ไทยพร้อมจับมืออาเซียนพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเป็นศูนย์กลางยานยนต์ระดับโลก รอรับ ‘ติมอร์–เลสเต’ เป็นสมาชิกใหม่
รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ว่า ครม.เห็นชอบร่างเอกสาร 2 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ ร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาค และร่างภาคผนวกประกอบแผนการดำเนินงานสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์ – เลสเต ในส่วนของเสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนจะมีการเห็นชอบเอกสารทั้ง 2 ฉบับร่วมกัน ในการประชุมคณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Council) ครั้งที่ 22 วันที่ 6 – 7 พฤษภาคม 2566 และการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 42 วันที่ 10 – 11 พฤษภาคม 2566 ที่ประเทศอินโดนีเซีย
สำหรับสาระสำคัญของร่างปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการพัฒนาระบบนิเวศสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาค เป็นเอกสารการแสดงเจตนารมณ์ที่จะพัฒนาระบบนิเวศ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการปล่อยคาร์บอน ตลอดจนสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนร่วมกัน โดยส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพัฒนาระบบนิเวศสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าระดับภูมิภาคผ่านการกระจายการลงทุน และการส่งเสริมการลงทุนที่ยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือและประสานงานกันทั้งจากภายในประเทศสมาชิกเอง จากภาคีภายนอกและภาคเอกชน เช่น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสถานีอัดประจุไฟฟ้า การสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและบรรยากาศเพื่อดึงดูดการลงทุน ความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลกและเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในภูมิภาค
รัชดา กล่าวต่อว่า ในอนาคตอาเซียนจะมีสมาชิกเพิ่มขึ้น คือ ติมอร์ – เลสเต ซึ่ง ครม.ได้เห็นชอบร่างภาคผนวกประกอบแผนการดำเนินงานสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์ – เลสเต ในส่วนของเสาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เป็นเอกสารที่กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการเพื่อเข้าเป็นภาคีตามความตกลงของเสาเศรษฐกิจอาเซียนที่ติมอร์ – เลสเต ต้องดำเนินการให้สำเร็จ ก่อนการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนอย่างสมบูรณ์ โดยติมอร์ – เลสเต จะต้องมีความพร้อมในการดำเนินการตามความตกลงและตราสารสำหรับเสาประชาคมเศรษฐกิจภายในร่างภาคผนวกรวมทั้งสิ้น 220 ฉบับ ประกอบด้วย 1)ความตกลงและตราสารที่ติมอร์ – เลสเต ต้องมีความพร้อมในการเข้าร่วมทันที จำนวน 66 ฉบับ 2)ความตกลงและตราสารที่ติมอร์ – เลสเต จะต้องเข้าร่วมภายใน 2 ปี หลังเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน จำนวน 48 ฉบับ 3)ความตกลงและตราสารที่ติมอร์ – เลสเต จะต้องเข้าร่วมภายใน 5 ปี หลังเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน จำนวน 106 ฉบับ
ทั้งนี้ ร่างเอกสารทั้ง 2 ฉบับ ไม่ใช่สนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตาม มาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนั้น การให้ความเห็นชอบเอกสารทั้งสองฉบับ จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย