หน้าแรก Voice TV ครม. รับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ

ครม. รับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ

87
0
ครม.-รับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ-ตามมาตรา 270-ของรัฐธรรมนูญ

คณะรัฐมนตี รับทราบรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญฯ

อนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี วันนี้ (11 เมษายน 2566) รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ ฯ ครั้งที่ 18 (เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2565) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ได้จัดทำรายงานความคืบหน้า เพื่อเสนอรัฐสภาทราบเป็นรอบสุดท้าย เนื่องจากระยะเวลาของแผนการปฏิรูปประเทศได้สิ้นสุดลงแล้ว เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ตามมติคณะรัฐมนตรี (27 กันยายน 2565) ซึ่งจากการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาได้บรรลุผลของการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ ในรัฐธรรมนูญฯ แล้ว โดยสรุปได้ ดังนี้ 

1. สรุปผลการดำเนินการของแผนการปฏิรูปประเทศทั้ง 13 ด้าน มีผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรม ดังนี้

1.1 ด้านการเมือง เช่น การจัดทำชุดความรู้การปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในรูปแบบหนังสือ สำหรับเยาวชนและประชาชนทั่วไป จัดให้มีแอปพลิเคชัน Smart Vote Civic Education เพื่ออำนวยความสะดวก ให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเข้าถึงข้อมูลผู้รับสมัครรับเลือกตั้ง ข้อมูลพรรคการเมือง และข้อมูล ที่ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้ง 

1.2 ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมให้เกิดการปรับตัวของการทำงาน และการให้บริการของภาครัฐให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ปัจจุบันมีงานบริการภาครัฐผ่านระบบ e-Service รวม 343 บริการ มีแพลตฟอร์มกลางสำหรับประชาชน Citizen Portal ผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” และแพลตฟอร์มกลางสำหรับภาคธุรกิจผ่านเว็บไซต์ (www.bizportal.go.th) 

1.3 ด้านกฎหมาย มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.หลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อให้การตรากฎหมายเป็นไป โดยละเอียดรอบคอบ ไม่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็น และพัฒนากฎหมายให้ทันสมัย และสอดคล้องกับบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป 

1.4 ด้านกระบวนการยุติธรรม มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ระยะเวลาในการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 ในการกำหนดระยะเวลาดำเนินงาน ในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน เป็นต้น 

1.5 ด้านเศรษฐกิจ มีระบบภาษีเพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของรัฐ มีระบบการยื่นแบบและชำระภาษีออนไลน์ (e-Filling) และมีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติกองทุนช่วยเหลือเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและภาคบริการ ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า พ.ศ. …. หรือ พ.ร.บ. FTA 

1.6 ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีการจัดตั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ซึ่งเป็นกลไกภาครัฐในการบูรณาการการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ 

1.7 ด้านสาธารณสุข มีคลินิกหมอครอบครัว หรือ PCC : Primary Care Cluster และ Telemedicine ซึ่งเป็น การนำเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยกันได้แบบ Real-time 

1.8 ด้านสื่อสารมวลชนเทคโนโลยีสารสนเทศ มีศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Anti-Fake News Center : AFNC) ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล และดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำความผิด รวมทั้งเผยแพร่ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาข่าวปลอมผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น Website Line และ Facebook 

1.9 ด้านสังคม มีการจัดให้มีการกระจายการถือครองที่ดิน อย่างเป็นธรรม กระจายที่ดินทำกินให้ชุมชนแล้วจำนวน 1,442 ผืน ครอบคลุมพื้นที่ 70 จังหวัด รวมเนื้อที่ 5,757,682 ไร่ อันเป็นการช่วยเหลือประชาชนทั่วประเทศให้มีที่ดินทำกินรวม 69,368 ราย 

1.10 ด้านพลังงาน มีการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อปรับกระบวนการอนุมัติ อนุญาตของหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องให้สามารถลดระยะเวลาและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น เป็นต้น

1.11 ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการ มีระบบการจัดการเรื่องร้องเรียนและอุทธรณ์ ด้วยระบบดิจิทัล (e-Complaint and Appeal) และมีระบบรับแจ้งเบาะแสทางเว็บไซต์ ปัจจุบันมีผู้แจ้งเบาะแสทั้งหมด 76 เรื่อง เป็นการแจ้งแบบปกปิดตัวตน จำนวน 66 เรื่อง และเป็นการแจ้งแบบเปิดเผยตัวตน จำนวน 10 เรื่อง 

1.12 ด้านการศึกษา มีการบังคับใช้ พ.ร.บ. กองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ และลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาและมีการบังคับใช้ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด 

1.13 ด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  มีการพัฒนาศักยภาพพื้นที่ให้เป็นเมืองสร้างสรรค์และวัฒนธรรม เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน รวมถึงการพัฒนาชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ให้มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เช่น ชุมชนแหลมสัก จ. กระบี่ และบ้านเมืองรวง จ. เชียงราย 

2. สรุปผลการดำเนินการจัดทำ/ปรับปรุงกฎหมายการปฏิรูปประเทศ

โดยเป็นกฎหมายภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) จำนวน 45 ฉบับ ณ สิ้นเดือน ธันวาคม 2565 ประกอบด้วย กฎหมายที่ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 10 ฉบับ กฎหมายที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ จำนวน 35 ฉบับ และยังมีกฎหมายที่อยู่ระหว่างหน่วยงานของรัฐจัดทำร่างกฎหมาย จำนวน 22 ฉบับ ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการเร่งดำเนินการจัดทำ/ปรับปรุง ให้แล้วเสร็จ และนำเสนอตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากแผนการปฏิรูปประเทศสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 การดำเนินการในระยะต่อไปนั้น หน่วยงานรับผิดชอบจะต้องนำประเด็นปฏิรูปประเทศมาดำเนินการอย่างต่อเนื่องผ่านกลไกของแผนระดับที่ 2 ได้แก่ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศและนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคง และแผนระดับที่ 3 ได้แก่แผนปฏิบัติราชการและแผนปฏิบัติการด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสัมฤทธิ์ผลตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญด้วย //

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่