วันนี้ (28 เม.ย.2566) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พรรคการเมืองมีพรรคละ 1 บัญชี ไม่เกินจำนวน 100 คน โดยวิธีการได้มาซึ่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ อันจะมาจากผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อจากทั้งประเทศของพรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ หารด้วยจำนวน 100 ก็จะได้ค่าเฉลี่ยคะแนนต่อ ส.ส. 1 คน
จากนั้นให้นำผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองที่ได้รับหารด้วยคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.1 คน จะได้จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้น เช่น ผลคะแนนรวม ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งประเทศ คือ 40 ล้าน นำ 40,000,000 หารด้วย 100 จะได้ค่าเฉลี่ย ส.ส. 1 คน คือ 400,000 คะแนน
จากนั้นให้นำผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองมาหารด้วย 400,000 จะได้จำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรค
ยกตัวอย่าง เช่น พรรคการเมือง A ได้คะแนนบัญชีรายชื่อ 16,300,000 คะแนน พรรคการเมือง B ได้คะแนน 15,000,000 คะแนน และพรรคการเมือง C ได้คะแนน 8,700,000 คะแนน ดังนั้นการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะเป็นดังนี้
พรรคการเมือง A คะแนน 16,300,000 หาร 400,000 = 40.7500 จะได้จำนวน 40 คน ส่วนพรรคการเมือง B คะแนน 15,000,000 หาร 400,000 = 37.5000 จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 37 คน และพรรคการเมือง C คะแนน 8,700,000 หาร 400,000 = 21.7500 จะได้ ส.ส. 21 ซึ่งรวมทั้ง 3 พรรคการเมืองได้ ส.ส. 98 คน
หลังการคำนวน ส.ส.แล้ว ยังได้ไม่ครบ 100 ให้เรียงคะแนนของทุกพรรคโดยใช้ทศนิยม 4 ตำแหน่ง ให้พรรคการเมืองที่ได้ทศนิยมมากที่สุดได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพิ่ม 1 คน เรียงลำดับจนครบ 100 ดังนั้นพรรค A และ C มีคะแนนนิยมมากที่สุดจึงจะได้รับ ส.ส. เพิ่มอีกพรรคละ 1 คน
สรุปพรรคการเมือง A ได้ 41 คน พรรคการเมือง B ได้ 37 คน อละ พรรคการเมือง C ได้ 22 คน ครบ 100 คนพอดี