‘ลิณธิภรณ์’ควบรักษาการโฆษก ‘เพื่อไทย’ อีกครั้งเน้นสื่อสารเชิงรุก-รวดเร็วในศึกเลือกตั้ง พร้อมชี้แจงยุติความเสียหายต่อพรรค ย้ำประชาชนเลือกตั้งรอบนี้ต้องเลือกให้มียุทธศาสตร์เพื่อกำหนดอนาคตประเทศ ยันการสื่อสารของพรรคจะดีขึ้น ลุยมอนิเตอร์ข่าวสารทุกแพลตฟอร์ม
วันที่ 9 มี.ค. 2566 ดร.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย และรักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยกับ ‘วอยซ์’ ถึงการรับหน้าที่รักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทยในช่วงการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า การปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย หลังการประชุมใหญ่สามัญประจำปีวันที่ 9 มี.ค. 2566 เนื่องจากเป็นการปรับเปลี่ยนตัวเฉพาะผู้สมัคร ส.ส.เขตที่เป็นกรรมการบริหารพรรค เพื่อให้ไปทำหน้าที่ในพื้นที่ให้ยึดโยงกับประชาชน จึงต้องให้ส.ส.เขตที่เป็นกรรมการบริหารพรรคลาออก ซึ่ง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ยังคงหน้าที่ตามเดิม
ลิณธิภรณ์ ระบุว่า การทำหน้าที่รักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย ครัั้งนี้จะเป็นการทำหน้าที่สำคัญในช่วงโหมดเลือกตั้ง ซึ่งโฆษกพรรคจะเน้นสื่อสารเชิงรุกไม่ใช่เชิงรับ เพราะการสื่อสารจะต้องทำให้พรรคเพื่อไทยแลนด์สไลด์ และยังต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นและตอกย้ำว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องเลือกอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อกำหนดชะตาชีวิตอนาคตประเทศระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยหรือเผด็จการ
ลิณธิภรณ์ ระบุว่า ตนจะเน้นการสื่อสารในทุกแพลตฟอร์ม ของพรรคเพื่อไทย ส่วนท่าทีของพรรคในการตอบโต้และชี้แจงนั้นจะต้องรวดเร็วขึ้นด้วย รวมทั้งยังทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลดูเทรนด์กระแสข่าวในโซเชียลฯ เพื่อนำไปเสนอในวงสื่อสารของพรรคที่มีผู้ใหญ่กับคนรุ่นใหม่ด้วย อีกทั้งในฐานะที่ตนเป็นผู้ประสงค์ลงสมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและยังต้องช่วยพรรคในส่วนกลางโดยช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การหาเสียงปราศรัยด้วย
ลิณธิภรณ์ ระบุด้วยว่า บทบาทการสื่อสารในช่วงโหมดเลือกตั้งจะต้องรวดเร็วฉับไว ชัดเจน และยังปกป้องผลประโยชน์ประชาชนด้วย ซึ่งจะกำหนดการสื่อสารโดยส่วนกลางของพรรคเพื่อไทย จากเดิมที่จะมีการแยกรายภาคแล้วเสนอ แต่เมื่อเข้าโหมดเลือกตั้งจะไม่กระจายภาค แต่จะให้ส่วนกลางกำหนดไปยังจังหวัดต่างๆ และมีการกำหนดการปราศรัยหาเสียงในระดับยุทธศาสตร์
ลิณธิภรณ์ ระบุว่า โฆษกพรรคเพื่อไทย มีหน้าที่ตอบโต้อยู่แล้วที่มีประเด็นทางการเมืองที่จะนำไปสู่ความเสียหายของพรรคได้ ดังนั้นจะต้องตอบโต้อย่างรวดเร็ว ถ้าประเด็นใหญ่มากจะเป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค ถ้าเรื่องรองจะเป็นหน้าที่ของโฆษกพรรคจะทำหน้าที่ชี้แจงเพื่อยุติความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพรรค
“การสื่อสารจะดีกว่าเดิม จะเห็นแผนงานเห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้นกว่าเดิม ซึ่งดิฉันยังร่วมทำหน้าที่ประสานพื้นที่เรื่องลงพื้นที่รับปัญหาเรื่องผู้สมัคร ส.ส.ด้วย เพื่อเชื่อมต่อปัญหาเข้าสู่ส่วนกลาง ซึ่งดิฉันรับผิดชอบการทำหน้าที่ในชุดประสานงานการเลือกตั้งภาคเหนือตอนล่างด้วย”
ลิณธิภรณ์ ระบุว่า ตอนเป็นโฆษกพรรคเพื่อไทยรอบแรกเมื่อปี 2563-2564 ตนแถลงข่าวจนถูกฟ้องคดี 3 คดี ใน1 ปีในช่วงวิกฤตโควิด-19 ซึ่งตอนนั้นมีรองโฆษกเพียงคนเดียว ทำให้ตนต้องตอบโต้และชี้แจงประเด็นทางการเมือง แต่เมื่อรับหน้าที่โฆษกพรรครอบนี้จะเสริมเรื่องการสื่อสารให้ทุกแพลตฟอร์มของพรรคเพื่อไทยรวดเร็วและดูกระแสสังคมให้มากขึ้นเพื่อนำไปเสนอพรรคในการกำหนดท่าที และตนจะทำหน้าที่เสริมกับประธานที่ปรึกษาและประธานการสื่อสารของพรรคเพื่อไทยในแฟลตฟอร์มการสื่อสารของคนรุ่นใหม่ด้วย
- พลิกประวัติ โฆษกเพื่อไทย
ดร.ลิณธิภรณ์ วริณ์วัชรโรจน์ (ดร.หญิง) ชื่อเดิม อรุณี กาสยานนท์
ประวัติการศึกษา
2557 ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการเมือง มหาวิทยาลัยรามคำแหง
2547 รัฐศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ด้รับทุนสนับสนุนจากซาซากาว่าประเทศญี่ปุ่น
2542 รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (เหรียญเรียนดีปี 40-41 )
บิดา : นคร กาสยานนท์ เป็น ส.จ.พิษณุโลก มานาน 25 ปี
ตำแหน่งปัจจุบัน
− รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยง (2564-ปัจจุบัน)
− นักวิชาการผู้นำฝ่ายค้านสภาผู้แทนราษฎร ( 2565-ปัจจุบัน)
− ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการศึกษาสภาผู้แทนราษฎร (2562-ปัจจุบัน)
ประสบการณ์การทำงาน
-อาจารย์ นักวิชาการ งานวิจัยชุมชุน
-นักวิเคราะห์ข่าวรายการ Wake Up Thailand (เสาร์-อาทิตย์) และรายการ Talking Thailand (2562-2563)
-โฆษกพรรคเพื่อไทย (2563-2564)
-รองโฆษกพรรคไทยรักษาชาติ
-รักษาการโฆษกพรรคเพื่อไทย (2566)
-สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 20 พรรคไทยรักษาชาติ