หน้าแรก Voice TV 3 พรรคทำสัญญาประชาคม 'กระจายอำนาจ-ปฏิรูปกองทัพ-ทลายนายทุน'

3 พรรคทำสัญญาประชาคม 'กระจายอำนาจ-ปฏิรูปกองทัพ-ทลายนายทุน'

47
0
3-พรรคทำสัญญาประชาคม-'กระจายอำนาจ-ปฏิรูปกองทัพ-ทลายนายทุน'

‘ก้าวไกล-ไทยสร้างไทย-เสรีรวมไทย’ สัญญาประชาคม กระจายอำนาจ-ปฏิรูปตำรวจ-กองทัพ-ทลายทุนผูกขาด ตั้งเป้าแก้ รธน. ใหม่ โดย สสร.

วันที่ 10 พ.ค. คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับ องค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สปยธ.) คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 และสถาบันสังคมประชาธิปไตย จัดเวทีสัญญาประชาคมพรรคการเมือง กับอนาคตประชาธิปไตยไทย ขึ้น ณ อนุสรณ์ 14 ตุลา กรุงเทพฯ

โดยมีประเด็นจากข้อเสนอภาคประชาชน 5 ประเด็นคือ พรรคการเมืองกับการแก้ไขเศรษฐกิจผูกขาด พรรคการเมืองกับการกระจายอำนาจการปกครอง พรรคการเมืองกับการปฏิรูปการเมือง และกองทัพ พรรคการเมืองกับการปฏิรูปตำรวจ และกระบวนการยุติธรรม และพรรคการเมืองกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย

สำหรับพรรคการเมืองที่เข้าร่วมการแถลงสัญญาประชาคม ประกอบด้วย ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ไชยวัฒน์ หาญสมวงศ์ รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย และ สมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย

ปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (SVN) กล่าวข้อเสนอในประเด็น ‘พรรคการเมืองกับการแก้ไขเศรษฐกิจผูกขาด’ โดยระบุว่า ในด้านพลังงานเป็นสิ่งที่รัฐต้องผูกขาดอยู่แล้ว ไม่อาจให้เอกชนถือครองเพราะจะส่งผลต่อความมั่นคงในคุณภาพชีวิตของประชาชน รัฐจึงต้องไม่เสาะแสวงหาผลกำไรเหมือนเอกชน กรณีบางกิจการเอกชนที่รับสัมปทานของรัฐมา แต่กลับแสวงหากำไรเกินควร ก็จะนำมาสู่ความแทรกซ้อนและผูกขาด รัฐจึงไม่ควรให้เอกชนทำในเรื่องที่รัฐควรทำเอง และปล่อยให้เอกชนแข่งขันกันเองอย่างเป็นธรรมในเรื่องที่ควรแข่งขัน

สำหรับเรื่องการค้าปลีก ตนมองว่าอยู่ในภาวะผูกขาดสมบูรณ์แบบระหว่างกิจการขนาดใหญ่ไม่กี่แห่ง ซึ่งควบคุมได้ประมาณ 80% ของสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการดังกล่าวมีอำนาจเหนือตลาด สามารถกำหนดราคา หรือกีดกันการแข่งขันได้อีกด้วย โดยเอาผู้บริโภคเป็นตัวประกันซึ่งไม่รู้เลยว่าราคาสินค้าจะขึ้นมาอีกเมื่อใด เพราะผู้เป็นเจ้าของร้านค้าปลีกที่ครองสัดส่วนของตลาดกว่า 80% สามารถกำหนดราคาขายได้ทุกเมื่อ ขณะที่ผู้ผลิตก็ตกเป็นตัวประกันเช่นกัน เพราะไม่มีอำนาจกำหนดราคา เนื่องจากต้องส่งสินค้าไปยังแหล่งเดียว

ส่วนการส่งออกของไทย ถือว่าสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หากส่วนนี้ถูกผูกขาดจะทำให้ผู้ผลิตในประเทศเกิดความรู้สึกขาดเสถียรภาพในการรักษากิจการไว้ ควรสร้างให้เกิดดุลยภาพในการส่งออก ไม่ควรปล่อยให้ตกอยู่ในมือของกลุ่มใดเพียงกลุ่มเดียว

ชัยธวัช กล่าวว่า การทลายทุนผูกขาดคือนโยบายเรือธงของพรรค ตั้งแต่สมัยพรรคอนาคตใหม่ แต่ประเด็นที่กลายพรรคยังละเลยคือ ช่วยคนตัวเล็กแล้ว จะทำอย่างไรกับทุนใหญ่ ทางพรรคก้าวไกลเสนอการผลักดันให้ทุนใหญ่ออกไปเป็นตัวแทนของประเทศในการแสวงหาโอกาส แทนที่จะมาผูกขาดในประเทศ ซึ่งมีนโยบายตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ ‘สุราก้าวหน้า’ เพื่อปลดล็อกไม่ให้การผลิตสุราถูกผูกขาด และสร้างอุปสรรคให้ผู้ผลิตรายย่อยที่มีศักยภาพ เชื่อมั่นว่าสามารถผลักดันได้ทันทีใน 100 วันแรกที่พรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาลสมัยหน้า

ชัยธวัช ยังกล่าวถึงกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า ซึ่งมีข้อเสียคือไม่สามารถเอาผิดใครได้ที่ทำให้การค้าไม่เป็นธรรม สิ่งสำคัญจึงเป็นการเร่งปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวให้มีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดครอบคลุมกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน ควรให้ที่มาของ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ยึดโยงกับภาคประชาชน และรายงานผลการรับผิดชอบต่อสภาฯ เพิ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาในกรณีที่ส่อว่าจะเป็นการควบรวมเพื่อผูกขาด เพิ่มสิทธิในการอุทธรณ์และฟ้องแพ่งของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการผูกขาด

ด้าน ไชยวัฒน์ กล่าวว่า ด้านพลังงานเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องดูแลเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน โดยทางพรรคได้พยายามคัดค้านเรื่องการขึ้นราคาพลังงานมาตลอด พร้อมเผยว่าที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิต การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีกำไรสะสมมากกว่า 2 แสนล้านบาท ขณะที่ประชาชนกลับต้องเดือดร้อนจากราคาพลังงาน ที่ผ่านมารัฐบาลได้พยายามเปิดตลาดใหม่ แต่กลับสร้างช่องให้เกิดการผูกขาดยิ่งขึ้น เช่น การเปิดสัมปทานพลังงานสีเขียว

พรรคไทยสร้างไทยเน้นเรื่องการช่วยเหลือคนตัวเล็กในสังคม โดยได้แก้ไข พ.ร.ก.เอื้อให้ผู้ประกอบการ SME ที่อยู่นอกระบบธนาคาร ทั้งนี้พรรคไทยสร้างไทยยังเห็นว่ากฎหมายในด้านนี้ยังเป็นส่วนน้อย ทำให้คนตัวเล็กไม่สามารถทำงานได้ เรื่องเร่งด่วนที่ควรทำคือการแขวนกฎหมายไว้ก่อน และสร้างกระบวนการ Legal Sandbox และให้ผู้เกี่ยวข้องมาร่วมกันเสนอแก้ไขกฎหมาย เพราะลำพังหากให้ ส.ส.แก้ไขกันเอง อาจไม่เข้าใจถึงปัญหาของภาคประชาชนอย่างแท้จริง

‘พรรคการเมืองกับการกระจายอำนาจการปกครอง’

ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษากฎหมายกระจายอำนาจ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวข้อเสนอในประเด็น ‘พรรคการเมืองกับการกระจายอำนาจการปกครอง’ ระบุว่า ปล่อยให้การจัดการประเทศอยู่ในการปกครองตามอำเภอใจของผู้มีอิทธิพลผูกขาดบางกลุ่ม ทั้งในมิติของเศรษฐกิจและการเมือง

การกระจายอำนาจคือการทำให้รัฐศูนย์กลางเล็กลง และทำให้รัฐท้องถิ่นมีขนาดใหญ่ขึ้น มีอำนาจและบทบาทหน้าที่มากขึ้น สามารถจัดการวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น เพื่อให้ภาพรวมของการปกครองมีความสมดุล ไม่กระจุกตัว และปลดปล่อยศักยภาพของแต่ละหน่วย ตนคาดหวังว่าทุกๆ การเลือกตั้ง พรรคการเมืองจะตั้งเป้าแก้ไข สะสางปัญหาที่ยังหมักหมมอยู่อย่างไร ประกอบด้วย 

1.ทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หรือเฉพาะเรื่อง แก้ไขเรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่น

2.ป้องกันการเข้าสู่อำนาจโดยรัฐประหาร ซึ่งเป็นการรวมศูนย์อย่างมากที่สุด 

3.ให้ความสำคัญกับหลักประกันในกฎหมายระดับรองอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจ คุ้มครองความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อป้องกันการถูกแทรกแซง

4.ปรับระบบการเลือกตั้งผู้ว่าฯ

5.เพิ่มสิทธิของประชาชนในการประกอบกิจสาธารณะร่วมกัน หรือจัดตั้งสภาพลเมืองในทุกๆ ท้องถิ่น

6.เพิ่มกองทุนสนับสนุนกิจกรรมภาคประชาชน

7.แก้ไขข้อขัดข้องเกี่ยวกับสิทธิชุมชน

ไชยวัฒน์ กล่าวว่า พรรคไทยสร้างเน้นการกระจายอำนาจในด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้หน่วยงานรัฐมีความร่วมมือที่สอดคล้องกับภาคเอกชนในระดับต่างๆ และต้องพิจารณารายละเอียดความทับซ้อนทางอำนาจ ไม่ให้กลายเป็นฐานอำนาจของข้าราชการทางการเมืองและข้าราชการประจำ ไม่เช่นนั้นประชาชนจะเป็นผู้รับผลกรรม

โดยพรรคไทยสร้างไทยเอง ผลักดันให้ระดับจังหวัดมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการของจังหวัดนั้นๆ พร้อมจัดหาแหล่งทุนสำหรับขับเคลื่อนโครงการให้ตรงจุด ไม่ใช่เพียงสั่งงบประมาณลงไปเท่านั้น พร้อมเสนอว่า ควรจัดทำเป็นต้นแบบขึ้นมาก่อน ไม่สามารถจะจัดทำไปทันทีทั้งประเทศได้ ควรเริ่มต้นจากจังหวัดที่มีความพร้อมสูงก่อน เพื่อให้การกระจายอำนาจประสบความสำเร็จ

ยิ่งรวมศูนย์อำนาจยิ่งล่าช้า

ด้าน สมชัย กล่าวว่า แนวโน้มของการกระจายอำนาจก็คือแนวโน้มของการปกครองทั้งโลก เพราะยิ่งรวมศูนย์อำนาจ ยิ่งล่าช้าและไม่ตรงใจ การกระจายอำนาจจะทำให้การแก้ไขปัญหารวดเร็วและตรงจุดมากขึ้น แต่ทว่ากระบวนการกระจายงบประมาณจากส่วนกลางก็ยังไม่คืบหน้า แม้ผ่านมาเป็นเวลานาน อำนาจในการกำกับติดตามก็ยังผูกอยู่กับส่วนกลางอย่างเหนียวแน่น

ส่วนท้องถิ่นต้องมีอำนาจในการบริหารจัดการตัวเอง รวมถึงการใช้และปกป้องทรัพยากรต่างๆ ในท้องถิ่น ต้องฟังเสียงของประชาชน และมอบอำนาจให้คนในท้องถิ่นตัดสินใจถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่นของตัวเองได้ ไม่ต้องรออำนาจจากกระทรวงมหาดไทย ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัด ไม่สามารถเกิดขึ้นโดยง่ายหรือโดยเร็ว แต่ต้องเริ่มต้นจากพื้นที่ซึ่งประชาชนมีความพร้อมดูแลตนเองก่อน มีงบประมาณเพียงพอ หากลองเริ่มต้นที่ 5-6 จังหวัด ก็จะสามารถพิสูจน์ความแตกต่างได้ว่าสร้างความเจริญได้จริงหรือไม่

ส่วน ชัยธวัช ระบุถึง 4 หลักการกระจายอำนาจท้องถิ่น 1) เพิ่มงบ กระจายงบให้มีสัดส่วนมากขึ้น และให้สอดคล้องกับบริบทของงบประมาณในแต่ละท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ท้องถิ่นหารายได้เอง 2) เพิ่มอำนาจ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดขอบเขตอำนาจส่วนท้องถิ่นอย่างชัดเจน และยังมีความซ้ำซ้อน จึงควรเปลี่ยนจากสิ่งที่ท้องถิ่นทำได้ เป็นระบุข้อห้ามว่า ท้องถิ่นทำอะไรไม่ได้บ้างแทน

3) เพิ่มคน โดยการถ่ายบุคลากรจากส่วนภูมิภาคไปอยู่กับท้องถิ่น 4) เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เช่น การกำหนดให้มีสภาพลเมือง และจัดให้มีการทำงบประมาณแบบมีส่วนร่วมในระยะเวลาหนึ่ง สามารถเสนอโครงการให้ลงมติกันได้ รวมถึงให้อำนาจประชาชนถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น ไม่ใช่อำนาจของผู้ว่าฯ และ 5) เลือกตั้งผู้ว่าฯ ทุกขงจังหวัดภายใน 5 ปี เป็นเรื่องใหญ่ จึงต้องมีการจัดทำประชามติว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่

‘พรรคการเมืองกับการปฏิรูปการเมือง และกองทัพ’

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) กล่าวข้อเสนอประเด็น ‘พรรคการเมืองกับการปฏิรูปการเมือง และกองทัพ’ โดยเน้นย้ำว่า หลายพรรคการเมืองเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพราะเป็นที่เห็นตรงกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ส่งเสริมประชาธิปไตย รวมถึงข้อเสนอในการยกเลิกวุฒิสภา (ส.ว.) ด้วยฐานคิดว่า

การยกร่างกฎหมายไม่จำเป็นต้องผ่านอีก 3 วาระในวุฒิสภาให้เกิดความยืดเยื้อยาวนาน ควรผ่านสภาผู้แทนราษฎรก็เพียงพอ เช่นเดียวกับเรื่องระบบเลือกตั้ง ที่มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบก็มีความเหมาะสม และเสนอให้นำเรื่องเครื่องลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมาใช้ เพื่อรวดเร็วและอำนวยความสะดวกต่อประชาชนโดยไม่สับสน เพราะกฎหมายเปิดช่องไว้แล้วว่า กกต. ใช้เครื่องนับคะแนนได้

นอกจากนี้ ยังเสนอว่าควรมีการลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อขจัดปัญหาความสับสนซ้ำซ้อนของผู้ใช้สิทธิ และการซื้อสิทธิเสียง โดยใช้ความสมัครใจว่าผู้ใช้สิทธิสะดวกใช้สิทธิเลือกตั้งที่ใดโดยไม่จำเป็นต้องกลับภูมิลำเนา รวมถึงเสนอให้ยกเลิกการยุบพรรคการเมือง ไม่ควรให้ยุบลงง่าย เพราะมาจากเจตจำนงของประชาชน และควรรักษาระบบไพรมารีโหวตไม่ให้สมาชิกถูกครอบงำ สำหรับองค์กรอิสระต่างๆ เสนอว่าควรมาจากการเลือกตั้งโดย ส.ส.หรือโดยประชาชนที่มีคุณสมบัติก็ได้ เพื่อให้ยึดโยงกับภาคประชาชน และขจัดอคติที่ถูกผูกไว้กับความเป็นคนดี

ด้านการปฏิรูปทหาร ชี้ว่าควรต้องแยกขาดทหารออกจากการเมือง ทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ที่ประชาชนต้องลุกขึ้นต่อสู้ ทหารควรมีหน้าที่ดูแลรักษาราชอาณาจักร โดยกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ห้ามมีรัฐประหาร เพื่อที่ทหารจะมีความชอบธรรมในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทหารที่ทำผิดกฎหมาย และเป็นความผิดที่ไม่อาจนิรโทษกรรมได้ และยังเห็นด้วยว่าไม่ควรมีการเกณฑ์ทหารโดยบังคับ ควรเปลี่ยนให้เป็นระบบสมัครใจ และตรวจสอบไม่ให้มีการคอร์รัปชันในระบบการเกณฑ์ทหาร

ชัยธวัช ระบุว่า โจทย์ใหญ่ของสังคมคือ เราไม่สามารถแสวงหาการเมืองที่อยู่ร่วมกันได้แม้จะเห็นต่างกัน หรือการหาฉันทามติแท้จริงของสังคม เป็นเป้าหมายสำคัญที่ต้องไปให้ถึง จำเป็นต้องออกแบบสถาบันการเมืองใหม่ในแนวคิดว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน และตรวจสอบกระบวนการใช้อำนาจ แนวคิดองค์กรอิสระในปี 2540 กลับกลายสภาพเป็นองค์กรที่มีปัญหากับการใช้อำนาจ

พรรคก้าวไกลเสนอว่า การทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่สามารถทำได้เลยใน 100 วันแรก หากได้เป็นรัฐบาล และเมื่อมี สสร. แล้ว ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมกันหาฉันทามติ ส่วนของก้าวไกลเองเห็นด้วยให้ยกเลิก ส.ว. เพราะทำให้กระบวนการนิติบัญญัติไม่มีคุณภาพ ไม่มีสิ่งใดยืนยันว่า ส.ว. จะมีวุฒิภาวะมากกว่า และไม่มีมีประวัติหรือคุณวุฒิยืนยาวเหมือนอังกฤษ แต่เป็นผลผลิตของการรัฐประหารครั้งแรกเมื่อปี 2490

ส่วนการปฏิรูปกองทัพ พรรคก้าวไกลมีเป้าหมายหลักคือ ออกจากการเมือง ไม่ยุ่งเกี่ยวและให้อำนาจรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ จิ๋วแต่แจ๋ว ขนาดเล็กลงแต่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ทันสมัยขึ้น และต้องจำกัดกองทัพให้มีภารกิจเฉพาะความมั่นคงจากภายนอกเท่านั้น ส่วนความมั่นคงภายในให้ใช้แนวคิดแบบพลเรือนเท่านั้น เช่น การแจกใบแดงนายพล 7 ปี สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต้องเว้นว่างจากการเมือง ต้องให้นายกฯ มีอำนาจสูงสุดในการกำกับดูแลกำลังทหาร สั่งโยกย้ายผู้นำเกล่าทัพได้ เพื่อไม่ให้อำนาจตกอยู่กับ ผบ.ทบ. ล้นเกิน

ขณะที่ สมชัย กล่าวว่า การเมืองไทยถูกออกแบบมาเพื่อรับใช้ชนชั้นปกครองและรักษาอำนาจของตนเองไว้ มากกว่าทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน รัฐธรรมนูญจึงต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ หากพรรคการเมืองเข้าไปมีอำนาจรัฐแล้ว ต้องเร่งรัดให้ทำประชามติโดยเร็วในเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หากประชาชนต้องการ ก็ไม่ควรมีเงื่อนไขหรือข้อยกเว้นใดๆ และมี สสร. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ให้ทุกภาคส่วนในสังคมมีโอกาสออกแบบรัฐธรรมนูญที่เป็นกลาง

สมชัย ชี้ว่า ปัญหาสำคัญคือเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ที่ไม่เคยมีมาก่อน และเป็นสิ่งเหนี่ยวรั้งการพัฒนาประเทศ เพราะไม่มีใครสามารถเห็นว่าอีก 20 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร มองว่าเป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่า ควรยกเลิกส่วนนี้เพื่อให้รัฐบาลในอนาคตกำหนดทิศทางของตัวเอง และควรต้องออกแบบให้การเมืองเป็นต้นทุนต่ำ ไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากเกินไปในการหาเสียง ทุกพรรคเท่าเทียมกัน เปิดโอกาสให้คนที่เหมาะสมมาทำหน้าที่ได้ โดยไม่ต้องใช้เงินมากมาย

ส่วน ไชยวัฒน์ เผยว่า พรรคไทยสร้างไทยได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย สสร. ยังประธานสภาฯ แล้ว โดยมีรายละเอียดการแก้ไข ให้การรัฐประหารเป็นเรื่องผิดกฎหมายทุกกรณี ยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ รวมถึงแก้ไขในประเด็นอื่นๆ ให้สมบูรณ์มากขึ้น ขณะที่การปฏิรูปกองทัพ ต้องปรับอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ ลดขนาดกองทัพ 

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร สถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สปยธ.) กล่าวข้อเสนอประเด็น ‘พรรคการเมืองกับการปฏิรูปตำรวจ และกระบวนการยุติธรรม’ โดยระบุว่า การรักษากฎหมายเป็นเรื่องสำคัญที่กระทบกับประชาชน 7-8 ปีที่ผ่านมา ยิ่งถดถอยลงไป เพราะประชาชนไม่ได้ทำหน้าที่ รับเรื่องร้องทุกข์แจ้งความจากประชาชน ทั้งที่ ป.วิอาญาฯ กำหนดไว้ชัดเจนสมบูรณ์แล้ว แต่กลับมีการปล่อยปละละเลย

ตนยังไม่เห็นพรรคการเมืองเสนอนโยบายด้านการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน ยกเว้นแต่พรรคก้าวไกล เช่นเดียวกับการแก้ปัญหายาเสพติดที่พรรคเพื่อไทยเคยยกความสำเร็จในอดีต ทั้งที่ความจริงเป็นอาชญากรรมทั้งสิ้น ที่แท้แล้วควรต้องปฏิรูปตำรวจจึงจะสามารถแก้ยาเสพติดได้ จึงเห็นได้ว่าพรรคก้าวไกลมีนโยบายที่ก้าวหน้า แต่ต้องได้เป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้นจึงจะมีอำนาจสั่งการ เพราะการออกกฎหมายต้องใช้เวลานาน แต่หากลงคะแนนเสียงให้พรรคการเมืองได้เป็นนายกฯ จะสามารถผลักดันประเด็นนี้ได้รวดเร็ว

ชัยธวัช ชี้ว่า หัวใจสำคัญของการปฏิรูปตำรวจ ต้องคำนึงถึงบริบทเฉพาะของประเทศไทย คือต้องกระจายอำนาจ และเอาความเป็นทหารออกจากตำรวจ เช่น จุดตั้งต้นเรื่องนักเรียนตำรวจ ต้องยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจออกจากโรงเรียนเตรียมทหาร ไม่ใช่เทียบเท่า ป.ตรี แต่รับจากคนจบ ป.ตรี เพราะตำรวจควรมีความรู้กว้าง และมีความเข้าใจในศาสตร์เฉพาะต่างๆ แบบพลเรือน แล้วจึงมาเรียนตำรวจเพิ่มเติม ถือเป็นจุดเล็กๆ ที่สำคัญ

ส่วนประเด็นการกระจายอำนาจ พรรคก้าวไกลมีข้อเสนอว่า ให้ถ่ายโอนตำรวจไปสู่ระดับจังหวัด โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของ คณะกรรมการนโบายความปลอดภัยสาธารณะจังหวัด เพื่อช่วยดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ รวมถึงให้อำนาจการมีส่วนร่วมในการแต่งตั้งผู้บังคับการฯ ระดับจังหวัดด้วย พร้อมเสนอคณะกรรมการรับเรื่องร้องเรียนตำรวจ ให้อยู่ภายใต้สภาฯ ไม่ต้องส่งเรื่องไปที่จเรตำรวจเท่านั้น

ขณะที่ สมชัย เน้นย้ำถึงความชัดเจนของพรรคเสรีรวมไทยว่ามีนโยบายปฏิรูปตำรวจ ด้วยแนวคิด ‘ล้างตำรวจสีเทา’ ประกอบไปด้วย 1) ยุติการซื้อขายตำแหน่งตำรวจ ที่ทำให้ตำรวจต้องขูดรีดเงินจากประชาชนและยอมเป็นเบี้ยล่างของธุรกิจสีเทา การแต่งตั้งโยกย้ายต่างๆ ต้องเป็นไปตามคุณธรรมความสามารถ 2) โทษของตำรวจต้องรุนแรงชัดเจน ต้องให้พักราชการ ดำเนินคดีอาญาฯ 

3) นำเทคโนโลยีมาเป็นช่องทางการติดต่อระหว่างตำรวจและประชาชน เพื่อตัดวงจรการต่อรองใต้โต๊ะ 4) การให้สวัสดิการตำรวจชั้นผู้น้อยอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ จะได้ไม่ต้องไปรีดไถต่างๆ 

ด้าน ไชยวัฒน์ กล่าวว่า การปฏิรูปตำรวจควรพิจารณาให้แน่ชัดถึงปัญหาที่ชัดเจน เป็นที่ปรากฏมากมายว่าตำรวจปฏิบัติหน้าที่อย่างบกพร่อง พรรคไทยสร้างไทยเน้นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและเป็นขั้นเป็นตอน โดยต้องเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการให้ได้ก่อน จึงจะสามารถผลักดันการแก้ไขปัญหาในด้านอื่นๆ ได้

‘พรรคการเมืองกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ’

เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวเสนอประเด็น ‘พรรคการเมืองกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เป็นประชาธิปไตย’ โดยชี้ว่า รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเครื่องมือสืบทอดอำนาจควรแก้ไขโดยเร็วที่สุด และมีความไม่เป็นประชาธิปไตย ประกอบด้วย

1. เป็นรัฐธรรมนูญผลพวงจากการรัฐประหารของ คสช. และรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เป็นรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจและมรดกคณะรัฐประหาร ซึ่งร่างโดยคณะบุคคลกลุ่มหนึ่ง

2. เป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่ให้ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง และเลือกนายกรัฐมนตรีได้ กระบวนการเข้าสู่อำนาจของผู้ปกครองเป็นกึ่งเผด็จการรัฐสภา (การเปลี่ยนแปลงมติให้สภาโหวตใหม่ นี่คือการขาดอิสรภาพที่แท้จริงในรัฐสภาประชาธิปไตย)

3. เป็นรัฐธรรมนูญรวมศูนย์อำนาจส่วนกลาง สร้างรัฐราชการรวมศูนย์ และอำมาตย์มหาดไทย

4. เป็นรัฐธรรมนูญที่ขัดขวางการกระจายอำนาจ ประชาชนไม่มีสิทธิอำนาจและการมีส่วนร่วม ไม่รับรองสิทธิการตรวจสอบและถอดถอนนักการเมือง ผู้มีอำนาจออกจากตำแหน่ง

5. เป็นรัฐธรรมนูญที่สถาปนาระบอบประยุทธ์ และ 3 ป. คุมอำนาจรัฐ คุมนักการเมือง และคุมมวลชน

6. เป็นรัฐธรรมนูญที่แก้ยากมาก ล็อคไว้ 9 วรรค

7. เป็นรัฐธรรมที่ขัดขวางการปฏิรูปประเทศ ให้อำนาจ ส.ว.มากำกับ และสร้างรัฐบาลเงากำหนดทุนนิยมประชารัฐ โดยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จากคณะกรรมการ 29 คน 

8. เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาพรรคการเมือง และระบบเลือกตั้งเสรี

9. เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างองค์กรอิสระให้อยู่ภายใต้อำนาจและอาณัติของรัฐบาล องค์กรอิสระทั้ง 5 องค์กร คัดเลือกโดยคนของ คสช. และที่ประชุมวุฒิสภา ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนหรือผ่านสภาผู้แทนราษฎร

10. เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ได้มาจากเจตนารมณ์สมบูรณ์ของประชาชน เพราะมีการบังคับประชามติโดยไม่มีทางเลือก และมีการแก้ไขภายหลัง

ไชยวัฒน์ เน้นย้ำว่า พรรคไทยสร้างไทยเร่งผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเป็นเรื่องหลัง โดนยื่นร่างแก้ไขให้ประธานสภาฯ พิจารณาแล้ว พร้อมยืนยันว่าต้องจัดตั้ง สสร. มาดำเนินการแก้ไข เพื่อไม่ให้มีบุคคลใดได้เปรียบเสียเปรียบ และแก้ไขเฉพาะส่วนที่เป็นปัญหา โดยไม่ให้นักการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมแก้ไขโดยมุ่งเอาประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง

ด้าน ชัยธวัช ได้แสดงจุดยืนว่า การจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ต้องไม่มีพรรครวมไทยสร้างชาติและพรรคพลังประชารัฐรวมอยู่ด้วย เพราะภารกิจของพรรคก้าวไกลคือฟื้นฟูความเป็นประชาธิปไตย หากเริ่มจัดตั้งรัฐบาลโดยองค์ประกอบที่ผิดตั้งแต่ต้นจะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ เพราะทั้งย้ำถึงเป้าหมายของการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งจะเริ่มต้นภายใน 100 วันแรกหลังพรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่