กทม.ยืนยัน เลือกตั้ง ส.ส. โปร่งใส ใช้เทคโนโลยีมาช่วย ชวนคนกรุงฯ แสดงพลังโหวตให้ถึง 80% เพราะทุกเสียงจะกำหนดทิศทางบ้านเมืองในอนาคต
(3 พ.ค. 66) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย วิศณุ ทรัพย์สมพล และศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นำคณะสื่อมวลชนตรวจเยี่ยมการเชื่อมระบบ CCTV ห้องเก็บรักษาหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ณ ศูนย์กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการติดตั้งกล้อง CCTV ที่ห้องเก็บรักษาหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ขณะนี้ได้ติดตั้งครบทั้ง 33 เขตเลือกตั้งแล้ว โดยติดตั้งเขตฯ ละ 2 กล้อง อยู่ระหว่างการเชื่อมระบบมาที่ศูนย์ CCTV และขึ้นเว็บไซต์ พร้อมขออนุญาต กกต. ในการเปิดเผยให้ประชาชนสามารถติดตามได้ หาก กกต.อนุญาต กทม.จึงจะสามารถเผยแพร่ลิงก์เว็บไซต์ดังกล่าวให้ประชาชนทราบในลำดับต่อไป
โดยนอกจากการติดตั้งกล้อง CCTV แล้ว ยังมีการตั้งระบบตรวจจับความเคลื่อนไหว (Motion Detect) ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งหากมีการเคลื่อนไหวระบบจะแจ้งเตือนอัตโนมัติมายังเจ้าหน้าที่ทันทีผ่านไลน์ และจะบันทึกประวัติการเคลื่อนไหวไว้ ทั้งภาพ วัน และเวลาที่ตรวจจับความเคลื่อนไหวได้ ซึ่งจะทำให้เจ้าหน้าที่สามารถไล่ดูรายงานได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องย้อนดูกล้องตั้งแต่ต้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นใจว่าตั้งแต่เริ่มเก็บรักษาหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าจนกระทั่งถึงวันที่นำหีบบัตรดังกล่าวออกไปนับคะแนนจะไม่มีใครมายุ่งอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ จากการทดสอบระบบตรวจจับความเคลื่อนไหว ปัจจุบันยังพบบั๊ก (Bug) หรือจุดบกพร่องของระบบอยู่เล็กน้อย (ตรวจจับความเคลื่อนไหวนอกห้องเก็บรักษาหีบฯ) ซึ่งจะให้เจ้าหน้าที่เร่งแก้ไขบั๊กให้เรียบร้อยโดยเร็ว
ขอขอบคุณ กกต. ที่มีมาตรการหลาย ๆ อย่างเพื่อความโปร่งใส ซึ่งทาง กกต. ต้องดูแลหลายหน่วยเลือกตั้ง กทม.จึงช่วยในสิ่งที่สามารถทำได้ และเทคโนโลยีคือหัวใจของการทำงาน การที่ กทม.นำกล้อง CCTV มาช่วยนั้นไม่ได้ใช้เงินเพิ่มเติม เนื่องจากเป็นการนำกล้อง Standby จากสำนักการจราจรและขนส่ง กทม. มาใช้ ส่วนโปรแกรมก็ได้ประสานขอให้คนช่วยเขียนให้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพโดยไม่ต้องใช้เงินลงทุน
สำหรับวันเลือกตั้ง ทาง กกต.อนุญาตให้ถ่ายภาพใบรายงานผลการนับคะแนน (5/18) ได้ เพื่อเป็นการป้องกันกรณีผลเลือกตั้งช้า กทม.จึงได้ประสานกับอาสาสมัครสตาร์ทอัพ นำเทคโนโลยี OCR หรือ Optical Character Recognition เปลี่ยนข้อความที่อยู่ในรูปภาพให้อยู่ในรูปแบบของข้อความ เพื่อช่วยให้การนับคะแนนเร็วขึ้น โดยหลังจากอัปโหลดภาพ ระบบจะขึ้นคะแนนทันที โดยจะมีการแสดงระดับความเชื่อมั่น (Confidence Level) ไว้ด้วย หากลายมือในภาพอ่านยาก ระดับความเชื่อมั่นจะน้อยลง ทำให้เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจสอบเฉพาะจุดซ้ำอีกครั้งเพื่อความถูกต้องแม่นยำ ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นการช่วยเพิ่มความรวดเร็วและโปร่งใส ซึ่งจะเป็นผลดีกับทุกคน รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย
ด้านความพร้อม ยืนยันว่า กทม.มีความพร้อมเพราะได้มีการอบรมซักซ้อมการปฏิบัติงานแล้ว นอกจากนี้ เนื่องจากช่วงเลือกตั้งอาจจะมีพายุเข้า จึงได้สั่งการให้สำนักงานเขตและสำนักการระบายน้ำเตรียมความพร้อมในกรณีฝนตกน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม ประชาชนควรไปให้เร็วก่อนที่ฝนจะตก เพื่อความสะดวกในการเดินทาง
“การเลือกตั้ง ส.ส. ในครั้งนี้ คาดว่าจะมีคนออกมาใช้เสียงมากถึง 80% ขอเชิญชวนทุกคนออกมาแสดงพลังใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะในระบอบประชาธิปไตย วันเลือกตั้งนั้นสำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นวันที่เรามีตัวตนและทุกเสียงของเรามีความหมายในการกำหนดว่าบ้านเมืองเราจะไปในทิศทางไหน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวในตอนท้าย