำถนนพาราซอยล์ 7 จังหวัดในภาคอีสาน จะต้องจ่ายค่าน้ำร้อนน้ำชา 15% โดย 5% แบ่งไว้ให้ท้องถิ่น อีก 10% ต่อส่งให้ ‘นาย’ตัวละครเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ตัว คือ ‘นาย’ นายผู้นี้มีอักษรย่อว่า อสถ.  
  • ในไลน์การพูดคุยระหว่าง พ.กับผู้รับเหมา ป.นั้น พ.ได้แคปหน้าจอการพูดคุยของเธอกับ อสถ.มาโชว์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับ ป. ว่าสามารถฮั้วประมูลโครงการได้แน่นอน เพราะมี อสถ. ร่วมวงด้วย ภาพหน้าจอเป็นการพูดคุยว่า ‘ระเบียบใหม่’ กรณีงบเหลือจ่ายโครงการที่ไม่เกิน 10 ล้าน ไม่จำเป็นต้องผ่านมือ สตง. สามารถจบเรื่องได้ที่ อสถ. เลย
  • อสถ. มักมีข้อมูลเชิงลึกที่ส่งให้ พ. ตลอดเพื่อให้ พ. นำไปดำเนินการต่อกับผู้รับเหมา ป. แม้แต่เอกสารที่จะเป็นการโอนเปลี่นแปลงโครงการที่เพิ่งผ่านการสอบตรวจความถูกต้องของหนังสือภายในหน่วยงาน ยังไม่มีการรันเลขหนังสือก็ส่งถึงมือผู้รับเหมาแล้ว มีการย้ำด้วยว่า “รอเซ็นอยู่” เพื่อเรียกรับผลประโยนชน์
  • แต่เนื่องจากโครงการไม่ชอบมาพากล อสถ. จึงต้องปกป้องตัวเอง ส่งไลน์ไปบอก พ. ว่า หนังสือดังกล่าว ‘รองฯ ขจร’ จะเป็นคนเซ็นแทน และเมื่อเอกสารจริงออกมาก็เป็นไปตามนั้น ลงนามโดย ‘รองฯ ขจร’ ซึ่งเป็นการลงนามแทนอธิบดีกรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 
  • เอกสารที่ออกมาเป็นการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณ 1,870 ล้านบาท ในส่วนที่ผู้รับเหมา ป. ได้ไปมีทั้งหมด 7 จังหวัด รวม 55 โครงการ แต่ละโครงการมีมูลค่า 9 ล้านบาทเศษ ขาดอีกพันเดียวจะถึง 10 ล้านก็มี รวมแล้วเป็นเงิน 394 ล้านบาท 
  • จากนั้นมีการส่งเลขบัญชีของนาย ช. โดยมีการโอนเงินกันต่อเนื่องหลายวัน เพราะวันหนึ่งไม่สามารถโอนเงินได้เกิน 2 ล้าน ยอดการโอนรวมทั้งสิ้น 39 ล้านบาท
  • หลังจากนั้นเหตุการณ์เริ่มชลมุน เนื่องจากมีการอภิปรายเปิดโปงในสภาเสียก่อนว่า มีการฮั้วประมูลระหว่างการยางฯ กับบริษัทค้าสารเคมี การยางฯ จึงร้อนตัวให้การรับรองบริษัทค้าสารเคมีเพิ่มอีก 20 บริษัท จากตลาดผูกขาดที่คิดว่าจะล็อคสเปคกันได้ง่าย กลายเป็นคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น ทำให้เริ่มเกิดความไม่ไว้ใจกัน
  • มีการเขียนเช็คจากโรงจำนำชวนชมซึ่งเป็นธุรกิจของ นาง พ. ส่งให้ผู้รับเหมา ป. จำนวน 27 ล้านบาท โดยระบุว่าหากไม่ได้งาน ให้นำเช็คไปขึ้นเงินได้เลย แต่สุดท้ายก็ได้โครงการไม่ครบตามที่จ่ายค่าน้ำชาไป ผู้รับเหมา ป.จึงได้เอาเช็คไปขึ้นเงิน แต่ปรากฏว่าเช็คเด้งทุกใบ 
  • เมื่อเช็คเด้งจึงกลายเป็นความบาดหมางระหว่างเพื่อน นายใหญ่ อสถ. ออกโรงโทรตรงไปหาผู้รับเหมา ป. โดยเป็นเบอร์โทรเดียวกันกับที่โชว์อยู่ในเว็บไซต์ของกระทรวงมหาดไทย มีการพูดคุยกัน 5 นาที สรุปใจความได้ว่าจะเคลียร์ยอดเงิน 27 ล้านให้เอง และขอให้ยุติปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเสีย จะหางานใหม่ให้และจะส่งคนใหม่ไปพูดคุยด้วย
  • ตัวละครใหม่ที่จะเข้าไปเคลียร์ ใช้ชื่อไลน์ว่า ‘ณัฐพร โตประยูร’ มีการส่งรูปตัวเองที่เห็นหน้าชัดเจนไปให้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือด้วย แต่ผู้รับเหมา ป.ปฏิเสธที่จะคุยด้วย 
  • เมื่อพบความไม่ชอบมาพากล กระทรวงมหาดไทยทำการตรวจสอบกันภายใน ปรากฏออกมาว่า นาง พ. ถูกตัดสินว่าทำผิดวินัยชั่วร้ายแรง แต่ อสถ.กลับไม่มีความผิดใดๆ 
  • ในขณะที่เรื่องแดงแบบนี้ ต้องถาม รมว.มหาดไทยว่าเรื่องนี้มันคืออะไร เพราะคนที่ถูกฟันว่าผิดวินัยชั่วร้ายแรง จากรองปลัดเทศบาลกลับให้ขึ้นเป็นปลัดเทศบาลบ้างแก้ว จ.สมุทปราการ และล่าสุด นาง.พ ถูกย้ายไปช่วยราชการที่จังหวัดอำนาจเจริญอีกครั้ง ส่วนรองอธิบดีที่ลงนามในหนังสือให้ผู้รับเหมาก็ได้รับ ‘การลงโทษ’ ให้เลื่อนเป็นอธิบดีในปัจจุบัน 
  • ส่วนอธิบดีหรือ อสถ. ที่เป็นตัวละครหลักของเรื่องถูก ‘ลงโทษขั้นร้ายแรง’ ให้ขึ้นเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย 
ชี้แจง : อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
  • ช่วงเวลานั้นรัฐบาลมีเจตนาที่จะทำให้ราคากลับมามีราคาที่ดีขึ้น จึงได้คิดแนวทางที่จะนำยางมาใช้ในโครงการต่างๆ ส่วนกรณีกล่าวหาว่ามีการฮั้วการออกใบรับรองให้บริษัทค้าสารเคมีนั้น ทางการยางแห่งประเทศไทยได้ชี้แจงไปแล้วว่ามีการทยอยรับรอง ไม่ได้ให้ผูกขาด 
  • ส่วนเรื่องที่มีการร้องเรียนว่ามีการจ่ายเงินค่าฮั้วประมูลโครงการ แต่ไม่ได้รับงานตามที่ตกลงไว้  ทางกระทรวงมหาดไทยได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง สรุปว่า รองปลัดเทศบาลจังหวัดอำนาจเจริญกับสามี มีความผิดจริงและกระทรวงก็ไม่ได้ปิดบัง 
  • กรณีที่บอกว่าเมื่อมหาดไทยลงโทษด้วยการเลื่อนขั้นให้นั้น คนที่เลื่อนขั้นให้ก็ต้องมีโทษด้วย ขอให้มั่นใจได้ว่า ใครที่ทำพิเรนทร์ ประชาชนจะได้เห็นคนรับผิดชอบ 
  • มีการพูดถึงตัวปลัดคนปัจจุบัน ในช่วงนั้นนาย สุทธิพงษ์ จุลเจริญ ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ในชั้นนี้ยังไม่ปรากฏหลักฐานเชื่อมโยงจึงยุติเรื่อง และการแต่งปลัดก็เป็นการแต่งตั้งตามระเบียบ เพราะเรื่องในขณะนั้นยังไม่ปรากฏหลักฐาน ขั้นตอนการแต่งตั้งก็ดำเนินไป หากตอนนี้มีข้อมูลตามที่อภิปรายก็สามารถส่งข้อมูลมาได้ จะมีการดำเนินการตรวจสอบลงโทษทางวินัย ส่วนในทางอาญาก็จะมีการดำเนินการร้องเรียนต่อ ปปช.ต่อไป
  • ส่วนการที่ปลัดแต่งตั้งรองอธิบดีขึ้นเป็นอธิบดี ก็ถือว่าเป็นอำนาจของปลัด ไม่ใช่อำนาจของรัฐมนตรี ถ้ารัฐมนตรีไปแต่งตั้งเองถือว่าทำผิดกฎหมายทันที และหากมีการตรวจสอบแล้วว่าการแต่งตั้งนั้นไม่ถูกต้อง คนที่แต่งตั้งก็มีความผิดด้วย
ขบวนการทุจริต E-Bidding : มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ พรรคไทยศิวิไลซ์
  • ปี 2559 หลังมีการเปิดใช้ระบบ E-Bidding (อี-บิดดิ้ง) เพื่อแก้ปัญหาการฮั้วประมูลในระบบ E-Auction (อี-อ๊อกชั่น)  โดยกรมบัญชีกลางได้ซื้อระบบมาจากบริษัท Professional Computer ซึ่งเป็นบริษัทลูกของล็อกซเล่ย์ ดังนั้น ผู้ที่จะมีรหัสของระบบอี-บิดดิ้งคือบริษัทและเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง หรืออธิบดีกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นลูกน้องของอาคม เติมพิทยาไพสิฐ  รมว.คลัง และ สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง
  • ปี 2563 มีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอยู่ที่ 1.37 ล้านล้านบาท เกือบ 5 ล้านโครงการ ปี 2564  1.41 ล้านล้านบาท ปี 2565 (ครึ่งปีงบประมาณ) อยู่ที่ 8.55 แสนล้านบาท  
  • ระบบนี้มีปัญหาการคอร์รัปชั่นรวมศูนย์ ยกตัวอย่างการประมูลงานที่จังหวัดบุรีรัมย์ พบว่า การก่อสร้างถนนลาดยางคอนกรีตแอสฟัลท์ที่ตำบลบัวทอง มูลค่าไม่เกิน 2 ล้านบาท มีบริษัทมาประมูลซื้อแบบกว่า 100 เจ้า แต่มีการเคาะราคาเพียง 2 ราย และโครงการมีลักษณะนี้อีกมาก
  • ประเด็นคือ มีเจ้าหน้าที่ของกรมบัญชีกลาง รู้เห็นเป็นใจ ‘ขายรายชื่อ-เบอรโทรผู้ซื้่อแบบประมูล’ เพื่อให้มีการติดต่อสื่อสารและเจรจาก่อนวันสุดท้ายของการซื้อแบบ และมีการเรียกรับเงินราว 1.8 % ของวงเงินโครงการนั้น 
  • ถ้าการทุจริตอยู่ที่ 1.8 % คำนวณได้ว่า งบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐปี 2563 มีการทุจริตอยู่ที่ 24,754 ล้านบาท ปี 2564  มีการทุริตอยู่ที่ 25,447 ล้านบาท ปี 2565  มีการทุริตอยู่ที่ 15,390 ล้านบาท
  • ขบวนการทุจริต อี-บิดดิ้ง แบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม คือ
  • 1. เอกชนรับงานจาก อบจ.-อบต.-เทศบาล-
  • 2. เอกชนรับงานจากจังหวัดและกลุ่มจังหวัด
  • 3. เอกชนรับงานกระทรวงคมนาคม อาทิ กรมทางหลวง ทางหลวงชนบท-รฟท.ฯ
  • 4. เอกชนรับงานจากกระทรวงเกษตรฯ อาทิ กรมชล-กรมต่างๆ
  • 5. เอกชนรับงานจากกระทรวง ทบวง กรมอื่นๆ แม้แต่ สตง. ป.ป.ช.

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่