วันนี้ (13 พ.ค.2566) พล.ต.ท.นิธิธร จินตกานนท์ ผู้บัญชาการ ประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะโฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยการจัดการเลือกตั้ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศลต.ตร.) กล่าวว่า โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้งพรุ่งนี้ (14 พ.ค.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัส ผบ.ตร.ได้กำชับตำรวจทั่วประเทศ ให้มีมาตรการสืบสวนหาข่าว ป้องกัน ปราบปรามห้ามมิให้มีการ ซื้อเสียง–ขายเสียงเด็ดขาด
แจ้งเตือนทั้งผู้ซื้อเสียง และขายเสียง มีโทษทางอาญาทั้งจำคุก ปรับ และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสูงสุด 20 ปี โดยเฉพาะในคืนวันนี้ หรือที่เรียกว่าคืนหมาหอน ตำรวจเพิ่มความเข้มการสืบสวน ป้องกันจับกุม
พล.ต.ท.นิธิธร กล่าวว่า พบว่าตั้งแต่วันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา สามารถจับกุมจับกุมดำเนินคดี ผู้กระทำผิดฐานซื้อเสียงได้แล้ว 3 คดี ที่จ.บึงกาฬ จับกุมได้พร้อมของกลางโพยรายชื่อ และเงินสด
ส่วนอีกคดีที่ จ.พระนครศรีอยุธยา จับได้พร้อมของกลางเงินสด และอีกคดีที่ จพิจิตร จับกุมได้พร้อมของกลางเงินสดเช่นกัน อยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย
ทั้งนี้หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง แจ้งได้ที่สายด่วน 191 หรือ 1599 หรือที่สถานีตำรวจนครบาล สถานีตำรวจภูธรทุกแห่ง ตลอด 24 ชั่วโมง หรือที่สายด่วน กกต.1444
อ่านข่าวเพิ่ม เลือกตั้ง2566 : พร้อมหรือยัง! เลือกตั้ง 14 พ.ค. กับ 5 ขั้นตอนลงคะแนน – กาอย่างไรไม่ให้บัตรเสีย
อะไรเข้าข่ายโทษคดีความผิดเลือกตั้ง
โฆษก ศลต.ตร. กล่าวว่า ขอแจ้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงการกระทำที่ต้องงดเว้น ห้ามกระทำ ตามกฎหมายเลือกตั้ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ที่ประชาชนพึงหลีกเลี่ยง ซึ่งมักพบการกระทำความผิด ดังนี้
- การซื้อสิทธิขายเสียง การกระทำการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ผู้สมัคร หรือ “การซื้อขายเสียง” เข้าข่ายผิดกฎหมาย ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยผู้ซื้อเสียง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี ส่วนผู้ขายเสียง เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อลงคะแนนหรืองดเว้นไม่ลงคะแนน ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุก 1-5 ปี ปรับ 20,000–100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
- การพนันขันต่อผลการเลือกตั้ง โดยผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก 1 ถึง 5 ปี ปรับ 20,000 ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
- การจัดยานพาหนะขนคนไปเลือกตั้ง หากทำเพื่อจูงใจหรือควบคุมให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด มีความผิด มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000–200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปี
- การกระทำใด เป็นการขัดขวาง หรือหน่วงเหนี่ยว เพื่อมิให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิได้ มีความผิด ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000–100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกำหนด 10 ปี
- การรื้อ ย้าย ปลด ทำลาย หรือเก็บป้ายหาเสียง ต้องทำโดยเจ้าของ หรือผู้รับมอบอำนาจเท่านั้น ผู้อื่นจะกระทำไม่ได้ ฝ่าฝืนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มีโทษทั้งจำทั้งปรับ
ขณะที่ ศลต.ตร.ยังระบุอีกว่า สิ่งที่ห้ามทำ หลังเวลา 18.00 น.ของวันที่ 13 พ.ค.นี้ จะเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้ง
- ห้ามจำหน่าย จ่ายแจก หรือจัดเลี้ยงสุราในเขตเลือกตั้ง ซึ่งครอบคลุมทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พ.ค.นี้ จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 14 พ.ค. ผู้ที่ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ห้ามมิให้มีการโฆษณาหาเสียงให้พรรคการเมือง หรือผู้สมัคร ส.ส. ทุกรูปแบบ รวมถึงให้งดเว้นการสวมใส่เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ ฯลฯ ที่มีสัญลักษณ์โลโก้พรรคการเมือง หมายเลขพรรคการเมือง หรือผู้สมัคร (โดยเฉพาะเมื่อเข้าคูหา หรือบริเวณใกล้เคียงหน่วยเลือกตั้ง ) และให้งดเว้นการโพสต์ข้อความ อัปโหลดภาพ หรือคลิปที่มีเนื้อหาลักษณะหาเสียงเลือกตั้ง ลงบนโซเชียลมีเดีย ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 13 พ.ค. ฝ่าฝืนก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อ่านข่าวเพิ่ม เลือกตั้ง 2566: เช็กพิกัด 6,328 หน่วยเลือกตั้งกทม.ทางออนไลน์ก่อนใช้สิทธิ
ขณะเดียวกันข้อกฎหมายที่เน้นย้ำ ห้ามทำเมื่อเข้าคูหาเลือกตั้ง
- นำบัตรเลือกตั้งออกจากหน่วยเลือกตั้ง ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุก 1-5 ปี ปรับ 20,000–100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
- ถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งที่ตนเองลงคะแนนแล้ว ฝ่าฝืนมีโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- จงใจทำบัตรเลือกตั้งชำรุด เสียหาย หรือจงใจทำบัตรเสียให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
- นําบัตรที่ลงคะแนนแล้วแสดงต่อผู้อื่น เพื่อให้ทราบว่าตนได้เลือกหรือไม่เลือกผู้ใด ฝ่าฝืนมีโทษ จําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
- สวมใส่เสื้อผ้า เครื่องแต่งกายที่มีโลโก้ สัญลักษณ์ หมายเลข ของพรรคการเมือง หรือผู้สมัคร มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เลือกตั้ง2566 : ตรวจสอบสิทธิ เช็กหน่วยเลือกตั้ง เข้าคูหาลงคะแนนที่ไหน