แม้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะระบุว่า เตรียมร่างพระราชกฤษฎีการอไว้แล้ว หลังจากคาดว่าไม่เกิน 20 มี.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี น่าจะประกาศยุบสภาเพื่อเปิดทางให้ทุกพรรคการเมืองเข้าสู่โหมดการแข่งขันในฤดูกาลเลือกตั้งปกติ
แต่หากย้อนเวลากลับไปก่อนช่วงหน้านี้เพียง 2 เดือน ขณะที่พรรคการเมืองหลายพรรคมีการเคลื่อนไหวในหลายรูปแบบ ทั้งการสาละวนอยู่กับการคัดสรรตัวผู้สมัครลงรับเลือกตั้งส.ส.เขตและระบบบัญชีรายชื่อ ในขณะที่หลาย ๆ คนทยอยลาออกเพื่อหาพรรคสังกัดใหม่
แต่ในการเปิดประชุมสภาในช่วงท้าย ๆ ทุกครั้งจะปรากฏชื่อ ส.ส.หน้าใหม่ ได้เลื่อนลำดับและขยับขึ้นมา โดยเฉพาะ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ไม่ว่าจะเป็นจากพรรคการเมืองใหญ่หรือพรรคฯเล็ก
มีการตั้งข้อสังเกตว่า การได้เลื่อนลำดับหลังจาก ส.ส.คนเดิมลาออก ทำให้ผู้ที่มีรายชื่อลำดับถัดมาเข้าดำรงตำแหน่ง ส.ส.นั้น นอกจากจะได้โปรไฟล์เป็นนักการเมืองหน้าใหม่ เดินเข้าสภา แม้จะอยู่ได้ไม่ถึงเดือน ก่อนจะกลายเป็นอดีต ส.ส.เมื่อประกาศยุบสภา
แต่การก้าวเข้ามาเป็นนักการเมือง แม้จะเป็นแค่เดือนเดียวก็ได้รับค่าตอบแทนที่ไม่ใช่เงินเดือน หากยังมีเรื่องของการได้สิทธิสวัสดิการในฐานะอดีตสมาชิกรัฐสภา ที่มีอยู่ไม่น้อยทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร ค่าจัดงานศพ ไปจนถึงกรณีทุพพลภาพ
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ ให้ความเห็นว่า การได้สิทธิประโยชน์ของสมาชิกรัฐสภาเป็นไปตามกฎหมาย ส่วนหนึ่งมาจากเงินงบประมาณ และกองทุนของสมาชิกรัฐสภา โดยผู้ที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส.ไม่ว่าจะเป็นอดีตส.ส.หรือส.ส.ปัจจุบันก็จะได้รับสวัสดิการเหล่านี้
“ที่ผ่านมาจำนวน ส.ส.ในสภามีไม่มาก และส่วนใหญ่จะเป็น ส.ส.เก่า สัดส่วนอยู่ที่ 70 : 30 จึงทำให้ไม่มีภาระด้านงบประมาณ แต่หลังยุค คสช. อดีตผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งพ้นวาระไป ทำให้มีอดีต ส.ส.เพิมขึ้น ต่อมาจึงมีการปรับงบจากเดิมได้เงินทุนเลี้ยงชีพรายเดือนตลอดชีวิต เป็น 2 เท่าของการดำรงตำแหน่ง อัตราอยู่ที่เดือนละ 9,000 – 35,600 บาท” อดีต ส.ส.กรุงเทพฯ กล่าว
เปิดสวัสดิการ ผู้เคยเป็นสมาชิกรัฐสภา
นอกจากการได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพรายเดือนตลอดชีวิตแล้ว ยังมีสวัสดิการในด้านอื่น ๆ อีกเช่น ค่ารักษาพยาบาล สามารถเบิกได้ทั้ง โรงพยาบาลรัฐและเอกชน และคลินิก ผู้ป่วยในเบิกได้ 50,000 บาท/ปี ผู้ป่วยนอกเบิกได้ 30,000 บาท/ปี
หรือการศึกษาบุตร สามารถเบิกได้ตั้งแต่ระดับประถม – ปริญญาตรี โดยเบิกได้ไม่เกินอัตราที่กรมบัญชีกลางกำหนด เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย คนที่ 1 และ คนที่ 2 (ไม่ใช่บุตรบุญธรรม) เบิกได้ทั้งสถานศึกษาของราชการและเอกชนในประเทศไทยเท่านั้น
กรณีเงินทุนเลี้ยงชีพ ได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเป็นรายเดือน เกณฑ์การได้รับเงินเป็นไปตามระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่ง (ระยะเวลาดำรงตำแหน่งนับเฉพาะการเป็น ส.ส. และ ส.ว.ในอัตรา 9,000 – 35,600 บาท)
ในรายที่ถึงแก่กรรม จะได้รับเงินช่วยเหลือ 100,000 บาท และค่าพวงหรีด 1,000 บาท กรณีทุพพลภาพได้รับเงินช่วยเหลือ เดือนละ 5,000 บาท/เดือน
เผยช่องโหว่รับสวัสดิการ ฐานะอดีต ส.ส.
นายบุญยอด ตั้งข้อสังเกต สำหรับ ส.ส.เขต ที่ลาออก หากสภามีอายุเหลือไม่ถึง 180 วัน ไม่ต้องจัดการเลือกตั้งซ่อม เนื่องจากไม่ต้องการให้สิ้นเปลืองงบประมาณ
ในขณะที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่มีข้อกำหนดดังกล่าวจึงทำให้มีสามารถเลื่อน ส.ส.ลำดับถัดไปขึ้นทันที ดังนั้นเพื่อป้องกันการอาศัยช่องโหว่ในการรับสวัสดิการเหล่านี้จึงควรมีการปรับระเบียบการเลื่อน ส.ส.บัญชีรายชื่อให้ใกล้เคียงกับ ส.ส.เขต หรือมีระยะเวลาเช่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ลาออก 6 เดือนสภาหมดวาระ จะไม่ได้รับการเลื่อนลำดับขึ้นมาเป็น ส.ส ซึ่งจะถือว่าเป็นการลดภาระในการรับสวัสดิการที่รัฐต้องจ่ายให้
ในอนาคตหากมีผู้เห็นช่องโหว่ทางกฎหมาย โดยใช้รูปแบบการลาออกเพื่อหวังที่จะได้รับ “สวัสดิการ” มากกว่า การได้โปรไฟล์ “อดีต ส.ส.” ทางรัฐสภาจะมีแนวทางปิดช่องว่างอย่างไร