แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุกับ เซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ระหว่างการพบหน้ากันครั้งแรกในที่ประชุม G20 นับตั้งแต่รัสเซียเริ่มการรุกรานยูเครนเมื่อ 24 ก.พ.ปีก่อน โดยบลิงเคนระบุกับลาฟรอฟว่า สหรัฐฯ จะสนับสนุนยูเครน “นานเท่าที่จะนานได้”
บลิงเคนระบุกับลาฟรอฟว่าสหรัฐฯ จะเดินหน้ามอบความช่วยเหลือยูเครน ในการต่อต้านการรุกรานของรัสเซีย ระหว่างการพบกันสั้นๆ รอบนอกการประชุมใหญ่ของ G20 ในเมืองเดลีของอินเดีย โดยบลิงเคนระบุว่าเขามีการพูดคุยกันกับลาฟรอฟไม่ถึง 10 นาที ทั้งนี้ ทั้งสองได้พบหน้ากันครั้งสุดท้าย ณ กรุงเจนีวา เมื่อเดือน ม.ค. 2565
บลิงเคนยังระบุกับลาฟรอฟอีกว่า รัสเซียควรปล่อยตัว พอล เวลแลน พลเมืองสัญชาติสหรัฐฯ ที่ถูกคุมขังอยู่ในรัสเซีย และรัสเซียควรกลับเข้าร่วมการเจรจาสนธิสัญญาควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ New START ที่รัสเซียเพิ่งถอนตัวออกไป
อย่างไรก็ดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียปฏิเสธว่า เขาไม่ได้พบปะหรือหารือกันกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ในการประชุมสุดยอดเดลีอย่างใด ทั้งนี้ การประชุม G20 เป็นการประชุมของ 19 ชาติที่ร่ำรวยที่สุดในโลก พร้อมกันกับสหภาพยุโรป ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 85% ของโลก และมีประชากรคิดเป็น 2 ใน 3 ของโลก ทั้งนี้ การประชุมยังมี ฉินกัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนเข้าร่วมด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า การประชุม G20 ถูกทำลายลงโดย “สงครามที่ไม่ได้รับการยั่วยุและไม่ยุติธรรม” ของรัสเซีย ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศรัสเซียกล่าวหาชาติตะวันตกว่า “ขู่กรรโชกและคุกคาม” รัสเซีย ทั้งนี้ อินเดียซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม G20 ในครั้งนี้ระบุว่า ชาติสมาชิกอาจไม่มีการออกแถลงการณ์ร่วม สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่างการหารือ
ในทางตรงกันข้ามกับบลิงเคน ลาฟรอฟระบุว่ารัสเซียและจีนตกลงที่จะต่อต้านสิ่งที่พวกเขาเรียกว่าการขู่กรรโชกและการคุกคามจากชาติตะวันตก ทั้งนี้ คำกล่าวของลาฟรอฟไม่ได้รับการยืนยันจากจีน “เราพูดกันถึงเรื่องมารยาท ประเทศตะวันตกของเรามีความย่ำแย่ในสิ่งเหล่านี้มาก” ลาฟรอฟกล่าวหลังการหารือในวันนี้ (2 มี.ค.) “พวกเขาไม่ได้คิดเรื่องการทูตอีกต่อไป ตอนนี้พวกเขาทำได้เพียงขู่กรรโชกและคุกคามคนอื่นๆ”
ที่มา: