กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวน 10 คน เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อติดตามทวงถามเอกสาร หลังการให้ประทานบัตร จำนวน 4 แปลง บนพื้นที่กว่า 26,446 ไร่ ทำเหมืองแร่โปแตช จังหวัดอุดร
หลังจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติคณะรัฐมนตรี ไฟเขียวให้เหมืองแร่โปแตชที่จังหวัดอุดรธานีเดินหน้า เมื่อ 28 มิถุนายน 2565 จากนั้น คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ หรือ ‘บอร์ดแร่’ มีมติเห็นชอบการอนุญาตประทานบัตร โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี อายุประทานบัตร 25 ปี ให้กับ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ที่มี ‘กลุ่มอิตาเลียนไทย’ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยอายุประทานบัตรดังกล่าว มีระยะเวลา 25 ปี (ตั้งแต่ 23 กันยายน 2565 – 22 กันยายน 2590)
เรื่องนี้กลายเป็นที่วิจารณ์ในวงกว้าง ว่าการให้ประทานบัตร จำนวน 4 แปลง บนพื้นที่กว่า 26,446 ไร่ ในครั้งนี้ เป็นคำขอที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะหากย้อนวันที่ 9 พฤษภาคม 2556 ตัวแทนชาวบ้าน 47 คน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ยื่นฟ้องศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนรายงานในใบไต่สวน ทั้ง 4 แปลง จำนวน 26,400 ไร่ และต่อมา 30 มีนาคม 2561 ศาลปกครองอุดรธานี มีคำพิพากษาให้เพิกถอนรายงานใบไต่สวนตามคำขอประทานบัตรทั้ง 4 คำขอ เนื่องจากเป็นการทำรายงานที่ไม่ถูกต้องและที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้หน่วยงานรัฐกลับไปดำเนินกระบวนการใหม่ ตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการอุทธรณ์คดีในชั้นศาลปกครองสูงสุด
“หลังคำพิพากษา ชาวบ้านก็เข้าใจว่า อย่างน้อยเราก็ชนะไปยกหนึ่งแล้ว ทำให้เราลดธงการเคลื่อนไหวลง ประกอบกับรัฐบาล คสช. ที่ทำให้เราเคลื่อนไหวได้ยาก” เดชา คำเบ้าเมือง กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าว
ทว่าในวันที่ 28 มิถุนายน 2565 จู่ๆ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมีมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้เดินหน้าเหมืองแร่โปแตช แหล่งอุดรใต้ นำมาสู่คำถามของประชาชนว่า การอนุมัตินี้ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
“ที่ผ่านมา ชาวบ้านทำหนังสือตามและคัดค้านหน่วยงานมาตลอด แต่ส่วนมากอยู่แค่ระดับจังหวัด เช่น ผู้ว่าฯ หรืออุตสาหกรรมจังหวัด แต่กลับไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากภาครัฐ “
นำมาสู่วันที่ 9 มีนาคม 2566 กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี จำนวน 10 คน เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อติดตามทวงถามเอกสารรายงาน EIA ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาผ่านความเห็นชอบ ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้นำ EIA ไปประกอบการออกใบอนุญาตทำเหมืองแร่ใต้ดินที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งใบอนุญาดังกล่าวออกเมื่อเดือนกันยายน 2565
หลังการเดินทางมายัง กพร. เพื่อขอเอกสารประกอบการพิจารณาการออกประทานบัตร เช่น เงื่อนไขแนบท้ายประทานบัตร ผังเมือง โครงสร้างทางธรณีวิทยา รายงานการไต่สวนพื้นที่ และหลักฐานการมีส่วนร่วม ฯลฯ ต่อมารองอธิบดี กพร. ได้เข้าเจรจากับกลุ่มชาวบ้าน และรับปากว่าจะดำเนินการตอบหนังสือ และส่งเอกสารให้ภายใน 15 วัน
“เราตั้งข้อสังเกตว่า ข้อมูลในรายงานไม่อัพเดท เพราะรายงาน EIA มีมติเห็นชอบตั้งแต่ปี 2556 คำถามคือ คุณเอารายงาน EIA ฉบับไหนมาประกอบคำขออนุมัติประทานบัตรครั้งนี้ในปี 2565”
ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านได้พยายามขอเอกสารเมื่อเดือนมกราคมและ 28 กุมภาพันธ์ 2566 แต่ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จึงได้เดินทางมาทวงถามข้อมูลดังกล่าว
“การอนุมัติประทานบัตรของประยุทธเมื่อปีที่แล้ว มันไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะตอนนี้ เรื่องเหมืองโปแตชอยู่ในขั้นตอนการอุทธรณ์ของศาลปกครองสูงสุด ซึ่งท่านยังไม่มีคำพิพากษาลงมา ทำไมอยู่ดีๆ รัฐบาลถึงมาไฟเขียวอนุญาตแบบนี้ มันไม่ชอบธรรม”
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ยืนยันการขอเอกสารและประกาศว่า จะมีการฟ้องคดีต่อไป
‘โปแตช’ (Potash) ถือเป็นแร่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงในอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ย เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยโพแทสเซียม ซึ่งเป็นหนึ่งในสามธาตุอาหารหลักของพืชผลที่ใช้ในการเพิ่มคุณภาพผลผลิตและป้องกันโรคและแมลง การขยายตัวของประชากรทั่วโลกส่งผลต่อความต้องการด้านพืชผลทางการเกษตร ทำให้ปริมาณความต้องการแร่โปแตชสูงอย่างต่อเนื่อง โดยมีแคนาดาเป็นตลาดส่งออกหลัก และมีภูมิภาคเอเชียเป็นจุดศูนย์กลางของตลาดนำเข้าหลักของโลก ในขณะที่ไทยคือผู้นำเข้าสูงเป็นอันดับที่ 5 ของทวีปเอเชีย
การนำเข้าทั้งโปแตชและปุ๋ยเคมี เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นทุนภาคเกษตรค่อนข้างสูง ขณะที่ประเทศไทยมีปริมาณสำรองแร่โปแตชสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก หรือกว่า 4 แสนล้านตัน โดยเฉพาะในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เช่น ชัยภูมิ อุดรธานี ขอนแก่น สกลนคร และนครราชสีมา
กว่า 20 ปีของการต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี แกนนำกลุ่มยืนยันว่า การคัดค้านการทำเหมืองโปแตช ไม่ใช่การคัดค้านเพื่อขัดขวางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในการทำอุตสาหกรรมโปแตช
“ที่ผ่านมา เราไม่ได้คัดค้านการพัฒนาอุตสากรรมโปแตช แต่เราคัดค้านเพื่อให้กระบวนการทำเหมืองแร่ กลับไปเริ่มต้นใหม่”
“คำถามแรกคือ การพัฒนาภาคอีสาน สมควรที่จะนำแร่โปแตชมาใช้ไหม ถ้าสังคมภาพรวมเห็นว่าสมควร เราก็ควรมานั่งวางแผนยุทธศาสตร์ร่วมกัน ต้องมีการประเมิน ศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA รวมทั้งจัดทำแผนแม่บทแร่ กระบวนเหล่านี้ควรมีให้ชัดเจนเสียก่อน แล้วค่อยมาวางแผนกันว่า ผืนที่ตรงไหนที่ควรทำเหมือง”
“แต่ตอนนี้ มันคือระบบสัมปทานที่ยื่นขอแล้วก็อนุมัติ อย่างที่อุดร สำรวจแล้วเจอที่ไหนก็ยกสัมปทานให้กลุ่มทุนเลย โดยไม่ได้วางยุทธศาสตร์หรือจัดทำแผนพัฒนาใดๆ นายทุนขอตรงไหนคุณก็จิ้มให้ นี่คือสิ่งที่เรากังวล”
“ตัวอย่างสำคัญ คือ เหมืองแร่โปแตช ที่อ.ด่านขุดทด จ.นครราชสีมา ที่ชาวบ้านกำลังเผชิญผลกระทบของการทำเหมืองอยู่ตอนนี้ เพราะไม่มีการวางแผนจัดการทรัพยากรที่ดีพอ สิ่งที่ชาวบ้านต้องการตอนนี้คือ ล้างไพ่ใหม่ แล้วมาวางแผนพัฒนาร่วมกัน เราเข้าใจว่าโปแตชมีคุณค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล คำถามคือ คนไทยได้ประโยชน์อะไรจากการให้สัมปทานนายทุนใหญ่บ้าง คุ้มหรือไม่” เดชากล่าว
ประเด็นที่สำคัญที่เดชาหยิบยกมาอธิบาย คือ สัญญาให้สิทธิสำรวจและผลิตแร่โปแตชในจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นสัญญาให้สิทธิสำรวจและผลิตแร่โปแตชครอบคลุมพื้นที่ขนาดใหญ่ 2,333 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 1.5 ล้านไร่ เปิดโอกาสให้ ‘บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด’ ดำเนินการสำรวจ และผลิตแร่โปแตช หรือแร่ชนิดอื่นๆ ได้อีกหากสำรวจพบ ซึ่งเป็นการทำสัญญาจับจองพื้นที่แหล่งแร่เพื่อการ ‘สำรวจ’ และ ‘ผลิต’ ทำเหมืองแร่ล่วงหน้าไว้ก่อน ทั้งที่ยังไม่ได้รับอาชญาบัตรให้สำรวจแร่และประทานบัตรให้ทำเหมืองแร่แต่อย่างใด
หากค้นในรายละเอียดของกฎหมายแร่ฉบับเก่า (พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510) และฉบับใหม่ (พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560) พบว่า ไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดเลยที่อนุญาตให้ทำสัญญาลักษณะดังกล่าว ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นระบบสัญญาผูกขาดโดยสมบูรณ์
คำถามสำคัญคือ การให้ประทานบัตร จำนวน 4 แปลง บนพื้นที่กว่า 26,446 ไร่ ในครั้งนี้ เป็นคำขอที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ไทม์ไลน์มหากาพย์ ‘เหมืองแร่โปแตช’ อุดรธานี
- 2516 กรมทรัพยากรธรณีได้ขุดสำรวจหาแหล่งน้ำบาดาลในภาคอีสาน แต่บังเอิญพบชั้นเกลือมหาศาลกระจายตัวอยู่ เป็นจุดเริ่มต้นสำรวจแหล่งแร่โปแตชในภาคอีสานของประเทศไทย
- 2524 เจาะพบแร่ซิลไวต์ ซึ่งถือว่าเป็นแร่โปแตช ชั้นหนึ่งของโลก ที่บ้านหนองตะไก้ ตำบลหนองไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
- 2527 กรมทรัพยากรธรณี ทำสัญญาให้สิทธิสำรวจและผลิตแร่โปแตชในจังหวัดอุดรธานี กับบริษัท ไทยอะกริโก โปแตช จำกัด (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอเชีย แปซิฟิก โพแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด) กลุ่มทุนเหมืองแร่จากแคนนาดา
- 2539 เจ้าหน้าที่รัฐพาคณะสำรวจแร่ เข้าสำรวจหาแร่โปแตชในชุมชน โดยแจ้งว่าเป็นการสำรวจหาบ่อน้ำมัน จ่ายค่าขุดเจาะให้หลุมละ 3,000 บาท เมื่อเสร็จสิ้นพบว่า บางหลุมสำรวจได้มีน้ำเค็มแพร่กระจายออกมาจนเกิดความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตรและบริเวณโดยรอบ
- 2544 กว่า 20 หมู่บ้านในอุดรธานีรวมตัวจัดตั้งเป็น ‘กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี’ เพื่อเคลื่อนไหวต่อสู้กับโครงการเหมืองแร่โปแตช
- 2545 พระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ 5) มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย อนุญาตให้มีการทำเหมืองแร่ใต้ดิน ผู้ประกอบการมีสิทธิยื่นขออนุญาตทำเหมืองที่มีความลึกจากผิวดินเกิน 100 เมตร กับหน่วยงานรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่อนุมัติอนุญาตได้ (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากชาวบ้านเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินข้างบน
- 2547 บริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ยื่นขออนุญาตประทานบัตรทำเหมืองใต้ดิน กลุ่มชาวบ้านคัดค้านอย่างหนัก กระทั่งบริษัทฯ ได้แจ้งความดำเนินคดีข้อหาบุกรุก และทำเสียทรัพย์กับชาวบ้าน 5 ราย สุดท้ายศาลจังหวัดอุดรธานีพิพากษายกฟ้อง
- 2549 บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ จำกัด เข้าซื้อกิจการของบริษัท เอเชีย แปซิฟิก โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด พร้อมแถลงว่าเหมืองเป็นของคนไทย เดินหน้าโครงการด้วยสโลแกน ‘เหมืองชุมชนนำคนกลับบ้าน’
- 2553 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ทำการปักหมุด รังวัด ขึ้นรูปแผนที่เพื่อแสดงขอบเขตเหมืองและไต่สวนพื้นที่ เนื้อที่รวมกว่า 26,400 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล ในอุดรธานี
- 2554 กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้รวบรวมข้อมูลผู้มีส่วนได้เสียในขอบเขตเหมืองตามประกาศของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ มีผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน จำนวน 1,580 แปลง และผู้อาศัยในขอบเขตเหมือง จำนวน 5,765 รายชื่อ ยื่นหนังสือโต้แย้งคัดค้าน กับหน่วยงานรัฐตามขั้นตอนที่กฎหมายแร่กำหนด
- 9 พฤษภาคม 2556 ตัวแทนชาวบ้าน 47 คน กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ยื่นฟ้องศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนรายงานในใบไต่สวน ทั้ง 4 แปลง จำนวน 26,400 ไร่
- 26 พฤศจิกายน 2556 คณะผู้ชำนาญการด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ มีมติเห็นชอบรายงาน EIA โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี
- 15 กันยายน 2558 ภายใต้รัฐบาล คสช. จังหวัดอุดรธานีจัดประชาคมหมู่บ้านในพื้นที่ เกี่ยวกับคำขอประทานบัตรเหมืองแร่โปรแตช ในค่ายทหารพระยาสุนทรธรรมธาดา พร้อมนำกองกำลังทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร และตำรวจ มาคุ้มกันการจัดเวทีอย่างเข้มงวด
- 25 กันยายน 2558 สภา อบต.ห้วยสามพาด อำเภอประจักษ์ศิลปาคม มี มติ 12 ต่อ 9 ไม่เห็นชอบโครงการเหมืองแร่โปแตช
- 30 มีนาคม 2561 ศาลปกครองอุดรธานี มีคำพิพากษาให้เพิกถอนรายงานใบไต่สวนตามคำขอประทานบัตรทั้ง 4 คำขอ เนื่องจากเป็นการทำรายงานที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้หน่วยงานรัฐกลับไปดำเนินกระบวนการใหม่ ตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการอุทธรณ์คดีในชั้นศาลปกครองสูงสุด
- 28 มิถุนายน 2565 ระหว่างมีการอุทธรณ์คดี จู่ๆ กลับมีมีมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบให้เดินหน้าเหมืองแร่โปแตช แหล่งอุดรใต้
- 21 กรกฎาคม 2565 บอร์ดแร่มีมติเห็นชอบการอนุญาตประทานบัตร โครงการเหมืองแร่โปแตช อุดรธานี อายุประทานบัตร 25 ปี ให้กับ บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ที่มี ‘กลุ่มอิตาเลียนไทย’ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
- 9 มีนาคม 2566 กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อขอเอกสารใบอนุญาตประทานบัตร ที่ออกเมื่อเดือนกันยายน 2565 และเอกสารประกอบ ซึ่งชาวบ้านเคยขอมาแล้ว 2 ครั้งต้องแต่ต้นปี 2566 แต่ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จึงได้เดินทางมาทวงถามข้อมูลดังกล่าว