“โพล” เป็นการวิจัยชนิดหนึ่ง เป็นการสำรวจทัศนคติ ความพึงพอใจ ความคาดหวัง ความต้องการ หรือไม่ต้องการ ของประชาชนในเรื่องหนึ่งเรื่องใด ณ ช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง
ผลการสำรวจหรือผลโพล จะเป็นสิ่งสะท้อน ว่า ประชาชนมีความรู้สึกต่อสถานการณ์นั้นอย่างไร คิดอย่างไร หรือสะท้อนอะไร ซึ่งเรื่องที่จะทำโพลได้ จะต้องเป็นเรื่องที่ประชาชนรับรู้เป็นอย่างดี
และโพลที่คนรู้จักมากที่สุด มักจะเป็นโพลการเมือง ที่ทำขึ้นจากสถาบันการศึกษา หรือองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือ
โพลกับการเมือง
นายสังคม คุณคุณากรสกุล นักวิชาการด้านการทำโพล เปิดเผยกับไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า โพลการเมืองมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ โพลเปิด และ โพลปิด
“โพลแบบเปิด” เป็นการสำรวจความคิดเห็นประชาชน ที่จำเป็นต้องสำรวจให้ได้ข้อมูลเชิงลึก และ กว้างที่สุดในเรื่องนั้น และนำเสนอในลักษณะของภาพรวม ข้อสรุป ในสิ่งที่ประชาชนอยากรู้เพียงบางส่วน แต่สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรกับตัวแปรอาจจะไม่เปิดเผย
“โพลแบบปิด” มี 2 สถานะ คือ ผู้จ้างทำโพล อาจเปิดเผยข้อมูลในโพลนั้นไม่หมด เลือกเผยแพร่เฉพาะในส่วนที่ประชาชนสนใจเพื่อตอบสนองความรู้ความเข้าใจ ณ ขณะนั้น
และ โพลที่ไม่เปิดเผยข้อมูลเลย ซึ่งมีเพียงเฉพาะผู้ที่ว่าจ้างให้ทำโพลเท่านั้นที่จะได้รับรู้ผลโพลนั้น ส่วนใหญ่ผู้ที่ว่าจ้างให้ทำโพลในลักษณะนี้คือพรรคการเมือง เป็นการสำรวจการรับรู้และพฤติกรรมที่จะมีต่อฐานคะแนนของพรรค หรือผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งข้อมูลที่ได้นั้นใช้สำหรับเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนพรรคการเมือง
กลุ่มที่ทำโพลการเมือง
1.กลุ่มภาควิชาการอิสระ จะมีสำนักโพลที่เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยของรัฐ รวมถึงบริษัทเอกชน ที่จะทำโพลเพื่อตอบสนอง เรียกว่า ”โพลหลัก” ซึ่งจะเก็บข้อมูลที่บอกได้ว่าตอนนี้การเมืองสนใจอะไร และมีความรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนั้นๆ และประชาชนสามารถรับรู้สาธารณะ
2.กลุ่มที่ทำงานทางการเมือง พรรคการเมือง ทำโพลเพื่อดูฐานเสียง ที่จะบอกได้ว่า จะเลือกผู้สมัครคนใดลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นโพลที่หัวหน้าพรรคจะรับรู้ข้อมูลได้เพียงคนเดียว แต่ถ้าเกิดกรณีที่พรรคการเมืองเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ก็จะเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบ แต่ถ้าไม่เป็นด้านลบต่อตนเองก็จะไม่เผยแพร่
3.กลุ่มที่ทำงานทางการเมือง นักการเมือง หรือ ผู้ที่จะลงสมัครลงเลือกตั้ง การทำโพลประเภทนี้ เพื่อจะบอกว่า ตัวเองมีความพร้อมที่จะชนะการเลือกตั้งหรือไม่ หรือคะแนนเสียงมีโอกาสแพ้หรือชนะมากน้อยแค่ไหน และจะแก้ไขอย่างไร
ส่วนโพลของผู้สมัครลงเลือกตั้ง หรือ สมัคร ส.ส. ที่ต้องการรับเงินสนับสนุนจากพรรคการเมืองมีหน้าที่ส่งให้พรรคการเมือง เพื่อจะต้องขอทุนสนับสนุนในการสู้ต่อทางการเมือง
โพลกับกลุ่มตัวอย่าง
นายสังคม กล่าวว่า กลุ่มตัวอย่างในทางวิจัยจะดูว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่เป็นตัวแทนของประชากรที่ตอบคำถามแล้วสามารถไปเทียบเคียงกับกลุ่มประชากรได้
poll base หรือ ฐานการสำรวจความคิดเห็น คือคนที่จะตอบคำถามแทนคนที่จะอยู่ในกลุ่มเดียวกันได้ จึงเป็นความลับ ของสำนักโพลทุกสำนัก ถ้าคนทำโพลรายใดมีความแม่นยำ แสดงให้เห็นถึงมี poll base ที่แข็งแรงรวมถึงประสบการณ์ที่ยาวนาน
การสุ่มตัวอย่างประชากร ไม่ได้เกิดขึ้นมาลอยๆ มีการสุ่มแบบชั้นภูมิคือกำหนดว่าประเทศนี้มีทั้งหมดกี่คน จากประเทศแบ่งเป็นภาค จากภาคแบ่งเป็นจังหวัด เพศหญิงชาย อายุ เพื่อจะเป็นตัวแทนของประชากรโดยรวม
การลงพื้นที่โดยตรงจะได้กลุ่มตัวอย่างที่ดีที่สุด ส่วนการสุ่มตัวอย่างทางโทรศัพท์บางครั้งอาจคุมสภาพพื้นที่ไม่ได้ เพราะการสุ่มตัวอย่างจะได้แค่คนที่มีโทรศัพท์แต่จะเข้าไม่ถึงพื้นที่นั้นๆ
สำหรับการตอนแบบสอบถามแบบออนไลน์นั้น อาจมีการ dumping คือการเทข้อมูล ได้ง่าย และจะส่งผลจะทำให้ข้อมูลผิดเพี้ยน และ error
โพลกับการเลือกตั้ง
การเฟ้นหาผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะทำโพลเพื่อให้ได้ทราบว่าบุคคลนั้นมีความนิยมขนาดไหนในพื้นที่นั้น เหมาะสมที่จะส่งลงเลือกตั้งหรือไม่ ซึ่งจะใช้ทฤษฎีการรับรู้ของประชาชน สิ่งที่รับรู้คือมีประชาชนรู้จักหรือไม่ เป็นต้น
จากนั้นจะใช้ทฤษฎีการใช้ประโยชน์ โดยดูว่าคนนั้นเคยทำประโยชน์อะไรให้กับพื้นที่นั้นๆ พรรคการเมืองก็จะเชิญบุคคลที่ประชาชนชื่นชอบเข้าร่วมพรรคการเมือง และเช่นเดียวกันก็ต้องปล่อยบางบุคคลให้ไปสู่พรรคอื่น
โพลคัดสรรคนมาเข้าสู่พรรคการเมือง พรรคการเมืองจะดูกระแส และน้ำหนักของแต่ละคนที่จะลงเลือกตั้ง
ระยะแรก ก่อนที่จะประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง จะต้องดูกระแสก่อนว่า กระแสของนักการเมืองแต่ละคน มีโอกาสที่จะชนะการเลือกตั้งเพื่อที่จะคัดนักการเมืองเหล่านี้มาเป็น ส.ส. ของพรรคการเมือง แต่เมื่อประกาศ พ.ร.ฏ.เลือกตั้งแล้ว ผู้สมัคร ส.ส. คนนั้นไม่เข้าพรรคการเมือง พรรคการเมืองก็จะทำการเฟ้นหาผู้สมัครคนที่มีความนิยมลำดับถัดไป
ระยะที่สอง ว่าด้วยการทดสอบนโยบายทางการเมือง นโยบายแต่ละนโยบายที่ออกมาต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งมาจากโพลการเมือง แต่บอกในลักษณะที่ว่าประชาชนต้องการอะไร และสร้างสรรค์วลีคำนั้นขึ้นมาให้เป็นคำฮิต เข้าใจง่าย ที่สามารถอธิบายกับชาวบ้านได้
เช่น ชาวบ้านมีปัญหาเรื่องสาธารณสุข พรรคการเมืองก็ใช้คำ 30 บาทรักษาทุกโรค หรือ ชาวบ้านผลผลิตตกต่ำ ก็เกิดการประกับรายได้ขึ้นมา เป็นการแปลงจากความต้องการของภาคประชาชนให้ออกมาเป็นวลีทางการเมืองนำไปสู่นโยบายพรรค
เมื่อได้นโยบายมาแล้วก็นำไปทดสอบว่า นโยบายนี้เทียบเคียงกับคนอื่น ประชาชนชอบนโยบายไหน พรรคการเมืองก็จะมาปรับนโยบายของตนเองให้ตรงกับความต้องการของประชาชน
ระยะที่สามเข้าสู่ช่วงโรมรันพันตู ซึ่งจะเห็นการลดแลกแจกแถมทางการเมืองที่จะทำให้ประชาชนสนใจ ซึ่งส่วนนี้นักการตลาดก็จะเข้ามา
ถ้าหลักแนวคิดแบบสังคมวิทยาการเมืองจะต้องดูถึงหัวคะแนน เครือข่าย ภาพลักษณ์ทางการเมืองที่มี เพื่อที่จะรู้ผลในพื้นที่นั้นว่าจะมีคนที่จะเลือกผู้สมัครคนดังกล่าวกี่คน ไม่เลือกกี่เปอร์เซ็นต์ และกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจกี่เปอร์เซ็นต์ สังคมวิทยาการเมืองจะการออกแบบโพลมาเพื่อให้คนที่อยู่ตรงกลางนั้นหันมาเลือกผู้สมัครพรรคนั้น
โพลกับพรรคการเมือง
โพลเป็นส่วนหนึ่งของการประชาสัมพันธ์ทางการเมือง หรือการตลาด การประชาสัมพันธ์ การรับรู้การประชาสัมพันธ์จึงเป็นส่วนหนึ่งของพรรคการเมืองนั้น
ปัจจุบันการเมืองไทย ถูกครอบงำด้วยศาสตร์การตลาดทางการเมือง มอง ส.ส. เป็นเสมือนสินค้าชนิดหนึ่ง ที่ควรจะโปรโมตอย่างไร
นายสังคม มองว่า อุดมการณ์ทางการเมือง คือการประดิดประดอยถ้อยคำที่สละสลวยและเป็นถ้อยคำที่ประชาชนอยากได้ยิน ฉะนั้น ณ วันนี้ประชาชนอยากได้ยินสิ่งใด นักการเมืองจะรังสรรค์ถ้อยคำเพื่อตอบสนองประชาชน ณ เวลานั้น เมื่อ ส.ส. เข้าไปอยู่พรรคใด ก็จะปรับตัวให้เข้ากับพรรคการเมืองนั้น เพราะตัว ส.ส. เองได้รับการสนับสนุนทางการเมืองเปิดโอกาสให้ลงพรรคการเมือง ฉะนั้นต้องไปตอบสนองกับคนที่เรียกว่าหัวหน้าพรรค
ส่วนหัวหน้าพรรคเองมีการเจรจาระหว่างหัวหน้าพรรคการเมืองด้วยกัน เพื่อที่จะผสมกันหลังเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องของเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมือง ยุทธศาสตร์ทางการเมืองก็จะกำหนดประเด็นทางการเมือง เมื่อกำหนดประเด็นทางการเมืองแล้ว นักการเมืองก็ประดิดประดอยถ้อยคำให้สอดคล้องกับวาทกรรมของทางพรรคการเมือง ตัวของโพลจึงมาตอบสนองส่วนนี้ ว่านโยบายของพรรคการเมือง โดนใจประชาชนหรือไม่
ตัวนักการเมืองมีหน้าที่นำนโยบายมาอธิบายทำให้มันง่าย ทำให้ถึงใจ ทำให้เป็นภาษาถิ่น เป็นภาษาของตัวเอง ภายใต้ยุทธศาสตร์ทางการเมือง
การทำโพลแค่การเป็นมนุษย์รับจ้างคนหนึ่ง แต่คนที่สูงกว่านั้นคือนักยุทธศาสตร์ จะเป็นคนตัดสินใจภายใต้สารสนเทศที่นำข้อมูลมาตอบสนอง
สำหรับพรรคการเมืองจะมาการทำโพลจากหลายสำนัก เนื่องจากบางครั้งคนที่รับจ้างทำโพลอาจจะพูดในสิ่งที่พรรคการเมืองอยากได้ยินเท่านั้น พรรคการเมืองจึงต้องมีการบริหารความเสี่ยง
โพลกับเครื่องมือทางการเมือง
การทำโพล คือการชี้นำ มีหน้าที่บอกความจริง แต่ผลของโพลทำหน้าที่ชี้กระแส
นายสังคม กล่าวว่า โพลปลอดจากการเมือง แต่การเมืองไม่ได้ปลอดจากโพล โพลถือเป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นตัวแทนเพื่อให้ทำรู้กระแสความต้องการประชาชน ซึ่งเมื่อได้รู้กระแสประชาชนแล้ว พรรคการเมือง นักการเมือง ต้องปรับตัว ต้องทำภาพลักษณ์ของตัวเอง และสร้างนโยบายให้ตรงกับสิ่งที่ประชาชนอยากได้ยิน อยากเห็น
โพลบอกกระแส นักการเมืองต่างหากที่มาทำตามกระแส
โพลกับความผิดพลาด
ผลโพลเกิดความผิดพลาด เกิดจากหลายสาเหตุ
1.การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายของพรรคการเมืองในระยะนาทีสุดท้าย การที่ทำให้พรรคการเมืองเกิดความเสียหายในช่วงนาทีสุดท้าย แต่ผลโพลได้เผยแพร่ไปแล้วก็จะเกิดความผิดพลาดได้
2.เกิดจากกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่ปัญหาของโพล ผลโพลถูกต้อง แต่เป็นเกมการเมืองของการเลือกตั้ง ทำให้โพลเกิดการผิดพลาด
3.กระแสชี้นำโดยรวม ทำให้ประชาชนเกิดการแห่แหนกันไป ซึ่งเป็นการสร้างภาพทางการเมือง สร้างภาพลักษณ์ทางการเมือง โพลไม่ได้เกี่ยวข้อง โพลบอกได้แค่กระแส แต่ตรงนั้นเป็นวิธีการตลาดทางการเมือง
โพลกับการบิดเบือน
นายสังคม ระบุว่า โดยตัวของโพลไม่บิดเบือน แต่โดยการตีความกับการใช้ประโยชน์อาจจะบิดเบือนได้ ซึ่งสาเหตุของการบิดเบือนคือความอ่อนด้วย และอ่อนความสามารถของคนทำโพล ซึ่งเกิดขึ้นได้ 4 ประเด็น
1.โดยสถาบันทำโพล ที่ไม่อยากให้พูดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ฉะนั้นจะมีคำสั่งว่าโพลเรื่องนี้ห้ามทำ ซึ่งเป็นการถูกบิดเบือนตั้งแต่หัวข้อ จะทำให้เรื่องนั้นหายไปจากการรับรู้ของสาธารณชน ทั้งที่เรื่องนั้นเป็นเรื่องที่สังคมอยากรู้ หรือเป็นการสั่งโดยตัวผู้บริหาร
2.โดยกลุ่มตัวอย่าง การออกแบบกลุ่มตัวอย่างที่ผิด เช่น ไปถามบางภาค แล้วกลับบอกว่ากลุ่มตัวอย่างดังกล่าวเป็นตัวแทนประเทศ เลือกเฉพาะบางพื้นที่ที่มีกลุ่มตัวอย่างที่รักและนิยมในพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ข้อมูลที่ได้บิดเบือน
3.โดยการอธิบาย แม้ว่าข้อมูลจะผิดเพี้ยนอะไรก็ตาม แต่สามารถอธิบายให้สร้างสรรค์ได้ โดยใช้วิชาวาดวาทกรรมทางการเมือง ใช้วาทกรรมไปเปลี่ยนคำอธิบาย เลือกตัวแปรที่มีประโยชน์ในการอธิบาย เลือกศาสตร์สารสนเทศที่เป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองในการอธิบายสื่อสารสาธารณะ
4.โดยผู้มีส่วนได้เสีย ชัดเจนที่สุดก็คือผู้รับจ้าง บางครั้งคนที่มาจ้างทำโพลไม่ชอบความจริง ชอบการยอ จึงได้เกิดการสร้างภาพลวงตาทางการเมือง ให้เขารู้ว่ามีกระแสเยอะ หรือ “กระแสดี แต่เสียงไม่มี” ก็จะเลือกกลุ่มตัวอย่างเฉพาะคนกลุ่มนั้น หรือกลุ่มคนที่ถูกเกณฑ์มา แต่ไม่ได้ถามข้อมูลกับประชาชนในพื้นที่จริงนั้นๆ เช่น ในการชุมชนหนึ่งผู้ชุมนุมทุกคนเห็นด้วยกับการมาร่วมชุมนุมนั้น แต่ถ้าไปถามกับกลุ่มคนที่ไม่ได้มาร่วมชุมนุม ก็อาจจะไม่เห็นด้วย เป็นต้น
โพลบิดเบือนเกิดขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่าการสุ่มตัวอย่าง เกิดขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่าการอธิบาย เกิดขึ้นจากการสั่งการของคนที่เรียกว่าเจ้าของโพล และที่สำคัญที่สุดคือโดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ของคนทำโพล แต่ถ้าเป็นเจตนาที่จะทำโพลปลอมตั้งแต่เริ่มต้นส่วนใหญ่จะไม่ทำกัน คนทำโพลมีชื่อเสียงที่ต้องรักษา มีจริยธรรม และมีจรรยาบรรณเช่นเดียวกับวิชาชีพอื่นๆ
ถ้าเราอยากได้ยินอะไรแล้วไปทำตรงนั้น กำหนดตรงนั้น เสียเวลา ไม่มีนักโพลคนไหนทำกัน แต่ถ้าจะทำอย่างนั้นก็ปลอมโพลไปเลย ถ้าซื้อได้นะ แต่ส่วนใหญ่ซื้อยาก ส่วนโพลโนเนม ที่ทำขึ้นมาครั้งสองครั้ง ก็สามารถเชียร์อัพได้
อยากพูดในสิ่งที่ประชาชนได้ยิน พูดในสิ่งที่หัวหน้าพรรคได้ยิน ไม่มีประโยชน์อะไรที่เสียเงินเสียทองเพื่อทำโพล
นายสังคม กล่าวว่า การทำโพลเพื่อตอบสนองคนว่าจ้าง ซึ่งไม่จำเป็นต้องรายงานประชาชน มีหน้าที่แค่รายงานหัวหน้าพรรค แม้แต่ลูกพรรคก็ไม่จำเป็นต้องรับรู้ข้อมูลดังกล่าว แต่หัวหน้าพรรคอาจนำผลโพลนี้ไปอธิบายต่อโดยใช้ศาสตร์สารสนเทศที่เป็นประโยชน์กับตัวพรรคการเมืองไปอธิบาย ซึ่งก็ไม่ใช่เฟคโพล แต่เป็นการเฟคอันจงใจในการใช้ผลโพลเพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ซึ่งพรรคการเมืองเกือบทุกพรรคเลือกวิธีนี้
โพลกับความเชื่อมั่น
นายสังคม มองว่า โพลหลัก โพลสาธารณะ ความน่าเชื่อถือไม่เคยลดลง อาจจะมีความผิดพลาดบ้าง แต่เกิดจากความผิดพลาดที่ไม่ตั้งใจ และเกิดจาก Poll Base ที่ไม่แม่นยำเพียงพอ
โพลสาธารณะฐานข้อมูลยืนยันทางวิชาการค่อนข้างดี การสุ่มตัวอย่างอาจจะแตกต่างกัน วิธีการที่แตกต่างกัน ข้อคำถามที่แตกต่างกัน ข้อมูลภูมิหลังที่ไม่เหมือนกัน แต่ผลสรุปสุดท้ายเกือบทั้งหมดสอดคล้องกัน แสดงว่าเชื่อถือได้
แต่สิ่งที่เชื่อถือไม่ได้คือพรรคการเมือง เพราะพรรคการเมืองจะพูดในสิ่งที่อยากจะพูด และจะเลือกพูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์กับตนเองเท่านั้น