หน้าแรก Voice TV กกต. ชี้แจง 4 'ข่าวเท็จ' ในโซเชียล-สื่อ เตือนคนไลก์ แชร์ รีทวีต ส่งต่อ มีความผิด

กกต. ชี้แจง 4 'ข่าวเท็จ' ในโซเชียล-สื่อ เตือนคนไลก์ แชร์ รีทวีต ส่งต่อ มีความผิด

39
0
กกต.-ชี้แจง-4-'ข่าวเท็จ'-ในโซเชียล-สื่อ-เตือนคนไลก์-แชร์-รีทวีต-ส่งต่อ-มีความผิด

กกต. ชี้แจง 4 ‘ข่าวเท็จ’ ในโซเชียล-สื่อ ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง หรือเป็นความเข้าใจผิด เตือนคนไลก์ แชร์ รีทวีต ส่งต่อ มีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมฯ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท

หลังการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พ.ค. เกิดกระแสความไม่พอใจในความผิดพลาดของ กกต.หลายประการ หลังจากนั้น กกต. ได้ชี้แจงผ่านสื่อมวลชนหลายระลอก มีอย่างน้อย 4 ประเด็นที่ กกต.ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง หรือเป็นความเข้าใจผิด ทั้งยังระบุคำเตือนด้วยว่า

“ผู้ใดแชร์ข่าวดังกล่าวด้วยวิธีการกดไลค์ กดแชร์ รีทวิต รีโพสต์ ทางยูทูป ทางติ๊กต๊อก ส่งต่อทางไลน์ไปยังกลุ่มต่างๆ หรือช่องทางสื่อสารอื่นๆ จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 มาตรา 14 จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

กรณีที่ 1 – บัตรเขย่งสงขลา

“ตามที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ ได้แถลงข่าวว่าหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้งในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียนมาใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวน 2,047 คน แต่มีผู้มาใช้สิทธิในวันดังกล่าว จำนวน 2,628 คน เกินจำนวนผู้ลงทะเบียน 581 คน นั้น ข่าวดังกล่าวเป็นความเท็จทั้งสิ้น

กกต. ขอชี้แจงว่าข่าวดังกล่าวเป็นความเท็จ เนื่องจากอำเภอหาดใหญ่ มีเขตเลือกตั้งล่วงหน้า จำนวน 3 เขต จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่มีเขตเลือกตั้งใดมีจำนวนตรงกับจำนวนตัวเลขที่เป็นข่าว และขอชี้แจงว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าทั้ง 3 เขต ไม่มีเขตใดมีผู้มาใช้สิทธิเกินจำนวนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้ง”

กรณีที่ 2 – คะแนนโผล่นนทบุรี

“กรณีนายสมภพ รัตนวลี ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวเวิร์คพอยท์ แสดงความเห็นทางแอปพลิเคชัน TikTok ว่า “คนที่เค้าไปเลือกที่จังหวัดเค้า แต่คะแนนกลับโผล่จังหวัดนนทบุรี แล้วกาจากพรรคหนึ่งกลายเป็นอีกพรรคหนึ่ง ขั้วตรงข้ามกันเลย แล้วเป็นอย่างนี้อีกหลายคน กกต. ออกมายอมรับแล้วอ้างว่าเจ้าหน้าที่ผิดพลาด” นั้น ข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จทั้งสิ้น

กกต. ขอชี้แจงว่า ในการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้งของจังหวัดนนทบุรี การกล่าวอ้างว่ามีผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิเลือกตั้งในจังหวัดหนึ่ง แต่คะแนนไปโผล่ที่จังหวัดนนทบุรี โดยมีการลงคะแนน

ให้ผู้สมัครอีกพรรคหนึ่งแต่คะแนนกลับไปปรากฏให้ผู้สมัครอีกพรรคหนึ่ง เนื่องจากยังไม่มีการนำบัตรมานับคะแนนจึงไม่อาจทราบว่าคะแนนเป็นของผู้สมัครคนใด ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวจึงเป็นความเท็จ และเหตุการณ์ดังกล่าวไม่เคยเกิดขึ้นจริงในการเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งของจังหวัดนนทบุรี ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ”

กรณีที่ 3 – เจ้าหน้าที่ไม่ได้กาบัตรเลือกตั้ง

“ตามที่ปรากฏภาพข่าวและคลิปวิดีโอเผยแพร่ทางสื่อสังคมออนไลน์ให้ประชาชนผู้ได้พบเห็นเข้าใจผิดว่าเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งได้นำบัตรเลือกตั้งมาทำเครื่องหมายกากบาทลงในบัตรเลือกตั้งตามที่มีการเผยแพร่ให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด

กกต. ขอเรียนชี้แจงว่า ภาพข่าวและคลิปวิดีโอที่นำมาเผยแพร่เป็นการลงนามหน้าปกเล่มบัตรเลือกตั้งก่อนส่งมอบให้กับ กปน. ขอยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำเครื่องหมายกากบาทลงในบัตรเลือกตั้งแทนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งสิ้น

ภาพข่าวและคลิปวิดีโอดังกล่าวเป็นการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและระเบียบที่กำหนดทุกประการ จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อในภาพที่ปรากฏและคลิปวิดีโอ ที่มีผู้ไม่หวังดีนำเสนอในสื่อสังคมออนไลน์”

กรณีที่ 4 – โต้ไอลอว์-สมาคมสื่อ

“ตามที่นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ผู้อำนวยการโครงการการรายงานผลคะแนนการเลือกตั้ง ส.ส. 2566 สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) และนายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw ผู้ร่วมรายการตอบโจทย์ ดำเนินรายการโดย นายอภิรักษ์ หาญพิชิตวณิชย์ ออกอากาศเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ได้กล่าวอ้างข้อเสียของระบบการรายงานผลของ กกต. ในประเด็นดังต่อไปนี้

  1. การตรวจเช็คคนกรอกข้อมูลจากแบบ ส.ส. 5/18 ไม่รู้ว่าเป็นใคร ชื่ออะไร
  2. การรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ กกต. จะไม่รายงานจำนวนบัตรเสียและบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน
  3. กกต.จะรายงานผลคะแนนเพียง 94%

กกต. ขอชี้แจงว่า ในการรายงานผลการนับคะแนน กปน. จะทำหน้าที่จัดทำแบบรายงานผลการนับคะแนน แบบ ส.ส. 5/18 แล้วจัดส่งให้ อนุกรรมการประจำเขตเลือกตั้ง เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องโดยบุคคลดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งจาก กกต.เขต และประกาศคำสั่งแต่งตั้งให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกัน ส่วนการรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการ กกต. จะรายงานเฉพาะคะแนนของผู้สมัครและพรรคการเมืองที่ได้รับทั้งหมด ทั้งนี้ การรายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่การแจ้งข้อมูลการเลือกตั้งให้เกิดความรวดเร็ว กกต. จึงดำเนินการให้มีการรายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

สำหรับ กรณีการส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง กปน. จะทำการตรวจสอบรายละเอียดที่ปรากฏบนซองใส่บัตรเลือกตั้งจากบัญชีผู้ลงทะเบียนและมาใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า เพื่อให้ถูกต้องตามความเป็นจริง หลังจากนั้นจึงนำส่งศูนย์ไปรษณีย์เพื่อคัดแยกและจัดส่งให้ตามเขตเลือกตั้งนั้นๆ”

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่