หน้าแรก Thai PBS ทร.แจงยิบ ยันจัดซื้อ “เป้าบินไอพ่น” 49 ล้าน โปร่งใส-ตรวจสอบได้

ทร.แจงยิบ ยันจัดซื้อ “เป้าบินไอพ่น” 49 ล้าน โปร่งใส-ตรวจสอบได้

80
0
ทร.แจงยิบ-ยันจัดซื้อ-“เป้าบินไอพ่น”-49-ล้าน-โปร่งใส-ตรวจสอบได้

กรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวในโครงการจัดซื้อเป้าบินไอพ่นแบบอัตโนมัติ มูลค่าโครงการ 49.8 ล้านบาท โดยระบุว่า โครงการนี้มีความยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการทดสอบการใช้งาน แต่กลับมีการแก้ไขสัญญาหลายครั้ง และจ่ายเงินให้บริษัทผู้ขายไปแล้ว 47.3 ล้านบาท หรือคิดเป็น 96% ของราคาทั้งหมด

รวมถึงมีข้อสงสัยว่า การปรับลดไม่ซื้อรางปล่อยอาจมีเจตนาเพื่อให้วงเงินอยู่ในอำนาจของผู้อนุมัติ (เจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือ) คือไม่เกิน 50 ล้านบาท และเอื้อบริษัทที่มาเสนอราคา ซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของผู้ผลิตในต่างประเทศโดยตรงหรือไม่นั้น

วันนี้ (2 พ.ค.2566) พลเรือเอก ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า กองทัพเรือ โดยกรมสรรพาวุธทหารเรือ ได้จัดซื้อเป้าบินพิสัยกลางแบบไอพ่น ซึ่งเป็นไปตามสัญญาเลขที่ 46/งป.2563 มูลค่า 49.8 ล้านบาท สำหรับงบประมาณในการดำเนินการดังกล่าวเป็นการจัดซื้อในกรอบวงเงินที่จำกัด จึงจำเป็นต้องปรับปรุงรางปล่อยเดิมให้สามารถใช้กับเป้าบินใหม่ที่ซื้อในครั้งนี้ ถือว่าช่วยทางราชการประหยัดงบประมาณ

ในสัญญาดังกล่าวได้กำหนดงานปรับปรุงรางปล่อยเดิมไว้เรียบร้อยแล้ว สำหรับประเด็นที่กล่าวอ้างว่า กรมสรรพวุธทหารเรือปรับลดวงเงินเพื่อให้อำนาจการสั่งซื้ออยู่ที่เจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือ นั้น ไม่เป็นความจริง เนื่องจากการจัดซื้อรายการนี้เป็นการจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือก ซึ่งปฏิบัติตามคำสั่ง กห.(เฉพาะ) ที่ 265/65 ลง 5 ก.ค.65 เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุของกระทรวงกลาโหม ได้อำนาจการสั่งซื้อและสั่งจ้างครั้งหนึ่งสำหรับส่วนราชการในสังกัดกระทรวงกลาโหม โดยกำหนดว่า การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีคัดเลือกอำนาจการสั่งซื้อสั่งจ้าง เจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือมีอำนาจไม่เกิน 20 ล้านบาท ดังนั้นการจัดซื้อเป้าบินดังกล่าว จึงอยู่ในอำนาจผู้บัญชาการทหารเรือ มิใช่เจ้ากรมสรรพาวุธทหารเรือแต่อย่างใด

กรณีบริษัทที่เสนอราคา ไม่ได้เป็นบริษัทผู้แทนจากบริษัทต่างประเทศโดยถูกต้องนั้น กรมสรรพาวุธทหารเรือ ได้พิจารณาคุณสมบัติผู้ยื่นข้อเสนอแล้วเป็นไปตามคำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างฯ (ว 521) ที่ได้กำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะยื่นข้อเสนอว่า กรณีเป็นตัวแทนจำหน่ายต้องยื่นหนังสือแต่งตั้งตัวแทนจำหน่าย ที่ต้องได้รับการแต่งตั้งให้เป็นตัวแทนจำหน่ายจากผู้ผลิตหรือตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย ในสัญญานี้คณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างของกรมสรรพาวุธทหารเรือ ได้ตรวจสอบเอกสารและหลักฐานทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นไปตาม ว 521 ครบถ้วนทุกประการ

นอกจากนี้ เหตุผลในการจัดซื้อในครั้งนี้มีการแก้ไขสัญญาหลายรอบ ชี้แจ้งว่า การจัดซื้อฯ ครั้งนี้ ลงนามในสัญญาเมื่อ 10 มี.ค.2563 ซึ่งอยู่ในช่วง COVID-19 รวมทั้งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดให้ใช้งบประมาณที่กำหนดภายใน 1 ปี (30 ก.ย.2563) และสามารถกันงบประมาณปี 62 ได้อีก 6 เดือน พร้อมขยายต่อได้อีก 6 เดือน จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขสัญญา เพื่อให้การบริหารงบประมาณเป็นไปอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีการแก้ไขจำนวน 2 ครั้ง ได้แก่

ครั้งที่ 1 เมื่อ 26 พ.ย.2563 เป็นการแก้ไขการฝึกอบรม เนื่องจากทั้งสองฝ่ายไม่ได้สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ จึงขอปรับจากการเรียน ณ ประเทศผลิต เป็นการเรียนออนไลน์จากบริษัทผู้ผลิต และครั้งที่ 2 เมื่อ 30 ธ.ค.2563 เป็นการแก้ไขวันส่งมอบ และงวดงาน เนื่องจากยังคงมีสถานการณ์ COVID-19 เพื่อให้การบริหารงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงตัดงวดชำระเงิน โดยแบ่งเงินจาก 85% ที่เหลือ ออกเป็น 4 งวด ปัจจุบันเหลืองวดงานสุดท้าย จำนวน 2.485 ล้านบาท ซึ่งเป็นงาน Setting to work ที่ต้องมีวิศวกรจากประเทศผู้ผลิตมาติดตั้ง

สำหรับประเด็นเหตุใดการจ่ายเงินในการจัดซื้อฯ ครั้งนี้มีการจ่ายเงินงวด FAT (Factory Acceptance Test) และงวดส่งของ (Transfer) ทั้งที่ไม่เคยมีหน่วยไหนทำมาก่อน รวมทั้งสาเหตุที่กรมสรรพาวุธทหารเรือขอให้ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารเรือ ประจำแคนเบอร์รา ทำการ FAT แทนคณะกรรมการจากกรมสรรพาวุธทหารเรือ และการฝึกอบรมไม่ได้มาจากบริษัทผู้ผลิตนั้น เนื่องจากห้วงการทำ FAT อยู่ในช่วง COVID-19 และกรมสรรพาวุธทหารเรือได้จัดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการอบรมกับบริษัทผู้ผลิตผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 19-30 เม.ย.ที่ผ่านมา

การดำเนินการปัจจุบัน ทางบริษัท Air Affair ของออสเตรเลีย ซึ่งเป็นบริษัทประเทศผู้ผลิตได้ถูกซื้อกิจการจากบริษัท Qinetic ของอังกฤษ เมื่อช่วงปลายปี 2565 ขณะนี้ทางบริษัท Qinetic กำลังเร่งทำหนังสือเพื่อแต่งตั้งให้บริษัทซีซีจี เป็นตัวแทนในประเทศไทย และจะสามารถส่งวิศวกรมาทำการ Setting to work ได้ภายในเดือน มิ.ย.66 ซึ่งพ้นระยะการส่งมอบของตามสัญญาที่กำหนดไว้ ในวันที่ 9 พ.ค.2566 โดยจะต้องเสียค่าปรับ ซึ่งทางบริษัทซีซีจี ยินยอมจะเสียค่าปรับดังกล่าว ทั้งนี้ หากเสียค่าปรับไปแล้วเกิน 10% และส่งของไม่เรียบร้อย กรมสรรพาวุธทหารเรือจะพิจารณายกเลิกสัญญาพร้อมเรียกเงินคืน เพื่อไม่ให้กองทัพเรือและกรมสรรพาวุธทหารเรือได้รับความเสียหายต่อไป

โฆษกกองทัพเรือ ยืนยันว่าการจัดหายุทโธปกรณ์ต่างๆ นั้น มีนโยบายในการจัดหาด้วยความโปร่งใส มีเอกสารหลักฐานการดำเนินงานอย่างชัดเจน มีขั้นตอนที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยกองทัพเรือ มุ่งมั่นที่จะพัฒนากองทัพให้มีความทันสมัย เข้มแข็ง สามารถปฏิบัติภารกิจในการปกป้องอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยให้กับประชาชนและประเทศชาติ โดยคำนึงถึงการใช้งบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด โปร่งใส และตรวจสอบได้

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่