วันนี้ (19 มี.ค. 66) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ระหว่างลงพื้นที่หาเสียง จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง
กล่าวถึงกระแสการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรว่า ไม่ได้ใส่ใจแล้ว เพราะอย่างไร วันสุดท้ายของวาระรัฐบาล คือวันที่ 23 มี.ค.66 แต่ถ้ายุบสภาฯ วันสุดท้ายได้คือ 22 มี.ค.66
พรรคเพื่อไทย เตรียมการเกี่ยวกับระยะเวลาปฏิบัติการเลือกตั้งเรียบร้อย โดยใช้หลักวันที่ 20 มี.ค.66 เป็นเกณฑ์วันยุบสภาฯ แล้วขยับวันเวลาไป เช่น หากยุบสภาฯ วันที่ 20 มี.ค.66 ก็จะถือว่ารับสมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งในวันที่ 3-7 เม.ย.66 และรับสมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อในวันที่ 4-7 เม.ย. 66 ดังนั้น พรรคเพื่อไทยต้องจัดไทม์ไลน์ให้สอดรับกับตารางเวลาดังกล่าว
ขณะเดียวกัน นพ.ชลน่าน ยังเปิดเผยว่าก็มีข่าวว่า ครม.จะประชุมนัดสุดท้ายในวันที่ 21 มี.ค. 66 จึงมีคนคาดการณ์ว่า ช่วงบ่ายหลังประชุม ครม.อาจมีการประกาศยุบสภาฯ หมายความว่า นายกฯลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในพระราชกฤษฎีกานั้น
ส่วนการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ระบุว่า จะไม่ยุบสภาในวันเกิดของตนเอง (21 มี.ค. 66) นั้น นพ.ชลน่าน ตอบว่า แล้วแต่ว่าจะเป็นวันที่เท่าไร เพราะเราไม่ได้ใส่ใจแล้ว เรากำหนดไทม์ไลน์คาดการณ์ว่า นายกฯ จะยุบสภาฯ โดยเร็วที่สุด ก็คือวันที่ 20 มี.ค.66
ผู้สื่อข่าวสอบถามถึงขั้นตอนของการประกาศตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ นพ.ชลน่าน ชี้แจงว่า ตามข้อกำหนดต้องรับฟังความเห็นในพื้นที่เลือกตั้ง โดยกฎหมายเปิดโอกาสให้สามารถจัดไพรมารีโหวตในพื้นที่เลือกตั้งได้จังหวัดละ 1 จุดได้แล้ว ก็สามารถส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตได้ทุกเขตในจังหวัดนั้น
ขณะเดียวกัน กรรมการสรรหาต้องส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อไม่เกิน 100 ชื่อตามกฎหมายไปในไพรมารีโหวตด้วย พรรคเพื่อไทยจึงกำหนดไพรมารีโหวตในวันที่ 26 – 28 มี.ค.66 โดยดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 วันนี้ จึงจะทราบบัญชีรายชื่อ แต่จะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับไพรมารีโหวต
ส่วนจะลำดับอย่างไร กรรมการสรรหาจะรับผลการลงมติไพรมารีแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการจัดลำดับ เพื่อเสนอให้กรรมการบริหารให้ความเห็นชอบ คาดว่าผลการลงมติลำดับบัญชีรายชื่อจะแล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 1 เม.ย.66
เมื่อถามต่อไปว่า บุคคลที่เป็นแคนดิเดตนายกฯ สมควรเป็นบัญชีรายชื่อลำดับต้นหรือไม่ นพ.ชลน่าน ตอบว่า ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ ขึ้นอยู่กับแต่ละพรรคว่ามีความเห็นอย่างไร จะอยู่ก็ได้ โดยพรรคเพื่อไทยเสนอ 3 รายชื่อ ซึ่งเข้าสู่กระบวนการพิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 5 เม.ย.โดยคณะกรรมการบริหารพรรคและตัวแทนสาขาพรรคการเมือง
นพ.ชลน่าน ระบุความเห็นส่วนตัวว่า ควรให้บุคคลที่จะได้รับการเสนอเป็นแคนดิเดตนายกฯ อยู่ในบัญชีรายชื่อด้วย เพราะพรรคเพื่อไทยเคยยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญให้นายกฯมาจาก ส.ส. แต่ย้ำว่า เป็นความเห็นส่วนตัว เนื่องจากพรรคยังไม่ได้ประชุมเรื่องนี้ และต้องมีหนังสือความยินยอมชัดเจนจากผู้ถูกเสนอชื่อด้วย ทั้งแคนดิเดตนายกฯ และผู้ซึ่งประสงค์ลงสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ
ผู้สื่อข่าวสอบถามความเห็นว่า หากพรรครวมไทยสร้างชาติเสนอให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกฯจะให้อยู่ในบัญชีรายชื่อด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่าน ตอบว่า เชื่อว่า ไม่ลงบัญชีรายชื่อ เพราะน่าจะแยกกันกับแคนดิเดตนายกฯ
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เปิดช่องจะเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ถ้าอยากรู้ว่าประชาธิปไตยที่แท้จริง ก็ควรให้ความสำคัญกับสภาฯ ด้วย ถ้าคุณเป็นผู้แทนคุณจะรู้เห็นเลยว่าสภาฯ เป็นอย่างไร