ตามหลอนไม่เลิก เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือ ป.ป.ช. ชุดใหญ่ มติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ที่ผ่านมาให้ฟ้อง “พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์” อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) คดีจัดซื้อเครื่อง ตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 และ ALPHA 6
หลังก่อนหน้านี้อัยการสูงสุด (อสส.) มีความเห็นไม่สั่งฟ้องพญ.คุณหญิงพรทิพย์ โดยระบุว่าสำนวนการจัดซื้อของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ 4 สัญญา อัยการได้ตั้งข้อไม่สมบูรณ์ในสำนวนการสอบสวนในคดีหลักฐานค่อนข้างห่างตัว และพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้แจงเหตุผลว่า ป.ป.ช. สั่งฟ้องคดีนี้เองเป็นไปตามที่เคยชี้มูลความผิดก่อนหน้านี้ เนื่องจากมีพยานหลักฐานเพียงพอ และขั้นตอนขณะนี้ ป.ป.ช. ได้ส่งเรื่องไปยังสำนักคดีเพื่อร่างคำฟ้อง ก่อนส่งฟ้องมาตรา 157 ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางต่อไป
เปิดปูมหลัง “คดีจีที 200 -อัลฟ่า 6”
สำหรับคดีก่อนที่ พญ.คุณหญิง พรทิพย์ และผู้เกี่ยวข้องจะถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดในคดีอาญา พบว่า ช่วงปี 2550-2552 สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 และ ALPHA 6 ด้วยวิธีพิเศษจาก บ.เอวิเอ แซทคอม จำกัด สำหรับการจัดซื้อ GT200 เครื่องแรกในปี 2550 จำนวน 1 เครื่อง ราคา 1,120,000 บาท จัดซื้อเครื่องที่ 2 ในปี 2551 จำนวน 1 เครื่อง ราคา 1,200,000 บาท และครั้งที่ 3 ในปี 2552 จำนวน 4 เครื่อง วงเงินรวม 4,480,000 บาท เฉลี่ยราคาเครื่องละ 1,120,000 บาท
ส่วนการจัดซื้อเครื่อง ALPHA 6 พบว่าพบว่ามีการจัดซื้อในช่วงปี 2551 จำนวน 2 เครื่อง โดยวิธีสอบราคา จากบริษัท เอ เอส แอล เอ็มเทรดดิ้ง จำกัด ในราคาเครื่องละ 447,000 บาท รวมเป็นเงิน 894,000 บาท เฉพาะในส่วนของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้ทาง ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯสอบอย่างต่อเนื่อง
ต่อมาปี 2464 บอร์ด ป.ป.ช. ชุดใหญ่จึงมติชี้มูลความผิดเกี่ยวกับคดีจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT 200 และ ALPHA 6 รวม 20 สำนวน จากการไต่สวน 25 สำนวน มีผู้ถูกกล่าวหากว่า 100 ราย โดย ป.ป.ช. ได้ชี้มูลความผิดทั้งทางอาญาและวินัยโดยส่วนใหญ่ผู้ถูกชี้มูลเป็นกรรมการจัดซื้อจัดจ้าง และคณะกรรมการตรวจรับงานจ้าง และจำนวนนี้มี พญ.คุณหญิงพรทิพย์ รวมอยู่ด้วย
สำหรับประเด็นสำคัญที่ชี้มูลความผิด เช่น การจัดซื้อครั้งที่ 1 และครั้งที่ 3 เป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรง จากการไม่ตั้งผู้ชำนาญการ อนุมัติเบิกจ่าย และไม่ส่งสำเนาสัญญา ส่วนการจัดซื้อครั้งที่ 2 เป็นการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และผิดวินัยร้ายแรง จากการอนุมัติจัดซื้อในราคาแพงกว่าการจัดซื้อครั้งแรก
ขอความเป็นธรรม บกพร่องงาน ไม่ได้ทุจริต
ต่อมาอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง พญ.คุณหญิง พรทิพย์ จึงทำให้ ป.ป.ช. ต้องตั้งคณะทำงานร่วมกับอัยการเพื่อพิจารณาหาข้อสรุปและทำความเห็นเสนอต่อบอร์ด ป.ป.ช. ว่าเห็นด้วยกับอัยการหรือไม่ และต่อมากรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าควรฟ้อง อัยการสูงสุดจึงส่งเรื่องกลับมาให้ ป.ป.ช. ฟ้องคดีเอง
พญ.คุณหญิง พรทิพย์ กล่าวว่า มีความบริสุทธิ์ใจในการปฏิบัติหน้าที่ 100 เปอร์เซ็นต์ และ เรื่องที่เกิดขึ้น คือ ความไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติงาน ซึ่งความผิดพลาด ไม่ใช่การทุจริต
เรื่องจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ส่งสัญญาให้ สตง. เป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ที่ทำไม่ครบระเบียบ แต่มีกระบวนการตรวจสอบภายในของกรมฯ เมื่อพบข้อบกพร่อง ก็ได้ส่งสัญญาให้ สตง. ตามหลังแล้ว เป็นความบกพร่องในการปฏิบัติงาน ไม่ใช่การทุจริตหรือเรียกรับเงิน
พญ.คุณหญิง พรทิพย์ ชี้แจงอีกว่า แม้การจัดซื้อจะมีราคาที่ต่างกันในตัวที่มีการเพิ่มราคา สุดท้ายบริษัทฯ ได้จ่ายเงืนคืนมาแล้ว เมื่อมีการฟ้องร้อง ดังนั้นรัฐเสียหายตรงไหน ตอนที่เขาให้เราชี้แจง ไม่ได้บอกว่า เขาฟังใคร ได้ข้อมูลอะไรมา เขากล่าวหาว่า เรื่องนี้เป็นอย่างนี้ตามเอกสาร เมื่ออ่านข้อกล่าวหา เราจะชี้แจง แต่เขาไม่ได้ให้ชี้แจงด้วยตัวเอง
มาทราบวันที่เขาตัดสิน เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2564 ซึ่งได้ใช้สิทธิ์ขอความเป็นธรรมผ่านกระทรวงยุติธรรม ส่งหลักฐานใหม่ไปให้อัยการและ ป.ป.ช. แล้วกลายเป็นว่าอัยการสูงสุดเห็นว่าไม่ควรฟ้อง แต่ ป.ป.ช. มีมติยื่นฟ้อง จึงมองว่าน่าจะใช้หลักคิดคนละระบบกัน
นับจากนี้ต้องติดตามว่า พญ.คุณหญิง พรทิพย์ จะแก้ปมปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร หาก ป.ป.ช. ส่งฟ้องแล้วศาลมีความเห็นพ้องกับอัยการ คดีก็จะยุติลง แต่หากศาลเห็นด้วยกับ ป.ป.ช. คดีนี้คงต้องลุ้นอีกหลายยก