1 ใน สมาชิกวุฒิสภาคาดการณ์ว่า หลังการเลือกตั้ง 14 พ.ค.นี้ จะเข้าสู่ขั้นตอนเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาฯ จะเหลือตัวเลือกไม่มาก และ ส.ว.จะร่วมหารือกันก่อนลงมติ โดยยึดเงื่อนไขปัจจัยความเหมาะสมและคำนึงถึงความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
วันนี้ (17 เม.ย.2566) นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ระบุถึงแนวโน้มการลงมติเลือกนายกฯ ของ ส.ว.ว่า มีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของ ส.ว. ทั้งเงื่อนเวลาและสถานการณ์ที่แตกต่างจากการเลือกตั้งในปี 2562
ต้องเลือกคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ไม่สร้างปัญหาให้ประเทศ
พร้อมกันนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ มาเกี่ยวข้องให้ ส.ว.ต้องพิจารณา รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของพรรคการเมือง ที่มีการแยกตัวออกไป ซึ่งแตกต่างจากการเลือกตั้งในปี 2562
ส่วนแนวคิดของ ส.ว.บางคน ที่มีแนวโน้มเลือกนายกฯ ในบัญชีของพรรคที่ชนะเลือกตั้ง ก็เป็นเหตุผลของ ส.ว.แต่ละคน แต่เชื่อว่า ไม่น่าจะเป็นหลักการเดียวที่ใช้ตัดสินใจ เพราะหากยึดหลักเพียงเสียงข้างมากในสภาฯ เท่านั้น ก็คงไม่ต้องมี ส.ว. เข้ามาร่วมเลือกนายกฯ
ดังนั้นการทำหน้าที่ของ ส.ว. ในการเลือกนายกฯ เป็นครั้งสุดท้าย ต้องระมัดระวังอย่างมาก เพราะจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา หาก ส.ส. ฝ่ายเดียวมีคะแนนเสียงมากกว่า 300 เสียง สิ่งที่เกิดขึ้นคือเผด็จการรัฐสภา และประชาชนอาจจะรับไม่ได้
นายเสรี ยอมรับว่า ภาพลักษณ์ ส.ว.ในขณะนี้อาจจะแบ่งเป็นกลุ่ม เป็นฝ่าย แต่สุดท้ายแล้วผลการเลือกตั้งจะเป็นตัวตัดสิน และ ส.ว. จะร่วมหารือกันอีกครั้งก่อนลงมติเลือกใครเป็นนายกฯ ซึ่งไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าจะเป็นการสนับสนุนบุคคลเพียงคนเดียวเหมือนปี 2562 หรือไม่ แต่คาดการณ์ว่าสุดท้ายแล้วจะเหลือตัวเลือกนายกฯ ที่วัดพลังกัน 2 ฝ่าย
อ่านข่าวเพิ่ม :
“ปิยบุตร” เข้ารับทราบข้อกล่าวหา มาตรา 116
อัยการเลื่อนฟังคำสั่งคดี “ส.ว.อุปกิต” หลังยื่นขอความเป็นธรรม