วันนี้ (30 มี.ค.2566) สมาคมศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดเสวนาการเมืองไทย-หลังการเลือกตั้ง โดย ศ.ธีรยุทธ บุญมี หนึ่งในศิษย์เก่าสวนกุหลาบฯ ประเมินการเมืองไทย ก่อนออกตัวว่า ไม่ใช่นักอุดมการณ์และไม่ใช่นักประชาธิปไตย เพราะมองว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องประชาธิปไตยเพียงอย่างเดียว และไม่จำกัดเฉพาะเรื่องสิทธิเสรีภาพ จึงต้องเปิดใจกว้างให้มากขึ้น
พร้อมมองว่า การพัฒนาการเมืองไทย ผ่านการเปลี่ยนแปลงใหญ่หลายครั้ง จนมาถึงยุคปฏิรูป หรือ ที่เรียกว่า สงครามสีเสื้อ เกิดเป็นการเมืองการแตกขั้วชัดเจน และยังตั้งข้อสังเกตกรณีพรรคเพื่อไทย ได้รับชัยชนะติดต่อกันหลายครั้งในช่วง 20 ปี ถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดาอาจเป็นไปได้ว่านโยบายเริ่มต้น จาก 30 บาทรักษาทุกโรค โดนใจผู้มีรายได้น้อยที่รู้สึกว่าถูกกดทับมานาน
ศ.ธีรยุทธ ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะได้เห็นพรรคเพื่อไทยเป็นภาพสะท้อนของพรรคที่มาจากฐานมวลชนอย่างจริงจัง
เตือน ส.ว.ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวแทรกแซงหลังเลือกตั้งเพราะกลไก ส.ว.มีขึ้นด้วยเหตุผลเฉพาะกิจ อย่าฝืนผลการเลือกตั้งที่มาจากเสียงประชาชน
ส่วนเวทีเสวนาศิษย์เก่าสวนกุหลาบจากหลายพรรคการเมือง สะท้อนความคิดเห็นการเมืองก่อนและหลังการเลือกตั้งอย่างเข้มข้น โดย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช จากพรรคเพื่อไทย แสดงความกังวลกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่เชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคจะกวาดเก้าอี้ ส.ส. 2 ระบบ ประมาณ 350 คน พร้อมย้ำเหตุยังไม่ประกาศชื่อแคนดิเดตนายกฯ ไม่เกี่ยวกับข่าวนายทักษิณ ชินวัตร จะกลับประเทศ
ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการแข่งขันระหว่าง “เอาตู่-ไม่เอาตู่” หรือ “เอาทักษิณ-ไม่เอาทักษิณ” รวมถึงการแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง ด้วยนโยบายและตัวผู้สมัครถือว่าการเมืองพัฒนามากขึ้นแต่ก็อาจไม่เต็มร้อยเพราะมีการปลุกผีเพื่อผลประโยชน์ของแต่ละฝ่าย
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร จากพรรคเสรีรวมไทย ระบุว่า ไม่เคยเห็นกฎหมายให้ผู้สมัคร ส.ส.ย้ายพรรคได้ภายใน 30 วัน รวมถึงผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ กลายเป็นที่อยู่ของคนที่นำเงินมาให้ และหากใครให้เงินมากที่สุดจะอยู่ในลำดับต้น ๆ พร้อมชี้ว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ถอดใจการเมือง ท้ายที่สุดจะเหลือ 2 ขั้วอำนาจ คือ ขั้วสนับสนุน และไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์