หน้าแรก Thai PBS เลือกตั้ง2556 : “ประชาธิปัตย์” ชู 12 นโยบายยกระดับคุณภาพแรงงาน

เลือกตั้ง2556 : “ประชาธิปัตย์” ชู 12 นโยบายยกระดับคุณภาพแรงงาน

85
0
เลือกตั้ง2556-:-“ประชาธิปัตย์”-ชู-12-นโยบายยกระดับคุณภาพแรงงาน

วันนี้ (1 พ.ค.2566) พรรคประชาธิปัตย์ นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรคและทีมโฆษกศูนย์อำนวยการเลือกตั้ง พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 1 พ.ค.ของทุกปี เป็นวันแรงงานแห่งชาติ พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายชัดเจนที่จะสนับสนุนและยกระดับแรงงานไทยให้มีคุณภาพ สอดรับกับเทรนด์การเปลี่ยนแปลงและสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ

ทีมเศรษฐกิจของพรรคนำโดย นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต รมช.กระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมการนโยบายและทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ จึงได้ประกาศนโยบาย 12 ข้อ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานจากปัญหาการเงิน ภายใต้ยุทธศาสตร์ สร้างเงิน-สร้างคน-สร้างชาติ ดังต่อไปนี้

1.สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการไตรภาคีในการพิจารณาค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับภาวะทางเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ ภาวะเงินเฟ้อ และความสามารถในการปฏิบัติงานเพื่อให้ลูกจ้างได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม

2.พัฒนาและฝึกอบรมแรงงานทุกระดับให้มีความรู้ และทักษะฝีมือที่มีมาตรฐานสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยความร่วมมือของฝ่ายนายจ้าง และหน่วยงานภาครัฐ เช่น ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ และสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นต้น ทั้งนี้ ให้มีสิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ฝ่ายจ้างตามเหมาะสม

3.ดำเนินนโยบายขยายอายุเกษียณออกไปอีก 5 ปี ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานโดยให้เป็นไปตามความสมัครใจของแรงงานเป็นสำคัญ

4.สนับสนุน และผลักดันให้ผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ และไม่มีรายได้ประจำให้เข้าสู่ระบบประกันสังคมมาตรา 33 เพื่อให้แรงงานได้รับสิทธิ สวัสดิการ การเยียวยา และการคุ้มครองอย่างเสมอภาค ตามกฎหมายแรงงาน

5.ส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุ และคนพิการ โดยกำหนดให้มีรูปแบบที่หลากหลาย เหมาะสมกับความสามารถ และสภาพแห่งร่างกาย โดยสนับสนุนให้มีการร่วมกลุ่มเพื่อทำงานที่ถนัดในลักษณะเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprises) พร้อมทั้ง จัดให้มีระบบการดูแลสวัสดิการที่เป็นธรรม

6.ดำเนินการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมให้เกิดเป็นธรรมแก่กลุ่มผู้ที่เคยเป็นสมาชิกตามมาตรา 39 และกลุ่มอาชีพอิสระตามมาตรา 40 ให้ได้รับสิทธิ สวัสดิการ และการคุ้มครองเท่าเทียมกับผู้ประกันตนภาคบังคับ ตามมาตรา 33

7.จัดให้มีการออมเพื่อใช้ยามชราอย่างทั่วถึง โดยการปรับปรุงกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ส่งเสริมการออมตั้งแต่วัยเริ่มต้นทำงาน

8.สนับสนุนนโยบาย “แรงงานคืนถิ่น” เพื่อประกอบอาชีพในภูมิลำเนา โดยการสนับสนุนแหล่งทุนสร้างงาน สร้างอาชีพ จากกลไกธนาคารหมู่บ้าน – ชุมชน

9.ส่งเสริมให้มีศูนย์เด็กเล็กคุณภาพในสถานประกอบการ ด้วยมาตรการที่หลากหลาย เช่น ให้นำค่าใช้จ่ายมาคำนวณหักภาษีนิติบุคคลได้ เป็นต้น และส่งเสริมการจัดสวัสดิการที่จำเป็นเพิ่มขึ้นในสถานประกอบการ

10.แก้ไขกฎหมายเพื่อให้ลูกจ้าง และข้าราชการสามารถนำเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ กบข.เพื่อจัดหาที่อยู่อาศัย หรือ ลดหนี้ได้

11.แก้ไขกฎหมายให้สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์สามารถนำหุ้นสหกรณ์มาแก้ไขปัญหาหนี้สินได้

12.จัดให้มีระบบประกันสังคมถ้วนหน้า เพื่อยกระดับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการในการทำงานให้แก่แรงงานทั้งในและนอกระบบครอบคลุมทั่วถึง และมีมาตรฐานเท่าเทียมกัน เช่น การรักษาพยาบาล การประกันรายได้จากการว่างงาน กรณีทุพพลภาพ เป็นต้น รวมทั้ง ส่งเสริมให้การออมเพื่อใช้ยามชรา

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่