ฟอร์ตี้ฟายไรต์ส่งจมหมายเปิดผนึกถึงพรรคการเมืองทั้ง 67 พรรค เรียกร้องให้แสดงพันธกิจที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ผู้ลี้ภัย และผู้มีเพศหลากหลาย หยุดคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม (SLAPP) ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
ฟอร์ตี้ฟายไรต์ส่งจมหมายเปิดผนึกถึงพรรคการเมืองทั้ง 67 พรรค เรียกร้องให้แสดงพันธกิจที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของทุกคนในประเทศไทย โดยเน้นย้ำข้อกังวลเกี่ยวกับการละเมิดต่อผู้ลี้ภัย การจำกัดสิทธิในการสมรสของคู่สมรสเพศหลากหลาย และการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม (SLAPP) ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
“พรรคการเมืองไทยที่ลงแข่งขันในการเลือกตั้งครั้งนี้ ควรแสดงพันธกิจอย่างจริงใจที่จะแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว” มุกดาภา ยั่งยืนภราดร เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนประจำประเทศไทย ฟอร์ตี้ฟายไรต์ กล่าว “เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รัฐบาลจากการเลือกตั้งชุดต่อไปจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ ซึ่งรวมถึงประเด็นสิทธิของผู้ลี้ภัย สิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”
ภายหลังการประกาศ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ในวันที่ 20 มีนาคม คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ ประกาศให้ วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้งทั่วไป
“ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทยในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่จะมาถึง เราขอให้ท่านและพรรคของท่าน แสดงพันธกิจที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของทุกคนในประเทศไทย” ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าวในจดหมายเปิดผนึกถึงพรรคการเมืองไทย 67 พรรค
แม้ว่าประเทศไทยจะลงนามในกติการะหว่างประเทศหลายฉบับ ทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่ทางการไทยกลับมักละเมิดสิทธิที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสิทธิของกลุ่มผู้เปราะบาง ทั้งของผู้ลี้ภัย ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
ท้ายจดหมายเปิดผนึก ฟอร์ตี้ฟายไรต์ยังได้แนบ “เอกสารสรุป” ซึ่งครอบคลุมถึงปัญหาสิทธิมนุษยชนที่หน่วยงานได้ติดตามอย่างใกล้ชิด และยื่นข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหา อันได้แก่ 1) ปัญหาการควบคุมตัวโดยพลการ และการบังคับส่งกลับผู้ลี้ภัยที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2) สมรสไม่เท่าเทียม และการเลือกปฏิบัติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ และ 3) การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
ตามแหล่งข้อมูลของ รัฐบาลไทย ณ วันที่ 3 มีนาคม 2566 ยังคงมีผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กกว่า 23,000 คนที่หลบหนีเข้าสู่ประเทศไทย เนื่องจากตกเป็นเป้าโจมตีและความรุนแรงในเมียนมา จากเหตุรัฐประหารในเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ประชากรผู้ลี้ภัยกลุ่มใหม่จากเมียนมาเหล่านี้ ยังไม่นับรวมประชากรกลุ่มเดิมกว่า 90,000 คนที่เป็นผู้ลี้ภัยจากเมียนมา ซึ่งถูกจัดให้อยู่ในที่พักพิงชั่วคราวทั้งเก้าแห่งตามแนวพรมแดนประเทศไทย-เมียนมามาหลายทศวรรษแล้ว
แม้จะไม่ได้เป็นรัฐภาคีตามอนุสัญญาของสหประชาชาติว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 หรือพิธีสารเลือกรับ พ.ศ. 2510 ประเทศไทยยังคงมีพันธกรณีตามกฎหมายตามหลักกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และกฎหมายในประเทศที่จะต้องป้องกัน การบังคับส่งกลับ (refoulement) บุคคลใดไปยังประเทศที่พวกเขาอาจต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง การประกาศใช้กฎหมายต่อต้านการซ้อมทรมานเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ถือเป็นการนำเนื้อหาตามข้อห้ามต่อการส่งกลับมาปรับใช้ในกฎหมายไทย อย่างไรก็ดี ฟอร์ตี้ฟายไรต์ยังคงได้รับข้อมูลว่าทางการไทย บังคับส่งกลับผู้ลี้ภัย ไปยังเมียนมา
ทางการไทยควรยุติการปฏิบัติที่เป็นการควบคุมตัวผู้ลี้ภัยด้วยเหตุผลเกี่ยวกับสถานะของการเข้าเมืองเพียงอย่างเดียว และให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนตามกลไกคัดกรอง เพื่อจำแนกและให้สถานะทางกฎหมายกับผู้ลี้ภัย เพื่อป้องกันการส่งกลับ ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าวในวันนี้
ในด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ หลังการพิจารณาร่วมหลายเดือน สภาผู้แทนราษฎรของไทยได้ให้ความเห็นชอบในการพิจารณาวาระแรกต่อร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียม หรือ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ….. ตามชื่ออย่างเป็นทางการ ซึ่งเสนอให้ใช้คำว่า “คู่สมรส” แทนคำว่า “สามี” และ “ภรรยา” ในมาตรา 1448 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย
สภาผู้แทนราษฎรของไทยให้ความเห็นชอบในการพิจารณาวาระแรกต่อร่างพระราชบัญญัตินี้ ในวันที่ 15 มิถุนายน 2565 แต่ประสบความล่าช้า ไม่ได้นำร่างเข้าสู่การพิจารณาในวาระสองและตกไป หลังปิดสมัยประชุมสามัญในวันที่ 1 มีนาคม 25665
ประเทศไทยต้องเสนอร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาอีกครั้งโดยเร็ว และกำชับให้สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบต่อร่างพระราชบัญญัติสมรสเท่าเทียมในทุกวาระการพิจารณา ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังไม่สามารถคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม มักมีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาเพื่อโจมตี คุกคาม และพยายามปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ในปี 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งอนุญาตให้ศาลสามารถยกฟ้องคดีและห้ามการฟ้อง กรณีที่เป็นการฟ้องคดีโดยไม่สุจริต หรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย แต่ศาลยังคงเดินหน้า รับพิจารณาคดีฟ้องปิดปากต่อไป
ประเทศไทยควรลดการเอาผิดทางอาญากับความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยต้องเร่งประกาศใช้กฎหมายต่อต้านการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรม รวมถึงยุติการฟ้องร้องและดำเนินคดีที่มิชอบทั้งปวงต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและบุคคลอื่น ฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว
“ผลจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ จะเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย” มุกดาภา ยั่งยืนภราดรกล่าว “หลังได้รับเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลชุดหน้าควรดำเนินการโดยทันทีเพื่อแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิฯ ต่าง ๆ ที่ผ่านมา และดำเนินการตามนโยบายเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดขึ้นอีก”