กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้อนุมัติคำขอของศรีลังกา สำหรับเงินกู้ช่วยเหลือมูลค่า 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 9.9 หมื่นล้านบาท) เพื่อเพิ่มความหวังในการบรรเทาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ ที่ประสบมาตลอดช่วงปีก่อน
คณะกรรมการของ IMF ยืนยันว่า ทางองค์การได้ลงนามในการอนุมัติเงินกู้แก่ศรีลังกาแล้ว นับเป็นการเปิดทางสำหรับการปล่อยเงินทุน และเริ่มโครงการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของประเทศเป็นระยะเวลา 4 ปี ที่ออกแบบมาเพื่อจัดการกับวิกฤตที่เกิดขึ้นในศรีลังกา
คริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการผู้จัดการ IMF เตือนว่า รัฐบาลศรีลังกาต้องดำเนินการปฏิรูประบบภาษีต่อไป และเพิ่มระบบตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมสำหรับคนจน ตลอดจนควบคุมการคอร์รัปชันที่ส่วนหนึ่งถูกวิจารณ์ว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจศรีลังกา
รานิล วิกรมสิงเห ประธานาธิบดีศรีลังกา กล่าวในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ (20 มี.ค.) ว่า “ผมขอขอบคุณ IMF และพันธมิตรระหว่างประเทศของเรา สำหรับการสนับสนุนของพวกเขา ในขณะที่เราพยายามทำให้เศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติในระยะยาว ผ่านการจัดการทางการคลังที่รอบคอบ และความทะเยอทะยานของเราในด้านวาระการปฏิรูป”
ศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศในเดือน เม.ย. 2565 เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศถดถอยอย่างรุนแรงที่สุด นับตั้งแต่ประเทศได้รับเอกราชจากอังกฤษ เนื่องจากการขาดแคลนเงินตราต่างประเทศจำนวนมาก ส่งผลให้ศรีลังกา ซึ่งมีประชากรราว 22 ล้านคน ไม่มีเงินพอที่จะนำเข้าแม้แต่สินค้าที่จำเป็นที่สุดในการดำรงชีวิต
หลังจากการล้มละลายทางเศรษฐกิจ ประชาชนชาวศรีลังกาได้ออกประท้วงอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการจัดการทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาด การขาดแคลนอาหาร เชื้อเพลิงและยารักษาโรคที่ขาดแคลนอย่างเฉียบพลัน และภาวะเงินเฟ้อที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้ โกตาบายา ราชปักษา ประธานาธิบดีในขณะนั้น ต้องหนีออกจากประเทศ และลาออกในเดือน ก.ค.ปีก่อน
วิกรมสิงเหเข้ามาแทนที่ราชปักษาในตำแหน่งประธานาธิบดี และดำเนินการลดการใช้จ่ายอย่างเข้มงวด ตลอดจนการขึ้นภาษี เพื่อพยายามรับความช่วยเหลือจาก IMF ก่อนที่เจ้าหน้าที่ของ IMF จะได้อนุมัติเงินช่วยเหลือชั่วคราวในเดือน ก.ย. แต่มีการระงับการอนุมัติเงินช่วยเหลือชุดสุดท้ายไว้จนกว่าจีน ซึ่งเป็นผู้ให้กู้ทวิภาคีรายใหญ่ที่สุดของศรีลังกา ตกลงที่จะปรับโครงสร้างเงินกู้แก่รัฐบาลศรีลังกา
รัฐบาลจีนกล่าวในปีนี้ว่า พวกเขาได้เสนอการพักชำระหนี้เป็นเวลา 2 ปีสำหรับเงินให้กู้ยืมแก่ศรีลังกา แต่ข้อตกลงดังกล่าวไม่เป็นไปตามที่ IMF คาดหวังไว้สำหรับความยั่งยืนทางหนี้ของศรีลังกา ทั้งนี้ วิกรมสิงเกกล่าวหลังจากที่จีนตกลงที่จะปรับโครงสร้างเงินกู้ว่า เขาคาดว่าความช่วยเหลือชุดแรกของ IMF จะพร้อมถูกนำมาใช้ได้ภายในเดือนนี้
นอกจากนี้ รัฐบาลศรีลังกายังทำตามข้อตกลง IMF เพื่อยกเลิกการระงับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศจำนวนหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับโครงการที่ถูกระงับ เนื่องจากศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้เมื่อปีที่แล้ว
ที่มา: