วันนี้ (21 ก.พ.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีนัดประชุม ปรึกษาหารือ และลงมติ คำร้องของ กกต. ที่ขอให้วินิจฉัยเพื่อให้เกิดความขัดเจน กรณี การนำจำนวนราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคิดคำนวณจำนวน ส.ส.ที่แต่ละจังหวัดพึงมี เพื่อแบ่งเขตเลือกตั้ง คาดว่า หากมีมติชี้ขาดข้อสรุปศาลจะออกเอกสารข่าวแจ้งให้ทราบ
แนวทางการชี้ขาดมี 2 แนวทาง คือ 1.การดำเนินการของ กกต.ในเบื้องต้น ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว การจัดการเลือกตั้งที่เตรียมไว้ก็เดินหน้าต่อ หรือ 2.ศาลชี้ว่าไม่สามารถนำคนที่ไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดและแบ่งเขตเลือกตั้งได้ กกต.ก็ต้องดำเนินการใหม่ในการคำนวณจำนวน ส.ส.แต่ละจังหวัดและการแบ่งเขตเลือกตั้ง
เพื่อไม่ให้ไทม์ไลน์จัดการเลือกตั้งสะดุดลง เมื่อวานนี้ (20 ก.พ.66) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประชุมเคาะการแบ่งเขตเลือกตั้งรายจังหวัดไปพลางก่อน จากทั้งหมด 400 เขตเลือกตั้ง และคาดว่าจะแล้วเสร็จปลาย ก.พ.นี้หรือไม่ ก็ต้นเดือน มี.ค.ซึ่งแหล่งข่าวในสำนักงาน กกต.ยืนยันไม่กระทบกับการจัดการเลือกตั้งแน่นอน
ล่าสุด ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง กกต.กรณีให้วินิจฉัย การนับคนที่ไม่มีสัญชาติไทย มาคำนวณ จำนวน ส.ส.เขต และการแบ่งเขตเลือกตั้งหรือไม่ นัดประชุมอภิปรายและลงมติ 3 มี.ค.นี้
มีรายงานว่า สำนักงาน กกต.ได้เตรียมแผนรองรับ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแล้วทุกทาง ทั้งแนวทางเดิมที่นับจำนวนราษฎรที่ไม่ได้สัญชาติไทย หรือ ยึดการแบ่งเขต 400 เขตตามเดิมกับแนวทางที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจชี้ขาดไม่นับราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยมาเป็นราษฎรในการคำนวณแบ่งเขตเลือกตั้ง
สำนักงาน กกต.แจ้งให้ กกต.แต่ละจังหวัดดำเนินการแผนรองรับในการคำนวณใหม่ เพราะหากศาลชี้ว่าไม่ให้นับราษฎรที่ไม่ใช่สัญชาติไทยก็จะมีผลกระทบต่อจำนวนราษฎรที่แบ่งเขตไว้ร้อยละ 10 ซึ่งจะทำให้มี 8 จังหวัดมีความเปลี่ยนแปลง คือ 4 จังหวัดที่มีจำนวน ส.ส.ลดลง ประกอบไปด้วย
1.ตาก, 2.เชียงราย , 3.เชียงใหม่ และ 4.สมุทรสาคร ส่วนจังหวัดที่จำนวน ส.ส.เพิ่ม คือ 1.อุดรธานี ,2.ลพบุรี ,3.นครศรีธรรมราช
และ 4.ปัตตานี
จากการคำนวณโดยนำเฉพาะจำนวนราษฎรสัญชาติไทยทั้งชายและหญิงทั่วประเทศ จำนวน 65,106,481 คน หารด้วย 400 เขต จะมีค่าเฉลี่ยประชากรต่อ 1 เขต อยู่ที่ 162,766 คน ซึ่งเดิมค่าเฉลี่ยที่นับรวมราษฎรที่นับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยด้วยคือ 165,226 คนต่อเขต