CIVICUS องค์กรด้านสิทธิพลเมืองสากล ซึ่งคอยจับตาสถานการณ์สิทธิขั้นพื้นฐานในทั่วโลก ออกมาระบุว่า สถานการณ์สิทธิและเสรีภาพในกัมพูชากำลังตกต่ำลงในระดับน่ากังวล หลังจากทางภาครัฐใช้ระบบกฎหมาย และดำเนินคดีกลุ่มองค์กรสิทธิมนุษยชน กิจกรรมของคนรุ่นใหม่ สหกรณ์การค้า สื่ออิสระ นักการเมืองฝ่ายค้าน และผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของ ฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา
ปัจจุบันนี้ ฮุนเซนรวบอำนาจและปกครองกัมพูชาด้วยกำปั้นเหล็ก เป็นเวลามายาวนานเกือบ 40 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านี้ ฮุนเซนได้ใช้การระบาดของโควิด-19 ในการประกาศสภาวะฉุกเฉิน เพื่อการจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองกัมพูชา
“การใช้ระบบยุติธรรมทางอาญาในทางที่ผิด เพื่อคุกคามและดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักสหภาพแรงงาน และผู้สื่อข่าว และการปิดสื่อต่างๆ ตอกย้ำให้เห็นถึงความถดถอยทางประชาธิปไตยในกัมพูชา” CIVICUS กล่าวในรายงานของประเทศกัมพูชาที่เผยแพร่ในวันนี้ (16 ก.พ.) CIVICUS ระบุว่า ฮุนเซนมีการ “ควบคุมดูแลการโจมตีอย่างเป็นระบบ ต่อเสรีภาพขั้นพื้นฐานในกัมพูชาในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา” และในขณะนี้ กัมพูชาถูกจัดให้อยู่ในรายชื่อประเทศที่ “กดขี่” พร้อมกันกับประเทศฮื่นๆ เช่น อิหร่าน ซูดาน ซิมบับเว และเปรู
“นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวชาวกัมพูชา ยังคงเผชิญกับการกดขี่” CIVICUS ซึ่งติดตามสถานการณ์เสรีภาพพลเมืองใน 197 ประเทศและดินแดนกล่าว พร้อมระบุว่า “เสรีภาพสื่อยังคงตกอยู่ในความเสี่ยงที่กัมพูชา โดยสถานีวิทยุและหนังสือพิมพ์ถูกปิดปาก ห้องข่าวถูกกวาดล้าง และผู้สื่อข่าวถูกดำเนินคดี ปล่อยให้ภาคสื่ออิสระเสียหาย”
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (13 ก.พ.) ฮุนเซน สั่งปิดสำนักข่าวอิสระแห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ในกัมพูชาอย่าง Voice of Democracy (VOD) หลังจากสื่อดังกล่าวรายงานเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ ฮุนมาเนต บุตรชายและทายาทของนายกรัฐมนตรีกัมพูชา โดยฮุนเซนกล่าวว่าเรื่องราวการให้ความช่วยเหลือแก่ตุรกี ที่ประสบภัยแผ่นดินไหวเป็นการรายงานที่บิดเบือนข้อเท็จจริง และเขาเรียกร้องให้สำนักข่าวออกมาแสดงความขอโทษ
แต่แม้จะได้รับคำขอโทษจากสำนักข่าว ฮุนเซนยังคงสั่งปิดสถานี VOD อยู่ดี ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปในกัมพูชาแสดงความกังวลต่อการปิด VOD ของฮุนเซน เช่นเดียวกับออสเตรเลีย แคนาดา สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ
เน็ด ไพรซ์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ แถลงเมื่อวันจันทร์ว่า การตัดสินใจปิดองค์กรข่าว “น่าหนักใจเป็นพิเศษ เนื่องจากผลกระทบจะมีต่อเสรีภาพในการแสดงออก และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารก่อนการเลือกตั้งระดับชาติในเดือน ก.ค.” โดยเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (14 ก.พ.) ฮุนเซนตอบโต้ข้อวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติเกี่ยวกับการปิด VOD โดยฮุนเซนเตือนไม่ให้นานาชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในของกัมพูชา
ในขณะเดียวกัน กระทรวงต่างประเทศของกัมพูชาแสดงความเห็นว่า การปิดองค์กรข่าวอย่าง VOD ที่ “ฝ่าฝืนกฎ” นั้น “ไม่สมควรแก่การเกิดข้อกังวลแต่อย่างใด” และกล่าวหานักการทูตต่างประเทศที่แสดงความกังวลว่า “มีแรงจูงใจทางการเมือง เลือกปฏิบัติ และมีอคติ”
โจเซฟ เบเนดิกต์ นักวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ CIVICUS กล่าวว่า การใช้ระบบยุติธรรมทางอาญาในทางที่ผิด และ “การโจมตีพื้นที่พลเมืองในประเทศอย่างเป็นระบบ” ถือเป็นการละเมิดพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของกัมพูชา ด้วยจำนวนนักโทษการเมืองมากกว่า 50 คนในคุก และผู้นำพรรคฝ่ายค้านและผู้สนับสนุนมากกว่า 150 คนที่ตกเป็นเป้าของการดำเนินคดี ที่มีแรงจูงใจทางการเมือง CIVICUS กล่าวอีกว่ามี “ข้อกังวลร้ายแรงเกี่ยวกับบรรยากาศการปราบปรามฝ่ายค้านที่ทวีความรุนแรงขึ้น” ก่อนการเลือกตั้งระดับชาติของกัมพูชาในเดือน ก.ค.นี้
ในรายงานสถานการณ์สิทธิของ CIVICUS ทางองค์กรได้เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชายกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมด ต่อผู้ที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการชุมนุม การสมาคม และการแสดงออก และยุติการพิจารณาคดีจำนวนมาก การจับกุมโดยพลการ ความรุนแรง การคุกคาม และการข่มขู่ ซึ่งพุ่งเป้าตรงไปที่ฝ่ายค้านทางการเมืองของกัมพูชา CIVICUS กล่าวอีกว่า ผู้สื่อข่าวจำเป็นต้องได้รับการปกป้องจากการข่มขู่ และได้รับอนุญาตให้ “ทำงานได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องกลัวการตอบโต้สำหรับการแสดงความคิดเห็นเชิงวิพากษ์วิจารณ์ หรือจากการเปิดโปงการละเมิดของรัฐบาล”
CIVICUS ยังได้เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศ ผ่านทางคณะผู้แทนทางการทูตและผู้แทนในกัมพูชา ที่จะกดดันรัฐบาลกัมพูชาให้ปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐานของพลเมือง และแสดงความกังวลระหว่างประเทศในทางสาธารณะ เกี่ยวกับสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นในกัมพูชา รวมถึงการแจ้งข้อกังวลต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และขอให้ “เริ่มการดำเนินการของคณะมนตรีที่จะเข้มแข็งแกร่งขึ้นตามกำหนด”
ที่มา: