หน้าแรก Thai PBS เพื่อไทย ค้าน กกต. แบ่งเขต กทม. ส่อขัดกฎหมาย หวั่นเลือกตั้งโมฆะ

เพื่อไทย ค้าน กกต. แบ่งเขต กทม. ส่อขัดกฎหมาย หวั่นเลือกตั้งโมฆะ

76
0
เพื่อไทย-ค้าน-กกต-แบ่งเขต-กทม.-ส่อขัดกฎหมาย-หวั่นเลือกตั้งโมฆะ

วันนี้ (16 มี.ค.2566) น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.เขตลาดกระบัง พรรคเพื่อไทย พร้อมด้วย นายสุรชาติ เทียนทอง ส.ส.กทม.เขตหลักสี่ พรรคเพื่อไทย ร่วมแถลงข่าวคัดค้านแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง ของ กกต. กทม.

โดย น.ส.ธีรรัตน์ กล่าวว่า ได้เห็นประกาศจากสำนักงาน กกต. ถึง กกต. กทม. ว่าจะมีการเลือกใช้การแบ่งเขตการเลือกตั้งของ กกต.แบบที่ 1 ซึ่งเป็นแบบที่พรรคเพื่อไทยมีความกังวลใจว่าส่อขัดต่อกฎหมายเลือกตั้ง ที่ผ่านมามีความหวังว่า กกต. จะได้ยินเสียงการทักท้วงของพรรคเพื่อไทย จึงไม่ลดละความพยายามที่จะแถลงข่าวให้เสียงดังขึ้น

แต่สุดท้าย มีประกาศออกมาเลือกแบบที่ 1 จึงจำเป็นต้องส่งเสียงอีกครั้ง เพราะถือเป็นการแบ่งเขตการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม เรียกว่า Gerrymandering ที่ผู้มีอำนาจจงใจเปลี่ยนแปลงเส้นเขตเลือกตั้งเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้พรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ผู้ที่รับผลกระทบโดยตรงมากที่สุด คือภาคประชาชน คืนวานนี้ประชาชนร้องเรียนมาว่าได้รับผลกระทบจากการแบ่งเขต เพราะพวกเขาได้หมายมั่นปั้นมือว่าจะเลือก ส.ส.คนนี้ ให้ไปเป็นผู้แทนให้ได้มาทำงานต่อ เพราะที่เคยร่วมงานใกล้ชิดกันมาก่อน

ทั้งนี้ หาก กกต. ยืนยันที่จะใช้การแบ่งเขตแบบที่ 1 ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง และในท้ายที่สุดอาจทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะทั้งประเทศ กกต. ต้องกำหนดเขตเลือกตั้งและจำนวน ส.ส. แต่ละเขตเลือกตั้งกันใหม่ แล้วจัดการเลือกตั้งใหม่ รวมไปถึงจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศชาติ ความมีเสถียรภาพของประเทศชาติ ความขัดแย้งทางการเมือง และงบประมาณแผ่นดิน

หากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะรักษาการนายกรัฐมนตรีต่อไป จนกว่าการเลือกตั้งจะเสร็จ ซึ่งนานเท่าใดก็ไม่มีใครรู้ หมายความว่าผู้มีอำนาจนำประเทศชาติและประชาชนเป็นตัวประกันให้กับความเสียหายนี้

หาก กกต. ไม่ดูดีดูดาย พิจารณาคำท้วงติงของพรรคเพื่อไทย หากเกิดอันตราย เสียหายขึ้น กกต. จะรับผิดชอบไหวหรือ ถ้าหากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ด้านนายสุรชาติ กล่าวว่า การแบ่งเขตแบบที่ 1-2 จะยึดหลักตามตัวเลขประชากรที่ให้สมดุลกัน ส่วนแบบที่ 3-4 จะยึดหลักเขตปกครอง เมื่อเราไปดูที่มาตรา 27 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ “ให้รวมอำเภอต่างๆ เป็นเขตเลือกตั้ง” และให้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามสภาพของชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจำในลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน” เป็นเรื่องหลักในการแบ่งเขต ไม่ใช่แบ่งเขตเลือกตั้งตามแขวง

นายสุรชาติ ได้ยกตัวอย่าง กรณีเขตเลือกตั้งที่ 9 ของเขตบางเขน 1 แขวงของเขตบางเขนจะไปรวมกันกับ 2 แขวงของเขตจตุจักร และจะมารวมกับอีก 1 แขวงของเขตหลักสี่ ซึ่งถือว่าเป็นการเอาเศษเสี้ยวของ 3 เขตการปกครองมารวมเป็นหนึ่งเขตการเลือกตั้ง หรือฝั่งธนบุรี ยกตัวอย่าง เขตที่ 32 ของ 1 แขวงบางกอกน้อย มารวมกันกับเขตบางกอกใหญ่ และมารวมกับบางแขวงภาษีเจริญ บางแขวงของเขตตลิ่งชัน บางแขวงของเขตธนบุรี ถือเป็นการแบ่งเขตที่พิลึกพิลั่น

นายสุรชาติ กล่าวต่อว่า หลักการการยึดอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง เมื่อมีการเอาเศษเสี้ยวของแต่ละแขวง จะเห็นได้ว่ามีรูปร่างการแบ่งเขตที่บิดเบี้ยว ทั้งที่การแข่งเขตเลือกตั้งควรจะอำนวยความสะดวกให้ประชาชน และประชาชนไม่ได้มีความใกล้ชิดกัน พรรคเพื่อไทยได้เสนอไปแล้วว่าควรจะยึดเขตการเลือกตั้ง ตามแบบให้ใกล้เคียงกับปี 2554 และปี 2557 มากที่สุด

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่