หลังมีการประกาศ พ.ร.ฎ.ยุบสภา ลงในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาแล้ว กกต.จะต้องประกาศวันเลือกตั้ง ภายใน 5 วัน หรือภายในวันที่ 24 มี.ค.นี้ ซึ่ง กกต.จะกำหนดทั้งวันเลือกตั้ง และวันสมัครรับเลือกตั้ง
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 103 ระบุไว้ว่า กำหนดวันเลือกตั้งต้อง “ไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วันหลังมีพระราชกฤษฎีกายุบสภา” ดังนั้น วันเลือกตั้งก็เป็นไปได้ทั้งวันที่ 7 พ.ค. หรือ 14 พ.ค.2566 ซึ่งจะไม่เกินไปจากนี้
แต่ถ้าพิจารณาความเป็นไปได้ วันที่ 4 เป็นวันฉัตรมงคล เพราะฉะนั้น ถ้า กกต.เลือกวันที่ 7 อาจติดช่วงวันหยุดยาว กกต.ก็อาจจะเลือกวันที่ 14 น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด และคนที่กลับภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดยาว จะได้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 7 ได้ด้วย
ส่วนข้อกังวลจากกรณี นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี แกนนำพรรคชาติพัฒนากล้า ไปร้องศาลปกครอง ให้เพิกถอนประกาศ กกต.เรื่องแบ่งเขตเลือกตั้ง จะทำให้วันเลือกตั้งถูกขยับออกไปหรือไม่นั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ระบุว่า ขึ้นอยู่กับศาลปกครองจะสั่งแต่หากศาลปกครองมีคำสั่งออกมาว่า การแบ่งเขตเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย กกต.ก็ต้องแบ่งเขตใหม่ ซึ่งจะไม่กระทบต่อกรอบเวลาเลือกตั้ง
ทั้งนี้ รัฐบาลชุดนี้จะยังรักษาการต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งถ้าวันเลือกตั้ง ยังเป็นวันที่ 14 พ.ค.ก็น่าจะได้รัฐบาลชุดใหม่ในเดือนส.ค.นี้
ระหว่างรอรัฐบาลชุดใหม่ ครม.ชุดนี้จะมีข้อจำกัดในการใช้อำนาจ คือ ไม่สามารถอนุมัติงาน หรือ โครงการที่มีผลผูกพันไปยัง ครม.ชุดใหม่ได้ แต่งตั้งโยกย้ายไม่ได้ เบิกจ่ายงบฉุกเฉิน-จำเป็นไม่ได้ และไม่สามารถใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือ บุคลากรของรัฐ ที่มีผลต่อการเลือกตั้งได้