ภาคประชาชนเรียกร้อง นายกฯ และ ผบ.ตร. ปฏิบัติตามกฎหมายอุ้มทรมานฯ เพราะศาลยังไม่ตีความ จี้รับผิดชอบการออก พรก.มิชอบ ทำลายระบบนิติรัฐ และคอร์รัปชั่นเวลา
10 มี.ค. 2566 เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้กล่าวสรุปในเวทีอภิปรายวาระประเทศไทยของสภาที่ 3 เรื่อง “ชะตากรรมประชาชน หลังรัฐบาลประยุทธ์ ออกพรก.เลื่อนบังคับใช้กฎหมายอุ้มหายฯ” ว่าการที่คณะรัฐมนตรีแอบออกพระราชกำหนดเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไปนั้น เพื่องดเว้นการบังคับใช้กฎหมายบางมาตรา เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และคณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบ เพราะไม่เข้าเงื่อนไขในการออกพระราชกำหนดสักข้อเดียว
“เรื่องนี้ต่างประเทศกำลังติดตามและจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะพล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ชอบทำผิดรัฐธรรมนูญการปกครองของตนเองซ้ำๆ เรื่อๆ จนเกิดสภาวะยกเว้นของกฎหมายเรื่อยมา จนไปทำลายระบบนิติรัฐ นิติธรรม ของประเทศ จนไม่แน่ใจว่าใช้รัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศหรือไม่ อันไหนขัดผลประโยชน์ตนเองและพวกพ้องก็งดเว้นได้ นี่คือความไม่ชอบธรรมของพล.อ.ประยุทธ์ “
การที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มีผลใช้บังคับแล้ว แต่ต่อมาพบว่าหน่วยงานมีความไม่พร้อม ครม. จึงต้องออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ เพื่อเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เฉพาะมาตรา 22 ถึง มาตรา 25 ออกไปเป็น 1 ต.ค.66 จนครบวาระของ ผบ.ตร. ทั้งที่ก่อนหน้านี้ อดีต ผบ.ตร. เคยออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กล้องติดตัว บันทึกภาพและเสียง ขณะทำการตรวจค้นจับกุมและการสอบสวน มาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว จะอ้างว่าไม่พร้อมปฏิบัติไม่ได้
“พล.อ.ประยุทธ์ คงคิดคอร์รัปชั่นเวลาตามที่ผบ.ตร.เสนอว่า ควรออก พรก.ค้างไว้ให้สภาหน้าพิจารณาเพราะหมดสมัยประชุมสภาแล้ว แต่เมื่อส่งเรื่องให้ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แล้วก็ต้องรีบเปิดสภาวิสามัญเพื่อพิจารณาเป็นกรณีเร่งด่วนเพราะจะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ รัฐบาลน่าจะคาดไม่ถึง และคิดว่าไม่น่าผ่านสภาไปได้ จึงใช้แทคติกทางการเมือง ให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 1 ใน 5 ยื่นประธานสภา เพื่อส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตีความ ทั้งที่เป็นกฎหมายของรัฐบาลเอง และแทนที่จะเป็นฝ่ายค้านเสนอ เพราะถ้า พรก.ไม่ผ่านสภา ครม.ต้องลาออกทั้งคณะ แต่สภาดันเปิดพิจารณาและคาดว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย นี่คือประเด็นสำคัญ”
เมธากล่าวว่า การชิงลงมือนี้มาจาก ผบ.ตร. และนายกรัฐมนตรี กลัวความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ กำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 23 มี.ค.66 คาดว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ทัน กฎหมายฉบับนี้ก็ต้องข้ามไปพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยหน้า แต่ก็จะมีผลอยู่ดีหากไม่ผ่าน หรือศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ตีความ จึงขอแนะนำให้ ผบ.ตร. และนายกฯ เร่งทำตามกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อคุ้มครองประชาชน สำหรับประชาชนสามารถเรียกร้องให้มีการบันทึกภาพและเสียงได้ รวมทั้งร้องเรียนอัยการและนายอำเภอเพื่อให้เข้ามาตรวจสอบได้
“เรื่องนี้ที่ ผบ.ตร.ต้องการทอดเวลาออกไปจนกว่าจะหมดวาระเพื่อปัดความรับผิดชอบ เป็นการยืดเวลารัฐตำรวจออกไปเพราะไม่อยากให้ปฏิรูปและถูกแบ่งแยกอำนาจในการสืบสวนสอบสวนตามอำเภอใจ ต้องบอกว่าตำรวจที่ดีก็มีมาก แต่ระบบงานตำรวจต่างหากที่สร้างปัญหาจากตำรวจไม่กี่นาย การใช้อำนาจซ้อมทรมานแบบเก่าทำให้เกิดรอยด่างพร้อยของกระบวนยุติธรรมไทย นับตั้งแต่การอุ้มหายนายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกระเหรี่ยง คดีการอุ้มฆ่าสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน ถ้ามีการบันทึกภาพและเสียงขณะเข้าจับกุม คนเหล่านี้จะไม่หายไป และไม่สามารถออกแบบคดีความได้เหมือนเดิม” เมธากล่าว