หน้าแรก Thai PBS เลือกตั้ง2566 : “ประชาธิปัตย์” เล็งตั้ง “ธนาคารสหกรณ์-ปลดล็อก กม.” แก้หนี้ประชาชน

เลือกตั้ง2566 : “ประชาธิปัตย์” เล็งตั้ง “ธนาคารสหกรณ์-ปลดล็อก กม.” แก้หนี้ประชาชน

82
0
เลือกตั้ง2566-:-“ประชาธิปัตย์”-เล็งตั้ง-“ธนาคารสหกรณ์-ปลดล็อก-กม.”-แก้หนี้ประชาชน

วันนี้ ( 3 พ.ค.2566) ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ แถลงข่าว วาระประเทศไทย ครั้งที่ 5 “ปชป. กับนโยบายแก้หนี้ประชาชนและการพัฒนาระบบการเงิน” และ “ปชป.จัดเต็ม ! ดันระบบรางทั่วไทย ลดต้นทุนโลจิสติกส์ – ปิดประตู “ประมูลเอื้อเอกชน” โดย นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต รมช.กระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมการนโยบายและทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรค ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมขนส่ง และโครงการขนาดใหญ่ (Megaproject) และ นายมโนชัย สุดจิตร ทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ 

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม อดีต รมช.กระทรวงการคลัง ประธานคณะกรรมการนโยบายและทีมเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายเรื่องการพัฒนาระบบการเงิน ใน 3 ประเด็นหลัก คือ

1.จะพัฒนาและยกระดับเมืองหาดใหญ่ให้เป็นศูนย์กลางการเงินนานาชาติในภูมิภาค ในโลกทุกวันนี้มีศูนย์กลางการเงินอยู่หลายที่ อาทิ นิวยอร์ก ลอนดอน สิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งด้วยศักยภาพของหาดใหญ่ถ้าได้รับการสนับสนุนทางนโยบายจะสามารถดันให้หาดใหญ่เป็นศูนย์กลางการเงินนานาชาติในภูมิภาคได้ พัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งถ้าทำได้จะดึงเม็ดเงินจาก ทุนจีน อาหรับ ฮ่องกง อินโดนีเซีย และอินเดียจะเข้ามา

เราต้องพัฒนาให้มีการเชื่อมต่อกับสิงคโปร์โดยรถไฟฟ้าความเร็วสูง พัฒนาสนามบินนานาชาติ หาดใหญ่มีโรงแรม แหล่งท่องเที่ยว อยู่แล้วดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ถ้าเข้ามาเป็นรัฐบาลจะทำเรื่องนี้อย่างเต็มที่

ทั้งนี้ จะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย เช่น ภาษีอากร ให้เอื้ออำนวย อย่างน้อยต้องไม่ด้อยไปกว่าสิงคโปร์ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม อินเทอร์เน็ต ดาต้าเซ็นเตอร์ แก้ไขระบบการทำงานของศาล การพิพากษาคดีการเงินให้เทียบชั้นกับนานาชาติได้เพื่อให้มีความเชื่อมั่น มีพื้นที่ทำเป็น Financial District เชื่อว่าการเป็นศูนย์กลางการเงินจะเป็น s curve สร้างหาดใหญ่ให้รุ่งเรืองในอนาคต

2.ส่งเสริมและพัฒนาให้มีธนาคารท้องถิ่นเกิดขึ้น เพราะท้องถิ่นทั่วประเทศเริ่มจาก กทม. อบจ. อบต. และเทศบาลต่าง ๆ มีเงินฝากและเงินเก็บจำนวนมากมาย เพราะแต่ละปีเข้าถูกกฎหมาย และระเบียบการคลังท้องถิ่นบังคับว่าจะต้องทำงบประมาณแบบเกินดุล จึงมีเงินสะสมมากมายฝากตามธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร

พรรคประชาธิปัตย์จะตรากฎหมายให้มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อพัฒนาท้องถิ่นโดยให้ท้องถิ่นต่าง ๆ เป็นผู้ถือหุ้น รัฐบาลไม่ต้องใส่เงินเลยโดยหน้าที่หลัก คือ เป็นแหล่งระดมทุนเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นระยะยาว

ไม่ว่าจะทำเรื่องของระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่าง ๆ สามารถออกพันธบัตรท้องถิ่น (LGB: Local Gov Bonds) ได้เหมือนในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่นซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาตลาดทุนและเป็นแหล่งเงินในการพัฒนาท้องถิ่น

เรื่องที่ 3.จัดตั้งธนาคารสหกรณ์ โดยปัจจุบันมีเงินในรูปแบบสหกรณ์ต่างๆไม่น้อยกว่า 3.3 ล้านล้านบาท เงินในสหกรณ์ออมทรัพย์ยังมีมากกว่าธนาคารเอสเอ็มอี หรือธนาคารออมสิน แต่ทุกวันนี้ไม่มีการบริหารจัดการอย่างได้มาตรฐานสากล ประชาธิปัตย์จึงจะเสนอจัดตั้งให้เป็นรูปแบบธนาคารสหกรณ์

พรรคประชาธิปัตย์จะเอื้ออำนวยการตั้งธนาคารสหกรณ์ โดยออกกฎหมายในเรื่องนี้ ซึ่งไม่ต้องใช้เงินของรัฐบาล ไม่มีการก่อหนี้สาธารณะ ยกฐานะชมรมสหกรณ์ออมทรัพย์ให้ขึ้นมาเป็นธนาคารเพื่อที่เงินต่าง ๆ จากสหกรณ์ 2,000 แห่ง จะได้รวมศูนย์และใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง

นายพิสิฐ กล่าวต่อถึงเรื่องนโยบายแก้หนี้ประชาชน โดยหนี้ครัวเรือนเป็นความเดือดร้อนของประชาชนที่สาหัส หลายพรรคการเมืองกล่าวถึงและพยายามจะแก้ไข ด้วยนโยบายต่าง ๆ ที่ทำให้ระบบการเงินอ่อนแอ และจะไม่มีเงินใหม่เข้ามาเช่น จะพักหนี้ 3-5 ปี ไม่ใช้บริการเครดิตบูโรมาทำงาน ไปแทรกแซงการทำงานในภาคธุรกิจการเงิน ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยและไม่ทำอย่างนั้น

พรรคจะทำให้ระบบเข้มแข็งขึ้น ไม่อ่อนแอลง พรรคประชาธิปัตย์มีเป้าหมายจะลดหนี้ครัวเรือนให้ต่ำกว่า 80% จากปัจจุบันใกล้ 90% ของ GDP ให้ได้ในระยะอันสั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน โดยจะปลดล็อกกฎหมาย 3 ฉบับ เพราะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารการเงินของสมาชิก

รวมถึงอัดฉีดเงินผ่านธนาคารหมู่บ้าน/ชุมชน การเพิ่มทุน SME โครงการ 1 ล้านล้านบาทอัดฉีดเงินเข้าเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวกว่า 5% ประชาชนก็มีรายได้มากขึ้นมาผ่อนคลายปัญหาหนี้สินได้

สำหรับหนี้ครัวเรือนนั้นมี 2 ก้อนใหญ่ คือ 1.หนี้ของผู้มีเงินเดือน และ 2.หนี้ของเกษตรกร พรรคจะหาเงิน ประมาณ 900,000 ล้านบาทมาปลดหนี้ของผู้มีเงินเดือน โดยเอาเงินมาจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยจะปลดล็อกให้นำเงินออกมาใช้ได้ประมาณ 200,000 ล้านบาท

สำหรับสมาชิก 2.8 ล้านคน เพื่อลดหนี้บ้าน ซื้อบ้าน และปลดล็อกกองทุน กบข.ของข้าราชการ เปิดทางให้ครู หรือตำรวจที่เดือดร้อน สามารถนำเงินจาก กบข.ที่เป็นเงินเขาเองมาลดหนี้บ้าน ซื้อบ้าน เป็นเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท รวมทั้งหมด 300,000 ล้านบาท จะช่วยคนได้ประมาณ 4,000,000 คน ที่จะแบ่งเบาลดภาระหนี้ ดอกเบี้ยลดลง โดยไม่ต้องรอปีที่จะเกษียณอายุถึงจะนำเงินออกมาได้

รวมไปถึงจะปลดล็อกสหกรณ์ออมทรัพย์ให้นำทุนเรือนหุ้นสหกรณ์ไปตัดหนี้ที่มีกับสหกรณ์นั้น ๆ ได้ โดยจะแก้กฎหมายทั้ง 3 ฉบับนี้ เพียงแต่ 1 มาตรา คือ แก้ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มาตรา 5 ให้สามารถนำเงินกองทุนมาจัดหาที่อยู่อาศัยได้, แก้ พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มาตรา 43/1 ให้สามารถนำเงินกองทุนมาจัดหาที่อยู่อาศัยได้ และแก้ พ.ร.บ.สหกรณ์ มาตรา 42 ให้สามารถนำหุ้นสหกรณ์มาหักลดหนี้สินเชื่อของสหกรณ์นั้น ๆ ได้

ที่ผ่านมาผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องไม่ยอมทำอย่างจริงจังในการแก้หนี้ให้กับพี่น้องประชาชน ทั้งที่ประชาชนเดือดร้อน ข้าราชการเดือดร้อน ผู้บริหารประเทศกลับไม่ใส่ใจดูแลเรื่องนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะมาดูแล เพียงแก้กฎหมายมาตราเดียวเท่านั้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องทำเรื่องนี้เพื่อช่วยประชาชน ถ้าข้าราชการหรือครูเดือดร้อนย่อมส่งผลต่อการทำงาน การสอนเด็กและเยาวชนแน่นอน ปัญหาหนี้ครูต้องได้รับการแก้ไข เพราะระบบเราไม่เอาใจใส่ครู เราต้องให้ครู ข้าราชการมีสมาธิในการทำงาน โดยการปลดล็อกกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ

 

นายมโนชัย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนการแก้หนี้เกษตรกรนั้นพรรคประชาธิปัตย์ เล็งเห็นความสำคัญของเกษตรกร และต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรอย่างยั่งยืน ไปพร้อมกับการอัดฉีดทุนก้อนใหม่เพื่อการฟื้นฟูและปรับประสิทธิภาพการผลิตทางการเกษตร โดยมีนโยบาย ดังนี้

1.ปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบโดยนำหนี้ของ ธ.ก.ส. และรวมถึงหนี้สหกรณ์การเกษตรและกองทุนหมู่บ้าน (ที่ยินยอมขายหนี้ให้ ธ.ก.ส.) มาจัดแบ่งชั้น ตามศักยภาพรายคนเป็น 3 ส่วน แบ่งเป็น

ส่วนที่ 1 ลูกหนี้ที่ไม่มีศักยภาพ ที่เป็นเกษตรกรสูงวัย มีอายุมากเกิน 65 ปี หรือทุพพลภาพ ไม่สามารถประกอบอาชีพได้แล้ว มีอยู่ประมาณ 300,000 คน มีมูลหนี้ประมาณ 70,000 ล้านบาท จะยกหนี้ให้แก่เกษตรกรผู้สูงอายุ

เป็นการตอบแทนคุณความดีที่ผลิตสินค้าให้เป็นอาหารแก่คนไทยมาอย่างยาวนาน โดยตัดเป็นหนี้สูญ ซึ่ง ธ.ก.ส.สำรองหนี้ดังกล่าวครบแล้ว และมีเงินกองทุนอยู่ประมาณ 420,000 ล้านบาท จึงไม่กระทบฐานะทางการเงินแต่ประการใด

ส่วนที่ 2 ลูกหนี้ที่พอมีศักยภาพและยังประกอบอาชีพเกษตรกร แต่มีภาระหนี้สินล้นพ้นตัวไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งมีประมาณ 2,000,000 คน มูลหนี้ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท จะแปลงมูลหนี้แต่ละรายเป็นหุ้นที่ ธ.ก.ส.ถือไว้แต่มีสัญญาขายคืนหุ้นดังกล่าว ให้คืนแก่ลูกหนี้ภายใน 10 ปี

ขณะที่เม็ดเงินที่จะลงทุนใหม่จะให้ในรูปการทำธุรกิจร่วมกัน โดย ธ.ก.ส.เปลี่ยนบทบาทจาก เจ้าหนี้ เป็น “คู่คิดคู่ทำร่วมเสี่ยงกับเกษตรกร” (Partnership) แทนเป็นผู้ให้สินเชื่อ (Lender) แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาเป็นผู้ร่วมทุน

ส่วนที่ 3 คือลูกหนี้ที่มีศักยภาพ สามารถเลือกเข้าโครงการเช่นเดียวกับกลุ่มพอมีศักยภาพ หรือใช้บริการสินเชื่อตามปกติของ ธ.ก.ส.ต่อไป โดย ธ.ก.ส.ต้องคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ผู้กู้กลุ่มดังกล่าวที่มี Net margin ให้ต่ำกว่า 1.0 %

2.ปรับบทบาทของ ธ.ก.ส.ให้เป็นสถาบันเพื่อการพัฒนาชนบท เพื่อให้มีบทบาทนอกจากเป็นผู้บริการทางการเงินแบบคู่คิดคู่ร่วมเสี่ยงกับเกษตรกรและชุมชน (Financial Partnership Provider) ในภาคชนบทแล้ว จะยกระดับเป็นที่ปรึกษาการเงิน (Financial advisory) ช่วยจัดตั้งธนาคารหมู่บ้านโดยจัดหาแหล่งเงินทุนให้ด้วย

สำหรับการขับเคลื่อนตามบทบาทใหม่ของ ธ.ก.ส.จะใช้เงินจากแหล่งเงินทุนของ ธ.ก.ส.ซึ่งปัจจุบันมีสภาพคล่องทางการเงินรองรับการดำเนินงานประมาณ 400,000 ล้านบาท และจากการให้รัฐบาลชำระหนี้ตามโครงการจำนำข้าวและประกันรายได้เกษตรกรที่เป็นหนี้ประมาณ 800,000 ล้านบาท รวมเป็นประมาณ 1.2 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอ โดยไม่ต้องพึงงบประมาณภาครัฐ

ทั้งนี้ จากการยกหนี้ให้แก่เกษตรกรผู้สูงอายุและการแปลงหนี้เป็นทุนประมาณ 1.27 ล้านล้านบาท จะลดหนี้ภาคครัวเรือนของประเทศลงได้มากกว่า 8% ของ GDP และการเปลี่ยนบทบาท ธ.ก.ส.เป็นธนาคารพัฒนาชนบทตามแนวคิด “คู่คิดคู่ร่วมเสี่ยงกับเกษตรกรและชุมชน” จะส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง ทำให้เกิดการเติบโตเศรษฐกิจในภาพรวมแบบยั่งยืนไม่ต่ำกว่าปีละ 1.0% ช่วยให้เกษตรกรที่สูงวัย ทุพพลภาพ ประมาณ 300,000 คน ที่ถูกตัดหนี้เป็นหนี้สูญ หลุดพ้นจากความทุกข์ยากจากการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ของประชาชนในชนบท

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่