ในวันนี้ (8 มี.ค.) ผู้คนหลายแสนคนเข้ามามีส่วนร่วมในการเดินขบวน การชุมนุม และการจัดงานฉลองทั่วโลกเนื่องในวันสตรีสากล ซึ่งเป็นวันที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองสตรี และเรียกร้องความเท่าเทียมกันของประชากรครึ่งหนึ่งของโลก
แม้ว่าจะมีความก้าวหน้าครั้งใหญ่ด้านความเท่าเทียมทางเพศในหลายสิบประเทศ แต่สถานการณ์กดขี่ผู้หญิงในสถานที่ต่างๆ เช่น อัฟกานิสถานและอิหร่าน ตลอดจนอาชญากรรมและการละเมิดต่อผู้หญิงยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในเกือบทุกประเทศในโลก
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (6 มี.ค.) อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า สิทธิสตรีกำลังถูก “ล่วงเกิน คุกคาม และละเมิด” ในทั่วโลก และความเท่าเทียมทางเพศจะไม่เกิดขึ้นอีกเป็นเวลา 300 ปีตามแนวทางปัจจุบัน นอกจากนี้ กูเตอร์เรสกล่าวว่าความก้าวหน้าที่ได้รับมาตลอดหลายทศวรรษกำลังหายไปเพราะ “ระบอบปิตาธิปไตยกำลังต่อสู้กลับ”
วันสตรีสากลในแต่ละที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ โดยในสเปนมีผู้คนมากกว่า 1 ล้านคนคาดว่าจะออกมาเดินขบวนประท้วงในตอนเย็น ณ กรุงมาดริด บาร์เซโลนา และทุกเมืองในสเปน นอกจากนี้ ยังมีการคาดหมายว่าจะมีการชุมนุมใหญ่ในเมืองอื่นๆ ทั่วโลก ในขณะที่บางประเทศมีการจัดงานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ผู้หญิงรวมตัวกันเมื่อวันพุธเพื่อชุมนุมในเมืองใหญ่ของปากีสถาน รวมทั้งเมืองหลวงอย่างกรุงอิสลามาบัด ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนาทั้งนี้ ผู้จัดงานกล่าวว่าพวกเธอจะชุมนุมโดยสงบ และการเดินขบวนมุ่งหน้าไปที่การแสวงหาสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้เท่านั้น
การเดินขบวนของกลุ่มสิทธิสตรีในปากีสถานปีนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ปีที่แล้ว มีกลุ่มอนุรักษ์นิยมขู่ว่าพวกเขาจะเข้าปราบการชุมนุมสิทธิสตรีด้วยกำลัง แต่ในปีนี้เจ้าหน้าที่ปากีสถานได้เพิ่มความปลอดภัย เพื่อปกป้องผู้เดินขบวน ทั้งนี้ ปากีสถานเป็นประเทศอนุรักษ์นิยมที่ผู้หญิงมักจะรู้สึกไม่ปลอดภัยในที่สาธารณะ เนื่องจากการล่วงละเมิดอย่างเปิดเผย
ในอัฟกานิสถานประเทศเพื่อนบ้านของปากีสถาน นับตั้งแต่กลุ่มตาลีบันเข้ายึดครองประเทศในปี 2564 ประเทศแห่งนี้กลายเป็นประเทศที่กดขี่ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมากที่สุดในโลก ทั้งนี้ สหประชาชาติระบุเมื่อวันพุธในแถลงการณ์ว่า ผู้ปกครองคนใหม่ของอัฟกานิสถานอย่างตาลีบัน ได้แสดงให้เห็นในสิ่งที่เกือบจะเป็น “การมุ่งเน้นเพียงเรื่องเดียว ในการบังคับใช้กฎที่ทำให้ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงส่วนใหญ่ต้องติดอยู่ในบ้านของพวกเขา”
ตาลีบันห้ามการศึกษาของเด็กผู้หญิงที่มีอายุเกินชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และห้ามไม่ให้ผู้หญิงออกมาจากบ้านไปยังที่สาธารณะ เช่น สวนสาธารณะ และโรงยิม นอกจากนี้ ผู้หญิงยังถูกห้ามไม่ให้ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนระดับชาติและระดับนานาชาติ และถูกสั่งให้คลุมตัวด้วยผ้าปิดมิดชิดตั้งแต่หัวจรดเท้า
โรซา โอตุนบาเยวา ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติและหัวหน้าภารกิจประจำอัฟกานิสถานกล่าวว่า “เป็นเรื่องน่าวิตกที่เห็นความพยายามที่มีระเบียบ รอบคอบ และเป็นระบบของพวกเขาในการผลักดันผู้หญิงและเด็กผู้หญิงชาวอัฟกานิสถานออกจากพื้นที่สาธารณะ”
ในภูมิภาคอื่นๆ มีความก้าวหน้าที่สำคัญสำหรับผู้หญิงในด้านความเท่าเทียม สิทธิในการสืบพันธุ์ กฎหมายที่พยายามกำจัดเพศสภาพและความรุนแรงทางเพศ และมุ่งไปสู่การจ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียมกัน ความเสมอภาคทางเพศ และการทำงานบ้านร่วมกัน
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (7 มี.ค.) สเปนได้ผ่านกฎหมายความเสมอภาคฉบับใหม่ ที่กำหนดให้ต้องมีผู้หญิงและผู้ชายที่มีสัดส่วนอย่างน้อย 40% อยู่ในคณะกรรมการบริษัทจดทะเบียนและบริษัทเอกชนที่มีพนักงานมากกว่า 250 คน และมีเงิน 50 ล้านยูโรในธุรกิจ เช่นเดียวกับคณะรัฐมนตรีของสเปน
นอกจากนี้ ร่างกฎหมายยังเสนอบังคับให้พรรคการเมืองมีความเท่าเทียมกันในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิรับเลือกตั้ง โดยสลับชื่อชายและหญิงในบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง โดยรัฐบาลฝ่ายซ้ายได้ให้ความสำคัญกับสิทธิสตรีตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยการออกกฎหมายที่กว้างขวางเกี่ยวกับการทำแท้ง การลาจากอาการประจำเดือน การปรับปรุงการลาเพื่อคลอดบุตร และการลาเพื่อผู้เป็นพ่อเด็ก และอื่นๆ
ในขณะที่หลายๆ ประเทศมีความก้าวหน้าด้านความเท่าเทียมทางเพศในลักษณะเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป ประเทศอื่นๆ อาทิ สหรัฐฯ ยังคงมีการยุติสิทธิในการทำแท้งตามรัฐธรรมนูญเมื่อปีที่แล้ว และเริ่มถอยหลังมาบังคับใช้ให้การทำแท้งเป็นสิ่งผิดกฎหมายในหลายมลรัฐ
ที่มา: