ขมวดปมทำไมคนไทยต้องจ่าย ‘ค่าไฟแพง’ แบบก้าวกระโดด รู้ไหมปี 66 ทุบสถิติค่า FT สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย
อากาศก็ร้อน ค่าไฟก็พุ่ง ทำเอาหลายคนปาดเหงื่อแทบไม่ทัน เมื่อเจอบิล ‘ค่าไฟ’ ที่แพงขึ้นอีกเท่าตัว สวนทางกับรายรับที่ขัดสน ในยุคที่หลายคนเรียกว่า ‘แพงทั้งแผ่นดิน’ โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ ซึ่งกลายเป็นพื้นที่ร้องทุกข์และตั้งคำถาม เหตุใดคนไทยต้องจ่ายค่าไฟที่แพงขึ้นทุกวัน
ด้านท่าทีของผู้นำรัฐบาลอย่าง ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี ก็ตอบข้อสงสัยว่าต้องไปหาสาเหตุของค่าไฟแพง การบริหารมีความซับซ้อนหลายอย่าง ส่วนการขอให้ลดค่าไฟค่าแก๊ส ต้องไปดูว่าทำได้หรือไม่
ด้วยเหตุนี้ ‘วอยซ์’ ชวน อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภองค์กรของผู้บริโภค ผู้เชี่ยวชาญที่เคยออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องภาครัฐในการแก้ไขปัญหาค่าไฟแพง มาร่วมอธิบายถึงต้นสายปลายเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น
‘อิฐบูรณ์’ เริ่มด้วยพื้นฐานว่าด้วยทำไมค่าไฟในครัวเรือนแพงถึง 4.72 บาท/หน่วย ในช่วง ม.ค.-เม.ย. 66 และมีข่าวจาก กกพ. ว่าจะปรับค่า FT หรือ ค่าไฟฟ้าผันเเปร ขยับขึ้นมาอีก 5 สต. เป็น 4.77 บาท/หน่วย จากเดิมที่เจอตอนต้นปี 2565 อยู่ที่ 3.85 บาท/หน่วย เรียกง่ายๆว่าปีนี้จะได้ใช้ไฟเกือบ 5 บาทต่อหน่วย ซึ่งสาเหตุการก้าวกระโดดของค่าเอฟที ขยับขึ้นเมื่อต้นปี 2565 เริ่มจาก 1.39 สต./หน่วย แล้วกลางปีอยู่ที่ 24.77 สต./หน่วย ปลายปีกลายเป็น 93.43 สต./หน่วย ยังคงใช้มาถึง ม.ค.-เม.ย.ที่ตรึงค่าเอฟทีไว้
- สถิติค่า FT ของ กฟผ.
หากย้อนดูสถิติการขยับขึ้นของค่าเอฟทีในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. ตั้งแต่ปี 2554-2566 พบว่าในปี 2554 ค่าเอฟทีอยู่ที่ราคา 86.88 สต./หน่วย และในช่วงก่อนรัฐประหาร 2557 อยู่ที่ราคา 69.00 สต./หน่วย ต่อมาถึงปี 2564 พบว่าค่าเอฟทีของประเทศไทยติดลบมาโดยตลอด กระทั่งเริ่มมีสัญญานขยับขึ้นค่าเอฟทีในปี 2565 จนถึงการตรึงราคาในปัจจุบัน
อฐิบูรณ์สรุปง่ายๆ ว่าค่าเอฟทีจากติดลบขยับมาเป็นเกือบ 1 บาท/หน่วย เป็นตัวเลขสำคัญที่ทำให้ค่าไฟทะยานขึ้นมา และค่าเอฟที 93 สตางค์ต่อหน่วยเป็นค่าเอฟทีที่สูงที่สุด นับตั้งแต่เรามีค่าเอฟทีอยู่ในบิลค่าไฟตั้งแต่ปี 2535 ที่เคยสูงมาก 60 กว่า สต./หน่วยก็คือปี 2557 ก่อนรัฐประหาร
ผู้เชี่ยวชาญจากสภาองค์กรของผู้บริโภค พาถอยออกมามองให้กว้างทำไมค่าเอฟทีพุ่งทะยานแบบนี้ เพราะระบบพลังงานประเทศไทยเป็นระบบรวมศูนย์โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คือ กฟผ.เป็นผู้รับซื้อรายเดียว แต่เผอิญว่ามีนโยบายช่วง 2534-2535 เปิดโอกาสให้เอกชนมาร่วมผลิตไฟฟ้า เพื่อแบ่งเบาหนี้สาธารณะของประเทศที่ต้องให้กฟผ.ไปกู้เงินมาสร้างโรงไฟฟ้า ก็เลยมีการจัดทำสิ่งที่เรียกว่า PDP
แผนนโยบายพลังงานแห่งชาติ กำหนด กฟผ.ผลิตเท่าไหร่ เอกชนผลิตเท่าไร หลังจากนั้นกำลังการผลิตไฟฟ้าเอกชนก็เพิ่มอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันกำลังการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.จากที่เคยอยู่ประมาณ 50% ตอนนี้อยู่ที่ราว 33% ของกำลังผลิตติดตั้งทั้งหมดในประเทศไทย ที่เหลือเป็นของเอกชน ในรูปโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ หรือ IPP โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก SPP แล้วก็มีการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากเขื่อนของลาวเพิ่มเติมขึ้นมา
แสวงหาประโยชน์ในการพัฒนา
เหล่านี้ที่เกิดขึ้นสิ่งที่ทำให้ค่าไฟแพงคือ นโยบายหรือการหาเสียงว่า ประเทศจะมีการพัฒนาเศรษฐกิจเติบโตขึ้นต่อเนื่อง ทุกครั้งที่จะมีการเปลี่ยนรัฐบาล ใครอยากเป็นผู้นำรัฐบาลตลอด 20-30 ปี ทุกคนจะโชว์ประเทศไทยเศรษฐกิจจะดีขึ้น
การที่บอกว่าประเทศจะพัฒนาเพิ่มขึ้น แล้วไม่อธิบายเงื่อนไขว่าเศรษฐกิจที่เพิ่มนั้น จะมีค่าไฟที่เป็นธรรมกับประชาชนอย่างไร มันเลยตามมาด้วยการแสวงหาผลประโยชน์ของอุตสาหกรรมโรงไฟฟ้า และอุตสาหกรรมพลังงานที่จะเอามาใช้ในโรงไฟฟ้า เช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ
มันนำมาสู่การกำหนดโครงสร้างพลังงานไทย ถ้ารัฐบาลบอกเศรษฐกิจจะโตขึ้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องเดินหน้าตามนั้น สภาพัฒน์ก็มาคาดการณ์เพื่อรองรับว่าเศรษฐกิจจะโตขึ้น จริงไหมไม่มีใครตรวจสอบ นำมาสู่ตัวเลขการคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าใน PDP ซึ่งเป็นไปตามตัวเลขของพีดีพี
แล้วมันก็นำมาสู่ของจริงคือ มีโรงไฟฟ้ากี่หมื่นเมกกะวัตต์ภายในสิบปี แผนจัดหาก๊าซ ถ่านหิน ตามมาเป็นยวง เกิดการขยับในเศรษฐกิจพลังงาน ซึ่งก็ดันเศรษฐกิจภาพรวมไปในตัว แต่มันทำให้เกิดปัญหา ปกติเราผลิตพลังงานเพื่อมารองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจอื่นๆ
แต่วันนี้ธุรกิจพลังงานกำลังกินธุรกิจอื่นที่ควรเป็นตัวเลขดันจีดีพี กลายเป็นเศรษฐกิจขยายตัวเพราะเรามีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น นักลงทุนลงทุนกับก๊าซ แต่ไม่ใช่ภาคเศรษฐกิจส่วนอื่น แล้วค่าไฟฟ้าก็สูงขึ้น ทำให้ภาคเศรษฐกิจอื่นก็กังวลว่า เราจะไม่สามารถแข่งขันได้ ถ้าปล่อยให้ค่าไฟฟ้าอยู่ในทิศทางหรือระดับราคาขนาดนี้
โดยสรุป ค่าไฟแพง เกิดจากความคาดหวังการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มองด้านเดียว และนโยบายพลังงานของไทย เพราะมีการออกแบบอยู่ในค่าไฟฟ้าไทยให้มีค่าเอฟทีเกิดขึ้น เพื่อรองรับต่อต้นทุนที่รัฐบาลไม่ต้องรับผิดชอบ โรงไฟฟ้าไม่ต้องรับผิดชอบ นำมาสู่ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่ไม่เป็นธรรมกับคนจ่ายค่าไฟ
อย่างโรงไฟฟ้า IPP หรือ SPP ตอนที่เข้ามาประมูลเพื่อเข้าในระบบ คุณอาจเสนอในราคาที่ต่ำ แต่เปิดช่องให้ว่า ถ้าหากว่ามีต้นทุนค่าเชื้อเพลิงสูงขึ้นก็นำมาใส่ในค่าไฟที่ กฟผ.ที่ต้องซื้อได้ โดยเอามาไว้ในค่าไฟผันแปรหรือค่า FT ของประชาชนไป ดังนั้นการไม่รักษาระดับความเสี่ยงร่วม ทำให้ความเสี่ยงต้นทุนค่าเชื้อเพลิง เช่น สงครามรัสเซียยูเครน ทำให้ราคาก๊าซพุ่งสูง
เมื่อไม่มีเพดานรองรับดูแลการจ่ายเงินของรัฐ ทำให้ทุกอย่างถูกดันมาอยู่ใน FT 100% ให้ประชาชนทยอยจ่าย สภาพการณ์ตอนนี้ แม้ว่าค่าก๊าซ LNG ของตลาดโลกเริ่มร่วงมาตั้งแต่หลังมิ.ย. 65 แต่ค่าไฟของเรายังไม่ลด เพราะ กฟผ.ยังมีภาระหนี้ค่าเชื้อเพลิงไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าต่างๆ ที่แบกรับไว้อยู่ อันนี้คือสิ่งที่ต่อเนื่องขึ้นมา
โดยระบบของการลงทุนโรงไฟฟ้า ยังไงเราก็ต้องซื้อ ซ้ำยังสัญญาที่เรียกว่า ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย เข้ามาประกบ ทำให้เกิดปัญหาประกอบไปด้วย 1.ในระบบสัญญาไม่มีขีดจำกัดในการรับต้นทุนที่มันผันแปร ความเสี่ยงทั้งหมด กฟผ.เป็นคนรับทั้งหมด โดยเอกชนที่ร่วมดำเนินการไม่ต้องรับความเสี่ยงต้นทุนเชื้อเพลิงทั้งหมดเลย
2.แม้ปัจจุบันไฟฟ้าล้นระบบ และเกิดสถานการณ์โควิด เศรษฐกิจใช้ไฟน้อยลง เทคโนโลยีโซลาเซลลทำให้คนใช้ไฟกลายเป็นคนผลิตได้ด้วย ทำให้เกิดไฟล้นระบบในปัจจุบัน จึงมีปริมาณไฟฟ้าสำรองเกินมาตรฐานสากล ที่กำหนด 10-15% แต่ขณะนี้เรามี 50% เทียบจากปริมาณกำลังการผลิตตามสัญญา
ไม่ต้องเดินเครื่องแต่รัฐต้องจ่าย
อิฐบูรณ์ ชี้ว่าค่าความพร้อมจ่ายก็สร้างปัญหา ตอนนี้เราพบว่ามีโรงไฟฟ้าหลายพันเมกกะวัตต์ที่ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า แต่รัฐต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายให้ ถึงแม้ว่าจะจำนวนไม่เยอะ แต่สะท้อนให้เห็นว่ามีไฟล้นระบบอยู่ มีข้อมูลต้องตรวจสอบเพิ่มเติมด้วยว่า เสมือนมีบริษัทเอกชนบางรายที่เป็นบริษัทลูกของการไฟฟ้า คล้ายๆ ไม่ต้องเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า
ทั้งที่มีต้นทุนการขายไฟเพียงแค่ 3-4 บาท/หน่วย เพื่อให้มีพื้นที่ไปซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนบางกลุ่ม บางพวก ที่ขายไฟฟ้า 8-9 บาท/หน่วย คล้ายๆ เป็นการให้คนเหล่านั้นมีพื้นที่รายได้บ้างเพิ่มเติมในช่วงที่ไฟมันล้นระบบ เพราะค่าความพร้อมจ่ายก็เป็นเงินจำนวนไม่มากเท่าการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแล้วได้อัตรา 8-9 บาท
“การที่ผลักภาระทั้งหมดให้ กฟผ.ได้แล้ว กฟผ.ก็ผลักให้ประชาชน มันทำให้เกิดปัญหาไม่เกิดประสิทธิภาพในการผลิต นี่คือสภาพปัญหาทั้งหมด”
ค่าความพร้อมจ่ายเป็นส่วนหนึ่ง แต่ค่าพร้อมจ่ายถึงแม้เป็นภาระ แต่ไม่เยอะมาก แต่สะท้อนให้เห็นว่าการเลือกใช้โรงไฟฟาที่เบี่ยงเบนจากความจำเป็นที่แท้จริง ในฐานะที่ กฟผ.เป็นผู้ซื้อไฟรายเดียว อำนาจต่อรองน่าจะมี พอบีบโรงไฟฟ้าที่อยากจะขยายไฟได้ แต่รัฐบาลกลับไม่ยอมเจรจา กลับยอมรับซื้อกับโรงไฟฟ้าหลายโรง
อย่างของขนอม บริษัทลูกของ กฟผ. ใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ขายหน่วยละ 3.45 บาท/หน่วย แต่พอมาดู GPSC ของเครือ ปตท. เฉลี่ยหน่วยละ 6.10 บาท/หน่วย กลุ่มราชบุรี ใช้ก๊าซจากพม่า ก็อยู่ที่ 4-5 บาท/หน่วย ก็ยังถูกกว่า
ที่น่าแปลกใจกลุ่มราชบุรีพาวเวอร์ที่ใช้ก๊าซกลับถูกสั่งหยุดการผลิตแล้วกินค่าความพร้อมจ่ายไป เดือนละ 250 ล้านบาท ถ้าเขาได้ผลิตไฟฟ้าอาจได้เดือนละ 1,600 ล้านบาท
สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข
รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค มองว่าเมื่อค่าไฟฟ้ามันแพงขนาดนี้ รัฐต้องเอาจริงเอาจังกับการต่อรองราคากับเอกชน ถ้ากับโรงไฟฟ้าเอกชนอื่นๆ ก็ต้องเจรจา หรือตรวจสอบให้เข้มข้นมากขึ้นว่าราคาที่เสนอขาย กฟผ.ที่ 6 บาท/หน่วย ขณะที่ที่อื่น 5 บาท/หน่วย ทำไมมันถึงสูงกว่า
ควรต่อรองให้ได้ราคาต่ำสุด ตรวจสอบเป็นรายโรง รายสัญญา คำถามคือ กฟผ. กกพ.ทำหรือยัง เขาเชื่อว่าไม่ได้ทำ เมื่อปี 2565 สภาองค์กรของผู้บริโภคเคยมีหนังสือไปกระทรวงพลังงานให้เจรจากับโรงไฟฟ้าเอกชนเหล่านี้ เช่น ค่าความพร้อมจ่ายขอจ่าย 30% หรือ 60% ได้ไหม หรือชะลอหนี้
ขณะเดียวกันในต่างประเทศ ชะลอยืดออกไปได้ไหม สำหรับการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนต่างๆ ที่รัฐบาลเที่ยวไปเซ็นสัญญาไว้ เสมือนว่าประเทศตัวเองขาดแคลนไฟฟ้าทั้งที่ไม่ได้ขาดแคลน อย่างไฟฟ้าที่ซื้อจากลาวจริงๆ ก็ไม่ได้ซื้อจากลาว แต่เซื้อจากเอกชนที่ไปรับจ้างลาวผลิตไฟฟ้า
แล้วลาวก็ต้องการแค่ 5-10% เกือบทั้งหมดมันส่งกลับประเทศไทย ขณะที่ไทยก็ไม่ได้มีความต้องการ เพราะบ้านเราใช้ระบบกริด หรือ เป็นโครงข่ายเชื่อมต่อกันในการจ่ายไฟฟ้า ถ้าจะอ้างว่าอีสานไฟต่ำ ก็มีวิธีกริดได้ และการซื้อไฟฟ้าจากลาวเมื่อก่อน 1-2 บาท ตอนนี้ขยับมาเป็น 3 บาท แพงขึ้นเกือบเท่าราคาก๊าซแล้ว จึงไม่ใช่เหตุผลที่จะมาหน่วงราคาในภาพรวม
ทั้งนี้ประมาณ 50% ของเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าที่ใช้ ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นที่รับทราบกันดีว่า ผู้จัดหา ณ ปัจจุบัน แม้จะเปิดให้คนอื่นเข้ามาแต่ยังไม่มีความพร้อม ดังนั้นคนหลักก็คือ รัฐวิสาหกิจ บริษัทพลังงานของไทยเอง ซึ่งบริษัทนี้ก็ไม่ได้จัดหาจากเอกชนรายอื่น แต่ซื้อจากบริษัทลูกและบริษัทหลานที่ตั้งที่ต่างประเทศนั่นเอง
ดังนั้น หนี้ก๊าซธรรมชาติ รัฐบาลควรต้องเจรจากับบริษัทของตัวเองนี่แหละ จะทยอยบริหารหนี้ได้อย่างไร หรือจะไปขอรับบริจาคเขาเหมือน ‘ขอทาน’ เขาดังเช่นกรณีน้ำมันอย่างนั้นหรือ ทั้งที่รัฐเองเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ทำไมไม่ใช้อำนาจของผู้ถือหุ้นใหญ่ที่จะลดเปอร์เซ็นต์ของผลกำไรปลายปีลงมา เป็นการบริหารจัดการเฉพาะหน้า คำถามคือ กระทรวงพลังงานทำเรื่องนี้หรือยัง
หรือเป็นการโกงทางนโยบาย?
การแก้ปัญหาภาพใหญ่กว่านั้นก็คือ ปัญหาเรื่องโรงไฟฟ้าล้นระบบ ควรต้องตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มันล้นระบบ แต่กลับมาตอบคำถามว่า เดี๋ยวอีก 10 ปีก็เต็มระบบเอง ตามที่ กกพ. มีมติล่าสุด ที่จะยกเลิกเกณฑ์ปริมาณสำรองไฟฟ้า ที่จะกำหนดว่าเราจะสร้างโรงไฟฟ้าเท่าไร
เพราะตอนนี้ประชาชนออกมาแจงแถลงไขแล้วว่า เกิน 50% แม้จะพยายามบิดไปว่า เราต้องเอากำลังการผลิตที่แท้จริงมาวัด อย่าไปเอากำลังการผลิตตามสัญญา ถ้าเป็นการผลิตที่แท้จริงจะเหลือแค่ 30% ซึ่งมันก็ยังสูงมากอยู่ สูงกว่า IEA ที่วางไว้ 15% เราต้องถามว่าคนพูดแบบนี้จ่ายเงินแทนประชาชนหรือ
ดังนั้น ปริมาณสำรองไฟฟ้ามีล้นระบบ จะหน่วงหรือหยุดมันไปก่อนได้ไหม แล้วโรงไฟฟ้าก็เป็นแบบเชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะที่โรงไปทางกรีนและกระจายตัว แต่เราจะเอาทั้งสองอย่าง ไม่ทิ้งฟอสซิลและเอากรีนด้วย เป็นเพราะห่วงผลประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องหรือไม่
อันนี้รัฐบาลต้องออกมาแจงที่จะยกเลิกเกณฑ์ปริมาณไฟฟ้าสำรองออกไป แล้วมาใช้เกณฑ์ไฟฟ้าดับ แน่นอนมันไม่ดับอยู่แล้ว มีโรงไฟฟ้าเยอะขนาดนี้แต่มันกำลังจะทำให้คุณเดินหน้ามีโรงไฟฟ้าต่อไป โดยไม่ต้องสนใจอะไรแล้วโดยชอบด้วยกฎหมาย นี่เป็นการโกงทางนโยบาย ดังนั้นเราต้องหยุดการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ รัฐต้องมีนโยบายคุมเพดานราคาไว้ หากบอกตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ ก็ต้องคุมตัวเลขความสามารถจ่ายด้านพลังงานของประชาชนด้วย ว่าช่วง 5-10 ปีนี้ ประชาชนมีความสามารถจ่ายเท่าไร แล้วคุมตัวเลขนั้น ตอนนี้เราเจอภาวะที่ต้นทุนอยู่ที่ 6-10 บาทต่อหน่วย มันต้องมีเพดาน ในการทำสัญญา เกินจากนั้นให้เอกชนรับความเสี่ยงไป มันจะนำไปสู่ประสิทธิภาพการบริหารกิจการของเขา
รัฐต้องเปลี่ยนแนวคิดว่า โรงไฟฟ้าหลักคือโรงไฟฟ้าก๊าซถ่านหิน มาเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นโซลาร์เซลที่มีแหล่งกักเก็บที่รัฐเป็นผู้ลงทุนก็ได้ การใช้ระบบร่วมกันที่ปลายทางโดยไม่ต้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อยู่กทม. แล้วเดินสายส่งไปเกาะสมุย สุราษฎร์ วางสายเคเบิลลงใต้ทะเลเป็นพันล้านบาท กลุ่มทุนพลังงานฟอสซิลเป็นเหมือนถ่วงความเจริญด้านนี้หรือเปล่า แล้วก็ผลักภาระให้ประชาชนอย่างขาดความรับผิดชอบ
ฝากรัฐบาลหน้าใหม่
ถ้าไม่มีรัฐบาลไหนคิดจะขยับ เปลี่ยนแปลงหรือจัดการลงรายละเอียดการจัดการ แบบละเอียดเลย ประชาชนก็ต้องเดินหน้าจ่ายค่าไฟแบบนี้แพงขึ้นต่อเนื่อง เพราะหนี้เก่าที่ กฟผ.แถลง 1 แสนล้าน เหมือนหนี้กองทุนน้ำมันเป๊ะเลย แม้ว่าราคาก๊าซตลาดโลกจะลดลง แต่กฟผ.ก็ต้องหักเงินที่ตัวเองแบกหนี้ไว้มาใส่ในค่าเอฟที
รัฐควรใช้อำนาจที่รัฐมี ช่วงสถานการณ์ที่สินค้าล้นตลาด เจรจากับบริษัทโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง ค่าไฟ 5 บาทต่อหน่วยไม่ได้เดือดร้อนเฉพาะประชาชน กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เดือนร้อนถ้วนหน้า มันจะทำให้ประเทศขาดความสามารถในการแข่งขัน
เพราะน้ำมันก็ราคาสูง ค่าไฟก็ราคาสูง รัฐบาลเกิด EEC ทำไมเขาถึงไม่มา ปัจจัยหนึ่งคือต้นทุนพลังงานเราสูงมาก ณ สถานการณ์ปัจจุบันมันสะท้อนถึงการขาดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการพลังงานของประเทศ อ้างแต่ความมั่นคง ซึ่งมันมั่นคงมากเกินไป
ท้ายที่สุด ทิศทางพลังงานไทยผ่านแผน PDP รัฐบาลปัจจุบันมีมติให้มีผล เดินหน้าให้เกิดโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมได้ นำไปสู่การเซ็นสัญญาต่อเนื่องในส่วนสัญญาค้างท่อต่างๆ อันนี้รัฐบาลใหม่ต้องทบทวน และเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน นักวิชาการที่เป็นกลางเข้าไปเคาะด้วย
“แผนพลังงาน ทั้งที่เป็นแผนที่กระทบกับประชาชนทั้งประเทศ แต่ไม่ต้องผ่านรัฐสภา เป็นสิ่งที่รัฐบาลดำเนินการได้เลย เรื่องสำคัญอย่างนี้น่าทบทวนว่าเรื่องสำคัญอย่างนี้ควรมีการตรวจสอบจากรัฐสภาหรือไม่อย่างไร เพราะที่ผ่านมามันไม่มีการตรวจสอบเลย เป็นอำนาจ กกพ. คนใหญ่ที่สุดคือ นายกฯ แต่นายกฯ ใหญ่จริงหรือไม่ยังเป็นคำถาม”