ช่วงหลังๆ มันมีปรากฏการณ์ทำโพลเทียมจากผู้สมัคร เพื่อเอาไปใช้เป็นเกมการเมือง และการวางแผนการซื้อเสียง
เป็นการตั้งข้อสังเกตของ ผศ.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ จ.สงขลา กล่าวกับไทยพีบีเอส ว่า ขณะนี้มีผู้สมัครจากบางพรรคการเมืองออกมาทำโพล แล้วใช้ผลจากการทำโพลที่ไม่ได้ผ่านตามกระบวนการทางวิชาการที่ถูกต้อง มาเป็นเครื่องมือในการซื้อเสียง หรือที่เรียกว่า โพลเทียม
เช่น บางพรรคใช้ผลโพลอ้างกับพรรคของตัวเอง ว่ามีคะแนนตามพรรคคู่แข่ง จึงขอเงินสนับสนุนจากพรรคเพิ่ม หรือแม้แต่โพลของคู่แข่งที่ทำขึ้นมาหลอกว่า “มีคะแนนนำอยู่” จึงซื้อเสียงต่อหัวราคาไม่แพง ทั้งที่จริงมีคะแนนตามอยู่ ทำให้พรรคคู่แข่งทุ่มเงินซื้อเสียงตัดหน้า
ตอนนี้มันมีหลายโพล แต่เป็นโพลเทียม ทำมาเพื่อชี้นำให้คนคิดไปทางนั้น หวังไว้ทางนี้ หรือไม่ก็เพื่อสกัดดาวรุ่ง อย่างบางคนบอกในโพลนำอยู่นะ กระสุนที่ยิงออกไปก็ใช้น้อย แต่เพื่อนอีกพรรครู้ว่าโพลเทียม ก็อัดกระสุนเข้าไปให้หนักกว่า คนที่ยิงไปคนแรกก็นอนใจว่า ฉันชนะอยู่แล้ว ยิงไปแค่นิดเดียวพอ แต่อีกคนหนึ่งก็เข้ามาตีตลบหลัง
อย่างไรก็ตาม ผศ.จุมพล มองว่า แม้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มา การมีกระแสดี อาจแพ้กระสุนหนัก (เงินซื้อเสียง) แต่ปัจจุบันเชื่อว่ากระสุน (เงินซื้อเสียง) บางทีก็เจาะไม่เข้า หากบางพรรคการเมืองมีกระแสดีจริง
อีกทั้งบริบทของการเลือกตั้งรอบนี้ ก็เปลี่ยนโฉมหน้าไปมาก โดยเฉพาะการใช้สื่อประเภทต่าง ๆ ที่มีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจว่าจะเลือกใคร ในช่วงโค้งสุดท้าย และปัจจัยของคนในเมือง และนอกเมือง ที่หวั่นไหวต่อการรับสื่อไม่เท่ากัน รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิออกเสียงกว่า 10 ล้านคน
และความพยายามสร้างปรากฏการณ์ “ช้างป่วย” หรือการสร้างความเปลี่ยนแปลงจากเดิม ที่มีคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหลัก ก็อาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนกลุ่มนี้ก็ยังเป็นกลุ่มหลักที่มีสิทธิเลือกตั้ง
อีกทั้งสนามเลือกตั้งภาคใต้จากเดิมที่เคยมีเจ้าของที่แท้จริง คือ พรรคประชาธิปัตย์ กลับกลายมาเป็นไร้เจ้าของ จากผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ก็ทำให้เกิดพรรคอื่น ๆ กระโดดเข้ามาเล่นในเกมการเลือกตั้งนี้รอบนี้
สนามเลือกตั้งภาคใต้จึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะชี้ชะตารัฐบาลชุดใหม่
ติชิลา พุทธสาระพันธ์ เรียบเรียง