หน้าแรก Voice TV ศาลอาญาทุจริตฯ ยกคำร้อง ‘สืบพงษ์’ ฟ้อง สภา ม.รามฯ ปมถอดถอนพ้นอธิการบดี

ศาลอาญาทุจริตฯ ยกคำร้อง ‘สืบพงษ์’ ฟ้อง สภา ม.รามฯ ปมถอดถอนพ้นอธิการบดี

82
0
ศาลอาญาทุจริตฯ-ยกคำร้อง-‘สืบพงษ์’-ฟ้อง-สภา-ม.รามฯ-ปมถอดถอนพ้นอธิการบดี

สภาม.รามคำแหงเฮ! ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ยกคำร้อง ‘สืบพงษ์’ ฟ้องสภาม.รามคำแหง ลงมติถอนออกจากอธิการบดี ชี้คดีไม่มีมูลผิดตามคำฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 9 พ.ค. 2566 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง   นัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษา (ชั้นไต่สวนมูลฟ้อง) คดีอาญาหมายเลขดำที่ อท 7/2565ระหว่าง สืบพงษ์ ปราบใหญ่ โจทก์ สมบูรณ์ สุขสำราญ กับพวกรวม 16 คน ในฐานะจำเลย ข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

โจทก์ฟ้องว่า ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ครั้งที่ 15/2564 จำเลยทั้ง 16 ลงมติถอดถอนโจทก์ออกจากตำแหน่งอธิการบดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีมูลเหตุจูงใจพิเศษว่าไม่ต้องการให้บุคคลที่โจทก์เสนอชื่อเป็นนายกสภามหาวิทยาลัย  ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 มาตรา 23 (6) อธิการบดีพ้นจากตำแหน่งเมื่อสภามหาวิทยาลัยมีมติให้ถอดถอน และมาตรา18 ให้สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัย โดยมาตรา 18 (3) ให้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาเสนอเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งและถอดถอนอธิการบดี สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงโดยจำเลยทั้งสิบหก  กรรมการสภามหาวิทยาลัยเสียงข้างมากจึงมีอำนาจหน้าที่ในการถอดถอนโจทก์ 

ส่วนการเสนอชื่อเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯถอดถอนอธิการบดีนั้นเป็นเพียงขั้นตอนหลังจากที่สภามหาวิทยาลัยมีมติให้ถอดถอนอธิการบดีแล้ว สำหรับการกระทำอันเป็นเหตุที่สภามหาวิทยาลัยจะถอดถอนอธิการบดีนั้น ไม่มีกฎหมายกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งอื่นใดบัญญัติไว้ โดยที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงครั้งที่15/2564เห็นว่าการที่โจทก์ในฐานะอธิการบดีมิได้เรียกประชุมสภามหาวิทยาลัยตามที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงแปดคนร้องขอ และที่โจทก์มอบหมายให้เลขานุการสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงมีหนังสือขอเสื่อนการประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงครั้งที่ 18/2564 ซึ่งประธานในที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยรามคำแห่งครั้งที่ 13/2564 ได้นัดหมายไว้ล่วงหน้าแล้ว เป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยการประชุมสภามหาวิทยาลัย พ.ศ.2541 ข้อ 4ประกอบข้อ 3 วรรคสอง และโจทก์ไม่มีอำนาจที่จะเลื่อนการประชุมสภามหาวิทยาลัยได้ กรณีจึงมีเหตุแห่งการถอดถอนโจทก์

ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสิบหกมิได้ให้โจทก์มีโอกาสที่จะได้รับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสได้โต้แย้งและแสดงพยานหลักฐานของตนตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง นั้น เห็นว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา172 มิได้อาศัยเพียงการที่เจ้าพนักงานหรือเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่ผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริตด้วยจึงจะเป็นความผิด เมื่อคำว่า “การให้พ้นจากตำแหน่ง” ตามข้อ 1 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 กฎหมายมิได้ให้คำนิยามหรือความหมายไว้เป็นการเฉพาะ

ทั้งในขณะที่จำเลยทั้ง 16 ลงมติและมีคำสั่งถอดถอนโจทก์นั้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดหรือมีมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดที่วินิจฉัยว่าการให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 3ㆍ วรรคสอง (6) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539ประกอบข้อ 1ของกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ใช้บังคับเฉพาะกรณีการพันจากตำแหน่งหนึ่งไปสู่อีกตำแหน่งหนึ่ง มิใช่เป็นการพ้นจากตำแหน่งที่มีผลเป็นการถาวรและเด็ดขาด 

ส่วนมติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 22/2565 เกิดขึ้นภายหลังจากที่จำเลยทั้งสิบหกมีมติและมีคำสั่งถอดถอนโจทก์อันเป็นมูลเหตุคดีนี้ สำหรับมูลเหตุจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษนั้น ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่ากลุ่มของจำเลยได้เสนอให้โจทก์เสนอชื่อบุคคลใดดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย ส่วนข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหงว่าด้วยการสรรหานายกสภามหาวิทยาลัย พ.ศ.2564 อธิการบดียังคงมีสิทธิเสนอชื่อบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัย 

พยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจึงยังไม่พอฟังได้ว่า การที่จำเลยทั้งสิบหกมีมติถอดถอนโจทก์มีมูลเหตุจูงใจอันเป็นเจตนาพิเศษจากการที่จำเลยทั้งสิบหกไม่พอใจ โจทก์ที่เสนอชื่อบุคคลที่อยู่นอกกลุ่มของจำเลยให้ดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงตามที่โจทก์ฟ้อง การลงมติถอดถอนโจทก์ของจำเลยทั้งสิบหกจึงเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงและไม่มีมูลความผิดตามฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2566ที่ผ่านมา  ศาลปกครองกลางได้นัดอ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด กรณีที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวที่ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งทุเลาการบังคับมติหรือคำสั่งของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ถอดถอนสืบพงษ์ ออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะปกปิดข้อมูลการรับโอนทรัพย์สินและที่ดินจากสุพจน์ ทรัพย์ล้อม ภายหลังจากที่สุพจน์ ทรัพย์ล้อม ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ ซี่งต่อมา ศาลฎีกาได้พิพากษายึดทรัพย์สินดังกล่าวที่ สุพจน์ โอนให้นายสืบพงษ์ตกเป็นของแผ่นดิน รวมถึง สืบพงษ์ ได้ใช้วุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกที่ไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) มาสมัตรเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยในตำแหน่งอาจารย์ สังกัดคณะศึกษาศาสตร์และได้ใช้วุฒิดังกล่าวในการสมัครเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดี

ภายหลังการถอดถอน ผู้ช่วยศาสตราจารย์สืบพงษ์ได้ฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนมติและคำสั่งการถอดถอนตนออกจากตำแหน่ง พร้อมทั้งได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งทุเลาการบังคับตามมติและคำสั่งของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งทุเลาหรือคุ้มครองชั่วคราวผู้ช่วยศาสตราจารย์สืบพงษ์ เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2566 จนนำไปสู่การอุทธรณ์ของสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้ระงับการสั่งคุ้มครองดังกล่าว โดยวันนั้นศาลปกครองสูงสุด กลับคำสั่งเป็นให้ยกคำขอของ สืบพงษ์ที่ยื่นขอคุ้มครองชั่วคราว โดยชี้ว่า เบื้องต้นยังฟังไม่ได้ว่า คำสั่งถอดถอนพ้นอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการวินิจฉัยในคดีที่เกี่ยวกับการฟ้องร้องระหว่าง สืบพงษ์และสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงสิ้นสุดแล้ว ทำให้ สืบพงษ์ต้องพ้นหน้าที่จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่