วันนี้ (27 มี.ค.2566) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงว่า ให้ความสำคัญถึงสิทธิในการเลือกตั้งของคนพิการทุพพลภาพและผู้สูงอายุ ตามมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดให้มีการอํานวยความสะดวกสําหรับการออกเสียงลงคะแนนของคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุไว้เป็นพิเศษ หรือจัดให้มีการช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนน ภายใต้การกํากับดูแลของกรรมการประจําหน่วยเลือกตั้ง โดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) เป็นผู้อำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือในการออกเสียงลงคะแนนแก่คนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ณ หน่วยเลือกตั้งไว้เป็นพิเศษ ด้วยการจัดวางคูหาออกเสียงลงคะแนนในที่เลือกตั้ง ให้คำนึงถึงความสะดวกในการออกเสียงลงคะแนนของคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ โดยให้จัดวางคูหาอยู่ห่างจากคูหาอื่นอย่างน้อย 1.50 เมตร โต๊ะวางคูหาออกเสียงลงคะแนนมีความสูงไม่เกิน 0.75 เมตร และจัดเก้าอี้ไว้ในคูหาออกเสียงลงคะแนนด้วย
ให้คำนึงถึงลักษณะทางกายภาพของคนพิการ ทุพพลภาพ และผู้สูงอายุ หากไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้ กปน.หรือญาติหรือบุคคลที่ไว้วางใจ เป็นผู้ทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งแทน โดยความยินยอมและเป็นไปตามเจตนาของคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุนั้น และให้ กปน. บันทึกการกระทำดังกล่าวลงในรายงานเหตุการณ์ประจำที่เลือกตั้ง (ส.ส. 5/6) และให้ถือว่าเป็นการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ
ส่วนกรณีสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งกลาง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ผู้ดำเนินการจัดและควบคุมการออกเสียงลงคะแนน ที่เลือกตั้งกลางสำหรับคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ โดยได้กำหนดสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งกลางสำหรับคนพิการ ทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ไว้จำนวนทั้งสิ้น 28 แห่ง ใน 23 จังหวัด
กรณีสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งกลางสำหรับคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ หีบบัตรเลือกตั้งในการออกเสียงลงคะแนน ต้องกำหนดสีหรือมีเครื่องหมายแสดงหีบบัตรเลือกตั้งแต่ละใบไว้ให้แตกต่างกัน และจัดให้มีการสื่อสารที่แสดงขั้นตอนและวิธีการออกเสียงลงคะแนน พร้อมอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกในการออกเสียงลงคะแนนไว้ให้แก่คนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุด้วย
รวมทั้งจัดการอบรมเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง และประชาสัมพันธ์การเข้าถึงสิทธิในการเลือกตั้งของคนพิการ หรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุ ให้มีความรู้ความเข้าใจในการอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
ทั้งนี้ สำนักงาน กกต.ตระหนักถึงสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่อคนพิการหรือทุพพลภาพ อย่างเสมอภาค ทัดเทียมกับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะสิทธิในการเข้าถึงการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดถึงความก้าวหน้า ความสามารถในการจัดการเลือกตั้งอย่างเป็นมืออาชีพ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล