‘ตะวัน-แบม’ เตรียมขอประธานศาลฎีกา เข้าไปอดอาหารประท้วงต่อในรั้วศาล หลังทนายได้รับสายปริศนาโทรมาข่มขู่-เพื่อนนักกิจกรรมถูกคุกคามโดยกลุ่มเห็นต่าง
วันที่ 26 ก.พ. เวลา 16:00 น. กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายความของ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม อรวรรณ ภู่พงษ์ 2 นักกิจกรรมอิสระ ที่เดินทางมาอดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของนักโทษทางการเมือง ด้านหน้าศาลฎีกา ถนนราชดำเนิน เป็นวันที่ 3 ว่า ในตอนนี้ทั้งสองไม่สามารถออกมาแถลงข่าวด้วยตนเองได้ เนื่องจากสภาพร่างกายอ่อนแอมาก และจำเป็นต้องพักผ่อน
สำหรับอาการของทั้งสอง กฤษฎางค์ กล่าวว่า ในตอนนี้ทั้งคู่มีสภาพร่างกายผอมแห้งและไม่มีเรี่ยวแรง ที่อยู่ได้เพราะได้รับสารอาหารผ่านทางน้ำเกลือ หลังอดอาหารมาตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. จนถึงตอนนี้รวมแล้ว 38 วัน แพทย์จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จึงมีความเห็นว่า ควรส่งตัว ทานตะวัน และ แบม กลับเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลโดยทันที เนื่องจากตอนนี้ ไม่สามารถรับประทานอาหารตามปกติได้ และร่างกายรับสารอาหารผ่านทางน้ำเกลือได้น้อยลง เลือดมีความเป็นกรดสูง เพราะร่างกายย่อยสลายไขมันตัวเองออกมา บวกกับสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่ไม่สะดวก มีความเสี่ยงที่แผลจะติดเชื้อ รวมถึงกระแสเลือดด้วย
ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับทั้งสอง ได้รับการยืนยันว่า จะเดินหน้าอดอาหารต่อไป ปฏิเสธเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล และจะอดอาหารอยู่ที่หน้าศาลฎีกาต่อตามอุดมการณ์ที่ตั้งใจไว้ หลังทราบข่าวว่า ถิรนัย และ ชัยพร จากกลุ่มทะลุแก๊ส ถูกศาลชั้นต้นสั่งจำคุก 3 ปี คดีครอบครองระเบิดปิงปอง ไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อเช้านี้ ส่วน คทาธร จากกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้ถูกกล่าวหาอีก 1 คน ในคดีเดียวกัน ศาลอยู่ระหว่างสืบเสาะเงื่อนไขในการให้ประกันตัว
โดย ตะวัน และ แบม ให้เหตุผลประกอบการตัดสินใจว่า สิ่งที่พวกตนทำไม่ใช่แค่ต้องการให้ปล่อยตัวนักโทษคดีการเมือง แต่ต้องการเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมอยู่บนหลักการที่ถูกต้อง คือ ผู้ถูกกล่าวหาคดีอาญาให้ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ดังนั้น ในวันพรุ่งนี้ (27 ก.พ.) ทั้งคู่จะดำเนินการยื่นหนังสือต่อประธานศาลฎีกา เพื่อเข้าไปอดอาหารประท้วงอยู่ที่ลานพระอนุสาวรีย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งอยู่ภายรั้วของศาลฎีกา ด้วยเหตุผลว่า
1. การทำงานในวันและเวลาราชการ ผู้คนจะสัญจรเข้า-ออกศาลฎีกา อาจจะไม่ได้รับความสะดวก และเพื่อไม่ให้เป็นการกีดขวางการจราจร
2. ในช่วงสองวันที่ผ่านมา ตนได้รับสายโทรศัพท์มาข่มขู่ บอกให้นักกิจกรรมทั้งสองระวังตัว จึงกังวลในเรื่องความปลอดภัย รวมไปถึงมีตำรวจนอกเครื่องแบบติดตามถ่ายภาพ และมีผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์แต่งกายคล้ายกลุ่มเห็นต่างทางการเมืองเข้ามาก่อกวนนักกิจกรรมและมวลชนที่ปักหลักหน้าศาลฎีกาด้วย
3. พื้นที่ศาลฎีกา เป็นอนุสรณ์สถานแห่งการต่อสู้ของเยาวชนนิสิตนักศึกษาเพื่อปลดปล่อยศาลจากอำนาจเผด็จการทรราช จอมพลถนอม กิตติขจร และ จอมพลประภาส จารุเสถียร เมื่อปี 2515 หลังมีการออก “ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299” มีเนื้อหาให้อำนาจฝ่ายบริหารมีอำนาจเข้าไปโยกย้ายเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของผู้พิพากษา และแทรกแซงการพิจารณาคดีของผู้พิพากษา ซึ่งเด็กเมื่อ 50 ปีที่แล้วได้ต่อสู้กับเผด็จการทหาร เพื่อความเป็นอิสระของตุลาการ จนได้รับชัยชนะ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า บรรยากาศด้านหน้าศาลฎีกา มี เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล เดินทางมามอบดอกทานตะวันให้กำลังใจนักกิจกรรม พร้อมทั้ง โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือ เก็ท และมวลชนจำนวนหนึ่งมาร่วมรับฟังการแถลงข่าวดังกล่าว จากนั้น ในเวลา 17.30 น. จะมีการยืนหยุดขัง โดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้กับผู้ต้องหาทางการเมือง 3 ราย ที่ยังถูกคุมขังในเรือนจำด้วย