“ไม่เคยโผล่หน้ามาให้เห็น แต่พอมีเลือกตั้ง วิ่งหาชาวบ้านยังกับญาติสนิท” เสียงพูดคุยของชาวบ้านในงานบุญสงกรานต์ที่วัดแห่งหนึ่งใน จ.ฉะเชิงเทรา
ไม่ต่างจากเสียงพูดคุยเรื่องเหตุบ้านการเมือง ในร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านกาแฟ ตามวงเหล้า และสามแยกปากซอย ทั้งในเมืองและชนบทว่า พรรคไหนจะอยู่ จะไป และใครจะได้นั่งเก้าอี้นายกฯ ท่ามกลางเสียงแนะนำตัวผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคการเมืองต่างๆ บนรถแห่หาเสียงที่ผลัดกันเข้า-ออกทุกตรอกซอก
เหลือเวลาไม่ถึง 20 วัน ทุกพรรคต่างงัดไม่เด็ด สร้างวาทกรรมเลือกข้าง ไม่ว่าจะเป็น “ไม่เลือกเรา ลุงกลับมา” ของพรรคเพื่อไทย หรือ “มีลุง ไม่มีเรา มีเรา ไม่มีลุง” ของพรรคก้าวไกล
ขณะที่พรรคฯ ที่เป็นฝ่ายถูกผลักซีกพลังประชารัฐ ผลิตวลีโต้ “ถาม พชปร. หรือยัง อยากจะร่วมด้วยมั๊ย” ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติก็ย้อนจุกๆ ว่า “คนชังชาติ ให้ย้ายไปที่อื่น”
ต่างจากท่าทีเป็นกลางของพรรคภูมิใจไทย “ขัดแย้ง งานไม่ได้ ชาวบ้านเสียประโยชน์” และประชาธิปัตย์ที่ระบุว่า “ไม่มีนโยบายพาประเทศไปตายเอาดาบหน้า”
การสร้างถ้อยคำเลือกข้างของทุกพรรคฯ ก่อนเข้าช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งจะยังไม่จบเพียงนี้ แต่จะทยอยตามกันมาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะใกล้วันเลือกตั้ง รวมทั้งการจัดปราศรัยใหญ่ทิ้งทวน
เพื่อหวังเรียกเสียงโหวตจากชาวบ้านและเหล่า FC แต่ก่อนวันนั้นจะมาถึงคงต้องถามประชาชนว่า ลึกๆ แล้วอยากได้ใคร คนไหน และให้มาช่วยทำสิ่งใด
นางพเยาว์ โพธิ วัย 84 ปี ชาวบ้าน ต.บางตลาด อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา บอกว่า ไม่เคยพลาดการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เหตุเพราะสถานที่เลือกตั้งอยู่ไม่ห่างจากบ้านพัก เดินไปได้
ส่วนการลงคะแนนเสียงจะลงให้กับคนที่รัก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ต่างจากพรรคที่ชอบ โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่ให้การดูแลสวัสดิภาพคนแก่ และผู้สูงวัย
“เปิดวิทยุฟังข่าวทุกวัน เราก็มาคิดว่า ข้อมูลที่คนอ่านข่าวให้ฟัง มันเชื่อได้หรือเปล่า เป็นไปได้ หรือไม่ ไม่คาดหวังอะไรกับนักการเมือง ได้ไปแล้วก็เข้าไปนั่งหลับในสภา ทะเลาะกัน อยากได้คนดีๆ ทำอะไรก็ให้คิดถึงประเทศชาติเยอะๆ” ยายพเยาว์ กล่าว
ขณะที่ น.ส.ปิยนุช รักสัตย์ หรือ “ส้ม” อาชีพรับราชการ กล่าวว่า ไม่คาดหวังอะไรกับการเลือกตั้งครั้งนี้ จากการติดตามข่าวเลือกตั้งและศึกษานโยบายพรรคการเมือง พบว่ามีแต่นโยบายประชานิยม ซึ่งไม่ทราบจะทำได้จริงหรือไม่ แต่ส่วนตัวมองว่า เป็นนโยบายขายฝันมากกว่า
“ค่าแรงวันละ 600 บาท หรือ 450 บาท และเอาเข้าจริงๆ นโยบายที่เสนอไว้ในแต่ละอย่างจะทำได้หรือไม่ และพรรคการเมืองที่คิดนโยบายนี้ออกมา ได้ถามผู้ประกอบการหรือยังว่า เขาพร้อมจะจ่ายค่าแรง ซึ่งเป็นเงินของเขาให้หรือไม่”
ส้ม บอกว่า ถ้าจะให้ตอบจริงๆ คือ นโยบายของแต่ละพรรคฯ ที่ออกมา ยังไม่โดนเลยสักพรรค และยังนึกภาพไม่ออกว่า ใครควรจะเป็นนายกฯ ในดวงใจ แต่อย่างไรก็ไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้
ด้าน น.ส.จิรัชยา ตันตะวาโย หรือ “เก๋” แม่ค้าขายผักสดตลาดบางบ่อ จ.สมุทรปราการ ยืนยันว่าจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องชาวบ้าน อยากให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วๆ
“แม้ขณะนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประเทศไทยจำนวนมาก แต่รายได้จากการท่องเที่ยวยังกระจุกอยู่ที่จังหวัดท่องเที่ยวเป็นหลัก”
แม่ค้าคนเดิม กล่าวว่า หากเป็นไปได้อยากให้มีการขึ้นค่าแรงในราคาที่มากกว่าปัจจุบัน เพราะข้าวของมีราคาแพงขึ้นทุกอย่าง แต่ชาวบ้านมีเงินจับจ่ายใช้สอยน้อยลง แม่ค้าก็ขายของไม่ค่อยดี มีแต่คนขาย ไม่มีคนซื้อ
เธอทิ้งท้ายว่า ขณะนี้มีพรรคการเมืองและนักการเมืองในดวงใจแล้ว และหวังว่าเขาจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาปากท้อง ทำให้คนมีเงิน ทำเศรษฐกิจให้มีสภาพคล่องมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่