13 มีนาคม คือวันช้างไทย Voice ถือโอกาสนี้ บอกเล่าถ้อยคำของ ปิยวรรณ ดาวนันท์ ภรรยาของผู้เสียชีวิต ถึงเรื่องราวของสามีอันเป็นที่รัก ภาระแบกรับที่ชุมชนกำลังเผชิญ ไปจนถึงชะตากรรมของ ‘ช้างและคน’ ในผืนป่าตะวันออก
ปี 2559-2565 มีผู้เสียชีวิตจากช้างป่า 135 คน บาดเจ็บ 116 คน
ปี 2563 และปี 2564 เสียชีวิตปีละ 24 คน
ปี 2565 เสียชีวิตมากที่สุด 27 คน บาดเจ็บ 22 คน
ตัวเลขของผู้เสียชีวิต หนึ่งในนั้นคือ ‘ศิริพงศ์ ดาวนันท์’ เขาเป็นสามี เป็นพ่อ และเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ามากว่า 7 ปี เรื่องราวของเขาไม่ต่างจากศพอื่นๆ ก่อนหน้ามากนัก นั่นคือ เขาตายจากการถูกช้างทำร้ายในสวนของตัวเอง ได้รับเงินเยียวยาเพียงหยิบมือจากรัฐ ภรรยาถูกสื่อและสังคมชี้นิ้วลงทัณฑ์ว่า ‘สามีบุกรุกป่า’ ลูกๆ ขาดพ่อ ครอบครัวขากเสาหลัก มันเป็นเช่นนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า ศพแล้วศพเล่า ภายใต้ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างคนกับช้างป่า และความพยายามแก้ปัญหาที่ดูจะผิดทิศผิดทางของภาครัฐ
13 มีนาคม คือวันช้างไทย Voice ถือโอกาสนี้ บอกเล่าถ้อยคำของ ปิยวรรณ ดาวนันท์ ภรรยาของผู้เสียชีวิต ถึงเรื่องราวของสามีอันเป็นที่รัก ภาระแบกรับที่ชุมชนกำลังเผชิญ ไปจนถึงชะตากรรมของ ‘ช้างและคน’ ในผืนป่าตะวันออก ที่ดูจะไม่คลี่คลายในเร็ววัน
● ฝันที่พังทลาย หลังม่านความตายของ ‘ศิริพงศ์ ดาวนันท์’
“ถ้าไปย้อนดูข่าวคุณสรยุทธ์ เขาออกข่าวว่า แฟนเราไปเก็บของป่าแล้วโดนช้างเหยียบตาย ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว แฟนเราตายในสวนมะม่วงหิมพานต์หลังบ้านของตัวเอง
“มันเป็นบาดแผลในใจ ไปไหนเขาก็ถามว่า แฟนไปเก็บของป่าไม่ใช่เหรอ ลูกก็โดนเพื่อนถามว่า ‘พ่อมึงไปเก็บของป่าเหรอ เป็นเจ้าหน้าที่ป่า ไปเก็บของป่าได้ยังไง’ คำพูดมันจุกอกเรา แฟนเราทำงานรักษาป่ามาตลอด แต่เขาหาว่าแฟนเราบุกรุกป่า มันคือตราบาปของคนที่สูญเสีย มันไม่เหลืออะไรให้เราภูมิใจเลย
“เมื่อก่อนเรากับแฟนทำงานโรงงานที่สมุทรปราการ เขาเป็นหัวหน้าช่าง เงินเดือนค่อนข้างเยอะ มีอยู่วันหนึ่ง เราต้องกลับบ้านมาที่ชุมชนอ่างเสือดำ ตำบลท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อ
มาดูแลยายที่แก่มากแล้ว แฟนเราเขาติดลูกมาก ทำงานเสร็จจากสมุทรปราการก็ขับรถกลับบ้านมาหาลูก จนวันหนึ่งเขาหลับใน รถไปประสานงากับรถพ่วง รักษาตัวอยู่นานกว่าจะดีขึ้น ยายก็เลยบอกว่า ให้แฟนกลับมาทำงานอยู่ที่บ้านด้วยกัน เพราะรู้ว่าเขารักลูกมาก ไม่อยากห่างจากลูก
“แฟนออกจากโรงงาน มาทำงานเป็นพนักงานชั่วคราวป้องกันสัตว์ป่า เงินเดือน 9,000 บาท แก เขาทำงานนี้มา 7 ปี จนช่วง 3-4 ปีให้หลังมีเรื่องช้างเข้ามา เราขอร้องให้แกลาออก แกก็บอกว่า ‘แกรักงานตรงนี้ไปแล้ว แกออกไม่ได้’ เราเลยปล่อยเขา จนกระทั่งแกสอบบรรจุเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ในส่วนกรมอุทยานแห่งชาติเขาอ่างฤาไนยได้ปีกว่า เราก็ดีใจ คิดว่าแกไม่ต้องมาเสี่ยงอันตรายลาดตระเวนแล้ว
“วันที่เกิดเหตุ 12 พฤษภาคม 2565 แฟนเขาลางานกลับบ้าน เขาบอกว่าบัตรประชาชนหมดอายุ จะมาทำบัตรใหม่ แต่จริงๆ แล้วเขาคิดถึงลูก อยากกลับมาหาลูก พอทำบัตรเสร็จ เขากลับมาบ้านประมาณเที่ยงๆ เขาก็ว่าจะเข้าไปดูสวนมะม่วงหิมพานต์หลังบ้านสักหน่อย จะไปเก็บเม็ดมาขาย เพราะมันเป็นรอบสุดท้าย ไม่อย่างนั้นก็ต้องรอปีหน้า
“เป็นปกติที่แกจะเข้าสวนทุกวัน เราก็มัวแต่ทำกับข้าว ทำงานไปไม่ได้สนใจ เข้าใจว่าแกกลับมาแล้ว เพราะแกไม่เคยออกจากสวนหลังบ่าย 3 พอประมาณ 5 โมงครึ่ง หัวหน้างานของเขามาหา บอกให้เราตามแฟนให้หน่อย เผอิญว่าวันนั้นเขาไม่ได้เอาโทรศัพท์ติดตัวไป เราก็เลยให้หลานไปตาม หลายก็ตามหาแกไม่เจอ
“ตอนแรกยังไม่เอะใจ แอบเคืองๆ ว่าทำไมไม่เอาโทรศัพท์ติดตัวไปด้วย จนเราขี่มอเตอร์ไซต์ออกไปตามเอง เราบีบเเตรทั่วไร่ก็ไม่มีเสียงตอบรับ ร้องเรียกก็ไม่เจอ เราเลยวกรถกลับบ้าน จนกระทั่งเราเหลือบไปเห็นรองเท้าบูทที่แกสวม กับกระป๋องที่แกถือเข้าสวนอยู่ไกลๆ เราก็ยังไม่ได้คิดมาก คิดว่าเขาคงหาเห็ดอยู่แถวนี้
“พอวกรถกลับมา เราก็เริ่มเอะใจ ว่าถ้าเขาไปหาเห็ด เขาจะถอดรองเท้าไว้ในสวนทำไม เขาจะเดินเท้าเปล่าเหรอ เราเลยวกรถกลับไปอีกรอบ เข้าไปใกล้ๆ เราเห็นรองเท้าร่วงอยู่ กับหูกระป๋องสภาพบิดเบี้ยว รอบๆ มีรอยตีนช้างเต็มเลย เราก็รู้แล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพราะก่อนหน้านี้คนหมู่บ้านหนองปรือเพิ่งตายเพราะช้างเหยียบ
“เรารู้ทันที แต่ก็ไม่กล้าเข้าไปลึกกว่านี้เพราะมันโพล้เพล้แล้ว เลยขี่รถกลับมาตามญาติ ตอนขี่รถเราแทบจะล้มเลย ใจมันหวิวไปหมด รีบกลับมาบอกญาติว่า ‘หนูหาแฟนไม่เจอ เจอแต่กระป๋อง รองเท้า กับรอยตีนช้าง’ ทุกคนที่ได้ยินก็รู้หมดว่าเกิดอะไรขึ้น แต่เขาก็พยายามบอกเราว่า ‘คงไม่ใช่หรอก’ แต่ในใจเรารู้แล้วว่า ถ้าช้างเขาทำ เขาไม่ทำแค่เจ็บหรอก
“พอกลับไปที่สวนอีกครั้ง เราเดินดิ่งๆ เข้าไป เหลือบมองข้างทางก็เห็นกองเสื้อเปื้อนเลือดตกอยู่ พอเดินไปอีกก็เจอกางเกง เพื่อนที่เดินล่วงหน้าไปก่อนเขาก็เดินกลับมาแล้วดึงเราไว้ เหมือนเขาไม่อยากเห็น เราก็บอกเพื่อนว่า “ไม่เป็นไรๆ เราจะไปดูแฟน เราดูได้” พอไปถึงสุดชายป่า ก็เจอแกนอนคว่ำหน้าอยู่ เลือดเต็มไปหมด ขาขาดข้างนึง
“ในใจเรามีแต่คำว่า ไม่ใช่ เรามั่นใจมาตลอดว่าแกเอาตัวรอดได้ เราทรุดตัวลงกอดแก ถามแกว่า “ทิ้งหนูไปทำไม แล้วหนูกับลูกจะอยู่กับใคร” ความรู้สึกตอนนั้นมันเจ็บปวดที่สุด เราไม่รู้ว่าจะกลับมาบอกลูกยังไง จะบอกลูกว่าพ่อตายแล้ว คนเป็นแม่มันเจ็บปวดมากนะถ้าเห็นลูกต้องเจ็บปวด เราคิดตลอดทางว่าถ้าเขารู้จากปากคนอื่น เขาจะช็อกไหม เราอยากรีบกลับมาบอกลูกด้วยตัวเอง แต่เราก็ทิ้งศพแฟนไว้ไม่ได้ เราก็นั่งอยู่กับร่างของแก แต่ใจก็คิดแค่ว่า “จะบอกลูกว่ายังไง จะบอกลูกว่ายังไง”
“ความฝันของแฟนเรา คืออยากเห็นใบปริญญาลูก วันที่แกเสีย คือวันที่เราลุ้นกันอยู่ว่าลูกจะสอบติดที่ไหน คุยกันตลอดว่าเราจะไปส่งลูกด้วยกันนะ แต่วันที่ผลสอบลูกออก คือวันที่ครอบครัวเราเผาศพแกนั่นแหละ
“คืนก่อนที่แฟนจะเสีย แกยังไม่ทันได้นอนกับลูกเลยนะ เพราะแกไปเก็บแมวจรมาตัวนึง แมวตัวนี้ยังเข้ากับแมวตัวอื่นๆ ไม่ได้ แกก็เลยไปนอนกับแมว เพราะคงคิดว่าหยุดกลับบ้านตั้ง 5 วัน พรุ่งนี้ค่อยนอนกับลูกสาวก็ได้ สุดท้ายแกก็ยังไม่มีโอกาสได้นอนกับลูกเลย ทั้งๆ ที่ในชีวิต ลูกคือสิ่งที่แกรักและสำคัญที่สุด
“ครอบครัวเราไม่ร่ำรวย หาเช้ากินค่ำ เราพออยู่ได้ ไม่ได้ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ แฟนเรา ปลูกผักเต็มไปหมด สวนแกก็ทำคนเดียว ก็ไม่เคยให้ลูกเมียเข้าไปเพราะกลัวอันตราย พอแกจากไป เราต้องเป็นเสาหลักครอบครัว มันก็ลำบากกว่าเดิมนะ บางทีไปรับส่งลูกที่โรงเรียน เราก็กลัวช้าง แต่ก็ต้องไป เราพยายามจะเป็นทั้งพ่อทั้งแม่ให้ลูก แต่เอาจริงๆ เราแทนที่พ่อเขาไม่ได้หรอก
“ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดา จะได้เงินเยียวยาจากมูลนิธิฯ ศพละ 5,000 และเงินกองทุนช้างจากอำเภอศพละ 20,000 บาท เขาว่ากันอย่างนั้น แต่สามีของเราได้แค่ 10,000 บาท แล้วก็งบจาก อบต. ที่จะให้เงินหากผู้ตายเป็นหัวหน้าครอบครัว ได้ 50,000 บาท แต่ถ้าไม่ใช่หัวหน้าครอบครัว จะได้ 25,000 บาท แค่นั้นแหละที่หน่วยงานรัฐเยียวยาพวกเรา พอเราไปเรียกร้อง เขาก็มองว่าเราหิวเงิน แต่ถ้ามันเลือกได้ เราอยากให้สามีเรากลับมามากกว่า
“แม้กระทั่งหน่วยงานของสามี เขาเคยบอกว่าหากเสียชีวิตในหน้าที่ จะได้เงินทำศพ 150,000 บาท ถ้านอกเหนือหน้าที่ จะได้ 15,000 บาท แต่เอาเข้าจริง เราไม่ได้สักบาท ไม่มีเลย
“ภาครัฐบอกกับชาวบ้านตลอดว่า คนอยู่ร่วมกับช้างได้ แต่มันไม่จริง เราไม่เคยจับต้องได้ สิ่งที่เราได้คือ โกฐกระดูกของคนในครอบครัว เงินเยียวยานิดหน่อยที่เขาให้ แล้วก็พวงหรีด
“เจ้าหน้าที่เขาบอกให้งดออกจากบ้าน แต่ชาวบ้านในพื้นที่ต้องออกไปทำกิน เพราะหนี้ ธกส. ก้อนโตค้ำคออยู่ สุดท้ายสถานการณ์ก็บีบให้เราออกไปทำมาหากิน ถ้าเช้าไม่ไปหา ค่ำก็ไม่มีกิน คนที่เสียชีวิตส่วนมากจะเป็นหัวหน้าครอบครัว ถามว่าเขาออกไปทำกินนอกบ้าน เขากลัวช้างไหม เขากลัว แต่สิ่งที่กลัวที่สุดคือ กลัวลูกเมียอดตาย
“เราไม่เคยคิดเลยว่ามันคือความผิดของช้าง ช้างเขาก็เหมือนเรานี่แหละ ถ้าเขามีอาหาร มีที่อยู่อาศัย เขาก็ไม่ออกจากป่าหรอก คุณบอกว่าคุณอนุรักษ์ช้าง แล้วคุณดูแลอาหารการกินของเขาเพียงพอไหม คุณอนุรักษ์ช้างแต่ไม่สนใจความเป็นอยู่ของเขา เขาก็ต้องออกมาเร่ร่อนเพราะไม่อยากอดตาย ถามหน่อยว่าช้างที่ไหนจะอยากออกมาเร่ร่อน แต่ถ้าเขาอยู่ในป่าที่ไม่มีอาหาร เขาก็อดตาย ไม่ต่างอะไรจากมนุษย์เลย
“คนภายนอกจะมองว่า เราไปรุกป่า รุกที่ช้าง ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราอยู่กันมาตั้งแต่รุ่นตารุ่นยาย แต่คุณก็มาตราหน้าว่าเราบุกรุกป่า รุกที่ช้าง ทั้งๆ ที่ตรงนี้ เป็นที่ๆ รัฐจัดสรรให้เราทำมาหากิน รัฐให้เราเสียภาษี เราก็เสียภาษีทุกปี เราไม่ได้รุกล้ำป่า หรือทำนอกเหนือกฎหมาย แม้กระทั่งเงินเยียวยาพืชผลทางการเกษตรจากการถูกช้างทำลาย เราก็ไม่เคยได้รับ เพราะเงินเยียวยาจะได้เฉพาะผู้ที่มีเอกสารสิทธิ์ แต่เราเป็นแค่ผู้เช่าที่ดินของรัฐ นี่คือความเหลื่อมล้ำ เราไม่เคยได้รับอะไรเลย แถมต้องมาเจอกับคำที่ว่า คุณบุกรุกที่ช้าง
“เมื่อก่อน เราช้างอยู่ข้างทาง เราไม่เคยกลัวเขาเลย เพราะเรามีความเชื่อว่า ‘ถ้าเราไม่ทำร้ายเขา เขาก็จะไม่ทำร้ายเรา’ แต่หลังจากแฟนเราเสียชีวิต ความเชื่อนี้หมดไปเลย เราหมดศรัทธากับคำว่า ‘สัตว์คู่บ้านคู่เมือง’ หรือคำว่า ‘ถ้าเราไม่ทำร้ายเขา เขาก็จะไม่ทำร้ายเรา’ เพราะแฟนของเราเป็นคนที่รักสัตว์มากที่สุด แกไปไล่ช้าง แกก็ไปทำตามหน้าที่ พอแกกลับมาบ้านก็จะมาบ่นว่า วันนี้ไปไล่ช้างแม่ลูกอ่อน จุดลูกบอลแล้วช้างไหลลงคู ช้างเขาก็พยายามเอางวงอุ้มลูกเขาไว้ แกไม่เคยสบายใจเลยที่ต้องไปไล่ช้าง แม้กระทั่งมะม่วงข้างบ้าน พอช้างจะมากิน แกปิดไฟรอบบ้านหมดเลย กลัวช้างไม่กล้ากิน แกบอกว่า ‘ให้เขากินไปเถอะ ดีกว่าร่วงทิ้ง’ หรือเม็ดมะม่วงหิมพานต์ในสวน แกเก็บมาแต่เม็ดนะ ส่วนเนื้อของมัน แกเอาไว้ให้ช้างกิน
“เราไม่เคยโกรธ ไม่เคยเกลียดช้าง แต่เหนื่อยใจกับรัฐ เราเชื่อว่าปัญหานี้แก้ไขได้ อยู่ที่ว่าเขาจะแก้ไขไหมเท่านั้น
“ดูเหมือนช้างเขาใจร้ายนะที่เขาทำร้ายคน แต่คนที่ทนมองเห็นช้างทำร้ายคนด้วยกัน เขาใจร้ายกว่า ถ้าเขามองเห็นชีวิตของเรามีค่า แม้แต่สักวินาทีเดียว เขาจะไม่ปล่อยให้เราอยู่ร่วมกับช้าง พอมันเกิดเหตุขึ้น คุณก็มาถ่ายรูป มอบพวงหรีดแล้วก็ไป ศพแล้วศพเล่า”
“ดูเหมือนช้างเขาใจร้ายนะ แต่คนที่ทนเห็นช้างทำร้ายคนด้วยกัน เขาใจร้ายกว่า”
12 พฤษภาคม 2565
ศิริพงศ์ ดาวนันท์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เสียชีวิตในสวนมะม่วงหิมพานต์ของตัวเอง
สาเหตุการตาย: ถูกช้างเหยียบ