หน้าแรก Voice TV ฝรั่งเศสชิงผู้ส่งออกอาวุธอันดับ 2 ท้าทายรัสเซียเจ้าของตำแหน่งเดิม

ฝรั่งเศสชิงผู้ส่งออกอาวุธอันดับ 2 ท้าทายรัสเซียเจ้าของตำแหน่งเดิม

144
0
ฝรั่งเศสชิงผู้ส่งออกอาวุธอันดับ-2-ท้าทายรัสเซียเจ้าของตำแหน่งเดิม

จากการวิเคราะห์ล่าสุดพบว่า ฝรั่งเศสกำลังท้าทายตำแหน่งของรัสเซีย ในฐานะผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐฯ ในขณะที่ส่วนแบ่งการค้าอาวุธของตลาดโลกของสหราชอาณาจักรมีอัตราที่ลดน้อยลง

ยอดขายอาวุธที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และคำสั่งซื้ออาวุธในอนาคตไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชีย โอเชียเนีย และตะวันออกกลางในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บ่งชี้ว่า ผู้จัดหาอาวุธของฝรั่งเศสสามารถแซงหน้าคู่แข่งในรัสเซียได้ภายในระยะเวลา 1 ทศวรรษที่จะถึงนี้

ปัจจุบัน ส่วนแบ่งการส่งออกด้านการป้องกันไปยังหลายประเทศทั่วโลกของฝรั่งเศสอยู่ที่ 11% ในช่วงปี 2561-2565 เพิ่มขึ้นจาก 7.1% ในปี 2556-2560 โดยเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้น 44% ในอินเดีย กาตาร์ และอียิปต์ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด ในขณะเดียวกัน ส่วนแบ่งของรัสเซียในตลาดการส่งออกอาวุธของโลกกลับลดลงถึง 31% นับเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของยอดขายทั้งหมดที่ 22% เดิมในช่วง 5 ปี จนถึงปี 2560 ที่ลดลงเหลือ 16% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ตามการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (Sipri) การล่มสลายของการส่งออกของรัสเซียเกิดขึ้นในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา โดยการขายอาวุธไปยังจีนและอียิปต์ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุด 2 แห่ง กำลังอยู่ภายใต้แรงกดดัน สถานะที่ถูกโดดเดี่ยวของรัสเซียในช่วงก่อนและหลังการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบในเดือน ก.พ.ปีที่แล้ว อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกอาวุธ ควบคู่ไปกับการเติบโตของการพึ่งพาตนเองของจีนที่มีมากขึ้น

“มีแนวโน้มว่าปริมาณการสั่งซื้อจาก 2 รัฐนี้จะลดลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า” ผู้เขียนรายงาน Trends in International Arms Transfers ของ Sipri กล่าว “ตัวอย่างเช่น อียิปต์ยกเลิกคำสั่งซื้อเครื่องบินรบจำนวนมากในปี 2565 อาจเป็นเพราะแรงกดดันจากสหรัฐฯ และจีนเริ่มพึ่งพาการนำเข้าของรัสเซียน้อยลง เนื่องจากเพิ่มการผลิตอาวุธหลักขั้นสูงภายในประเทศ”

“ปริมาณการส่งมอบอาวุธหลักจากรัสเซียที่รอดำเนินการในปริมาณต่ำ บ่งชี้ว่าการส่งออกอาวุธมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า” รายงานยังระบุเสริมอีกว่า “เครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์รบเป็นหนึ่งในการส่งออกอาวุธหลักของรัสเซียตั้งแต่ปี 2535 โดยมีการส่งมอบทั้งหมด 328 ลำในปี 2561-2565 ซึ่งคิดเป็น 40% ของการส่งออกอาวุธของรัสเซียในช่วงเวลาดังกล่าว”

รายงานระบุว่า “ภายในสิ้นปี 2565 มีการส่งมอบเครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์รบเพียง 84 ลำที่รอดำเนินการ การรุกรานยูเครนของรัสเซียอาจจะเพิ่มข้อจำกัด ให้กับความสามารถในการส่งออกอาวุธของรัสเซีย เนื่องจากมีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับการผลิตอาวุธสำหรับกองทัพของตนเอง มากกว่าการผลิตเพื่อการส่งออก” ทั้งนี้ รัสเซียเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกมาเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ทศวรรษ โดยการขายเฮลิคอปเตอร์รบและเครื่องบินถือเป็นอุตสาหกรรมหลักในอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ

เปียเตอร์ เวเซแมน นักวิจัยอาวุโสของ Sipri และหนึ่งในผู้เขียนรายงานกล่าวว่า ฝรั่งเศสสามารถก้าวตัวไปข้างหน้าได้ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของรัฐบาลฝรั่งเศสในการขยายตัวด้านภาคกลาโหม และผลกระทบจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก และความพยายามทางการทูตต่อรัสเซีย ภายหลังการรุกรานยูเครนของ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย

“ฝรั่งเศสได้เห็นการส่งออกอาวุธที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในแง่ของการส่งมอบ ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมอาวุธของฝรั่งเศสซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส ก็ประสบความสำเร็จในการลงนามในข้อตกลงขนาดใหญ่สำหรับการส่งออกอาวุธ โดยมีแผนส่งมอบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า” เวเซแมนระบุ “ฝรั่งเศสมีอาวุธสำคัญที่ต้องสั่งซื้อเพื่อส่งออกมากกว่ารัสเซีย ซึ่งบ่งชี้ว่าเป็นไปได้ว่าในทศวรรษหน้า การส่งออกอาวุธของฝรั่งเศสจะอยู่ในลำดับความสำคัญเดียวกัน หรือมากกว่าของรัสเซียด้วยซ้ำ”

อุตสาหกรรมด้านการป้องกันของสหราชอาณาจักรประสบกับความล้มเหลว ในการบรรลุข้อตกลงกับพันธมิตรสำคัญ อาทิในซาอุดีอาระเบียในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้การส่งออกอาวุธของสหราชอาณาจักรหดตัวลงกว่า 1 ใน 3 ที่ 35% ทำให้ส่วนแบ่งการส่งออกอาวุธทั่วโลกของสหราชอาณาจักรลดลงจาก 4.7% ระหว่างปี 2556-2560 เหลือเพียง 3.2% ในปี 2561-2565 

“ซาอุดีอาระเบียเป็นผู้รับซื้ออาวุธรายใหญ่ที่สุดของสหราชอาณาจักรในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก่อนปี  2561-2565 แต่ซาอุดิอาระเบียมีคำสั่งซื้ออาวุธรายใหญ่จากสหราชอาณาจักรจำนวนน้อยมากในปัจจุบัน” โดยเวเซแมนกล่าวเสริมอีกว่า “ในปี 2563 ยังคงมีการพูดคุยถึงแผนการสั่งซื้อเครื่องบินรบไต้ฝุ่น 48 ลำ แต่ข้อตกลงดังกล่าวดูเหมือนจะหยุดชะงักในหลายปีหลังจากนั้น”

ทั้งนี้ ผู้ส่งออกด้านกลาโหมรายใหญ่ที่สุดของโลก 5 ราย ได้แก่ สหรัฐฯ รัสเซีย ฝรั่งเศส จีน และเยอรมนี ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 3 ใน 4 หรือ 76% ของการส่งออกอาวุธทั้งหมดทั่วโลก โดยสหรัฐฯ ยังคงเป็นมหาอำนาจของโลกในด้านการขายอาวุธ และกำลังสร้างเสริมบทบาทของตัวเอง 

สหรัฐฯ มีการส่งออกอาวุธเพิ่มขึ้น 14% ในปี 2556-2560 และ 2561-2565 และเป็นส่วนแบ่งการส่งออกอาวุธทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 33% เป็น 40% นอกจากนี้ ยอดขายอาุวธไม่ถึงครึ่งหรือ 41% ของสหรัฐฯ ถูกส่งไปที่ตะวันออกกลาง ทั้งนี้ สหรัฐฯ ส่งออกอาวุธหลักไปยัง 103 รัฐในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเกือบเท่ากับผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุด 2 รายถัดไปรวมกัน

ยูเครนกลายเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ในปี 2561-2565 โดยยูเครนเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่อันดับ 14 ของโลกในช่วงเวลาดังกล่าว และใหญ่เป็นอันดับ 3 ในปี 2565 ทั้งนี้ ผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุด 5 อันดับในปี 2561-2565 ได้แก่ อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ ออสเตรเลีย และจีน

ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2023/mar/13/france-challenging-russia-as-second-biggest-arms-exporter-behind-us?CMP=Share_AndroidApp_Other&fbclid=IwAR331kwnkhvh3LoMRZexeAN1Mv9wOEV-8_UypLkxBsHscICBeoypAGRQnbw

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่