สรุปเหตุการณ์ประท้วงครั้งใหญ่ในฝรั่งเศส ประชาชนนับล้านทั่วประเทศออกมาชุมนุมคัดค้านแผนปฏิรูประบบบำนาญ โดยประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง
1. วันที่ 23 มีนาคม ที่ผ่านมา ชาวฝรั่งเศสกว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศออกมาประท้วงต่อต้านแผนปฏิรูประบบบำนาญของรัฐบาลที่ เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เป็นผู้เสนอ โดยการประท้วงครั้งนี้ ถือเป็นการประท้วงใหญ่ครั้งที่ 9 และเป็นการประท้วงที่มีความรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สหภาพแรงงานเริ่มนัดชุมนุมประท้วงครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 มกราคม ของปีนี้
2. กระทรวงมหาดไทยของฝรั่งเศส รายงานเมื่อวันที่ 26 มีนาคม ว่า ขณะนี้ มีผู้ชุมนุมถูกจับกุม 457 คน และเจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้รับบาดเจ็บ 441 คน
ที่กรุงปารีส มีการวางเพลิงตามท้องถนนและสถานที่ต่าง ๆ รวม 903 แห่ง แม้การชุมนุมคัดค้านกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญส่วนมากในหลายพื้นที่ของประเทศจะเป็นไปโดยสงบ แต่ผลของการชุมนุมอย่างต่อเนื่องตลอดหลายสัปดาห์ส่งผลให้ระบบขนส่งสาธารณะต้องหยุดชะงัก รวมถึงขยะที่ล้นเอ่อ เนื่องจากพนักงานเก็บขยะหยุดงานประท้วง
3. ใจความสำคัญของกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญของฝรั่งเศส คือ การเพิ่มอายุการเกษียณจากเดิมอายุ 62 ปี เป็น 64 ปี และขยายจำนวนปีที่ผู้คนต้องจ่ายเงินสมทบเพื่อให้ได้เงินบำนาญเต็มจำนวน จาก 42 ปี เป็น 43 ปี รวมถึงกำหนดเป้าหมายที่จะลดการให้เงินบำนาญขั้นต่ำเหลือ 1,200 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 44,000 บาท) หมายความว่า ประชาชนต้องอยู่ในระบบการทำงานนานขึ้น
4. ปัจจุบัน คนฝรั่งเศสที่อยู่ในวัยเกษียณจะได้รับเงินบำนาญจากรัฐ เฉลี่ยอยู่ที่ 1,400 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 51,500 บาท) เงินจำนวนนี้มาจากเงินสมทบของแรงงานในระบบ
ดังนั้น เมื่อประชากรผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้น จึงส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบบำนาญในปัจจุบัน นำมาสู่การขยายอายุเกษียณและการกำหนดอัตราการจ่ายเงินบำนาญใหม่เพื่อไม่ให้ระบบบำนาญขาดดุล
5. กระทรวงแรงงานของฝรั่งเศส ประมาณการว่า การเลื่อนอายุเกษียณออกไปอีก 2 ปี จะช่วยให้รัฐสามารถยืดระยะเวลาในการจ่ายเงินได้ และจะทำให้มีเงินสมทบในกองทุนบำนาญเพิ่มขึ้น 177,000 ล้านยูโร (650,000 ล้านบาท) ซึ่งระบบบำนาญใหม่จะมีจุดคุ้มทุนภายในปี 2027
6. อย่างไรก็ดี มาครง เคยแสดงความพยายามในการเสนอร่างกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญของฝรั่งเศสมาแล้วก่อนหน้านี้ ในเดือนธันวาคม 2563 นำไปสู่กระแสความไม่พอใจอย่างกว้างขวางและการนัดหมายหยุดงานทั่วประเทศเช่นกัน แต่เพราะเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 วาระดังกล่าวจึงถูกปัดตกไป
7. ทว่าในครั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม มาครง ได้ใช้อำนาจพิเศษตามรัฐธรรมนูญผ่านร่างกฎหมายโดยไม่พึ่งการลงมติของสภาฯ ด้วยการย้ำถึงความจำเป็นในการพยุงระบบบำนาญให้อยู่รอดต่อไปได้ โดยขอเลือกการ “รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม” มากกว่าสนใจผลโพลที่สะท้อนว่า คะแนนนิยมของรัฐบาลตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การตัดสินใจเตรียมการให้กฎหมายมีผลบังคับใช้
8. ด้านฝ่ายค้านมองว่า รัฐบาลมองในแง่ร้ายเกินจริงและไม่ยอมหามาตรการอื่นแทน เช่น เก็บภาษีจากคนทำงานหรือคนรวยเพิ่ม รวมถึงแยกเงินบำนาญออกจากอัตราเงินเฟ้อ พร้อมบอกด้วยว่า มาครง กำลังทำลายสิทธิในการเกษียณอายุ และสร้างภาระให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมเพียงเพราะไม่ยอมขึ้นภาษีคนรวย
ด้านนักวิจารณ์ยังกล่าวด้วยว่า การตัดสินใจของรัฐบาลเป็นการ “บ่อนทำลายประชาธิปไตย”
ขณะที่หนึ่งในผู้ชุมนุมวัย 72 ปี ผู้พำนักอาศัยอยู่ในชานเมืองปารีส บอกว่า “เราเบื่อประธานาธิบดีที่คิดว่าตัวเองเป็นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 คนที่ไม่ฟังอะไรทั้งสิ้น คิดว่าตัวเองเป็นคนเดียวที่รู้ว่าอะไรดีกับบ้านเมืองนี้”
9. ทั้งนี้ ในวันอังคารที่ 28 มีนาคม สหภาพแรงงานได้ประกาศนัดหยุดงานทั่วประเทศและรวมตัวกันประท้วงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะตรงกับหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินเยือนฝรั่งเศสครั้งแรกในรัชสมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 และพระราชินีคามิลลา แห่งสหราชอาณาจักร ที่ถูกเลื่อนจากวันที่ 26 มีนาคม ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยจากการชุมนุมในห้วงนี้
ที่มา:
- https://www.aljazeera.com/news/2023/3/24/calls-for-more-pensions-protests-as-hundreds-arrested-in-france
- https://www.reuters.com/world/europe/macron-aims-calm-things-down-address-france-over-pension-changes-2023-03-22/
- https://www.bbc.com/news/uk-65064510
- https://www.france24.com/en/france/20230323-democracy-at-stake-french-protesters-vent-fury-at-macron-over-pension-push
- https://blogs.lse.ac.uk/europpblog/2023/03/23/macrons-pension-reform-deepens-frances-democratic-crisis/