โมฮัมหมัด ดาวูด มูซัมมิล ผู้ว่าการกลุ่มตาลีบันในจังหวัดบัลก์ทางตอนเหนือของอัฟกานิสถาน เสียชีวิตจากเหตุระเบิดในห้องทำงานของเขา ทั้งนี้ มูซัมมิลนับเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่สุดที่ถูกสังหาร นับตั้งแต่ตาลีบันกลับสู่อำนาจในการปกครองอัฟกานิสถานเมื่อปี 2564
แม้ความรุนแรงได้ลดลงอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ 2 ปีก่อน แต่บุคคลสำคัญที่เป็นฝ่ายสนับสนุนตาลีบัน และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ถูกสังหารในการโจมตีหลายครั้ง โดยในหลายกรณีมีกลุ่มก่อการร้ายรัฐอิสลาม (IS) อ้างว่าพวกเขาอยู่เบื้องหลังการโจมตี อย่างไรก็ดี ตำรวจในท้องที่กล่าวว่า สาเหตุของการระเบิดในครั้งล่าสุดยังไม่มีความชัดเจน และยังไม่มีผู้ใดออกมาอ้างว่าตัวเองอยู่เบื้องหลังการโจมตีนี้
อย่างไรก็ดี ซาบีฮุลเลาะห์ มูจาฮิด โฆษกกลุ่มตาลีบันกล่าวในทวิตเตอร์ว่า มูซัมมิล “เสียชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์จากเหตุระเบิดโดยศัตรูของศาสนาอิสลาม” ทั้งนี้ โฆษกของตาลีบันกล่าวเสริมว่า การสืบสวนกำลังดำเนินการอยู่ นอกจากนี้ มีรายงานที่ไม่ได้รับการยืนยันว่า เหตุระเบิดโจมตีในครั้งนี้เป็นเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย
มีรายงานว่ามูซัมมิลเป็นผู้นำการต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธ IS ในการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการจังหวัดนันการ์ฮาร์ทางตะวันออกครั้งก่อน ก่อนที่เขาจะถูกย้ายมาประจำที่จังหวัดบัลก์ เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว
โมฮัมหมัด อาซิฟ วาซีรี โฆษกตำรวจจังหวัดบัลก์กล่าวว่า เหตุระเบิดเกิดขึ้น “ประมาณ 9 โมงเช้า… ภายในชั้น 2 ของสำนักงานผู้ว่าการ” นอกจากนี้ ตำรวจกล่าวว่ามีผู้เคราะห์ร้ายอีกอย่างน้อย 1 คนเสียชีวิตในการโจมตี และยังมีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง
“มีเสียงโครมคราม ผมล้มลงบนพื้น” ไครุดดิน ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากแรงระเบิด ระบุกับสำนักข่าว AFP โดยเขาบอกว่าเขาเห็นเพื่อนคนหนึ่งสูญเสียมือไปในเหตุระเบิด ไครุดดินยังกล่าวอีกว่า การระเบิดเกิดขึ้นหลังจากที่ผู้ว่าการเดินทางมาถึงที่ทำงานของเขา
วันก่อนหน้าเหตุการณ์ระเบิดในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตาลีบันประจำจังหวัดอ้างว่า พวกเขาได้สังหาร “ผู้ก่อการกบฏและผู้ลักพาตัว” 8 รายในเมืองมาซาร์-เอ ชารีฟ เมืองหลักของจังหวัดบัลก์ อย่างไรก็ดี ตาลีบันไม่ได้ระบุว่าบุคคลถูกกล่าวหาเหล่านี้ เกี่ยวข้องกับกลุ่ม “กบฏ” ใดในอัฟกานิสถาน
ก่อนหน้านี้ ตาลีบันโค่นล้มอำนาจการปกครองอัฟกานิสถานในปี 2544 ก่อนที่กลุ่มอิสลามหัวรุนแรงติดอาวุธนี้จะกลับมามีอำนาจอีกครั้งในเดือน ส.ค. 2564 หลังจากกองกำลังที่นำโดยสหรัฐฯ ถอนตัวออกไปจากอัฟกานิสถาน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มีการโจมตีด้วยระเบิดร้ายแรงเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยมุ่งเป้าไปที่มัสยิดและชุมชนชนกลุ่มน้อย ซึ่งหลายเหตุการณ์ถูกอ้างความรับผิดชอบโดยกลุ่มพันธมิตรระดับภูมิภาคของกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (IS-K) ซึ่งเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของตาลีบัน
ที่มา: